“ไปป์ เลิกพูดตามพี่เดี๋ยวนี้นะ” น้องป๊อป วัย 9 ขวบ ขอร้อง
“ไปป์ เลิกพูดตามพี่เดี๋ยวนี้นะ” น้องไปป์ วัย 5 ขวบ ตอบ
“พี่พูดก่อน!”
“ไปป์พูดก่อน!”
ประโยคโต้ตอบทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคุณแม่ แต่เธอก็ไม่มั่นใจว่าใครจะรู้สึกรำคาญมากกว่ากัน น้องป๊อปหรือตัวเธอเอง
เกมเลียนแบบคำพูดเป็นวิธีที่พี่น้องใช้ทรมานซึ่งกันและกันมานานแล้วและไม่มีทีท่าว่าจะเสื่อมความนิยมลงง่ายๆ แต่พฤติกรรมนี้มีที่มาที่ไปมากกว่านั้น คือเมื่อถึงวัยประมาณ 5 ขวบ เด็กจะเริ่มเรียนรู้แล้วว่าตัวเองมีวิธีใช้คำพูดเพื่อให้ได้มาซึ่งปฏิกิริยาโต้ตอบที่รุนแรงจากคนอื่นๆ และรู้สึกว่าตัวเองมีอิทธิพลเหนือกว่าด้วย เขาจะยิ่งชอบใจเป็นพิเศษถ้าเป็นการพูดโต้ตอบกับพี่น้องของตัวเอง ถ้าลูกๆมีพฤติกรรมเหมือนนกแก้วนกขุนทองอย่างนี้ คุณจะรับมืออย่างไรดี
– ทำเป็นไม่สนใจ ลูกทั้ง 2 คนต้องการความสนใจจากคุณ ถ้าทำเป็นไม่สนใจทั้งพฤติกรรมและเสียงบ่น ทั้งคู่ก็จะเลิกราหรือยอมสงบศึกอย่างรวดเร็ว (บอกให้ลูกคนที่ถูกเลียนแบบทำเป็นไม่สนใจก่อนเป็นอันดับแรก ถึงจะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่เขาต้องการ แต่ก็ยังถือเป็นคำแนะนำที่ดีอยู่นั่นเอง)
– ลองทบทวนดูว่าลูกๆมักมีพฤติกรรมแบบนี้ตอนไหน เช่น มักเริ่มตอนเบื่อๆ ที่รอกินมื้อเย็นใช่หรือเปล่า ถ้าใช่ก็เตรียมหาหนังสือทายปัญหาอะไรเอ่ยแบบกวนๆไว้หลายเล่มหน่อย จะได้ใช้เล่นเกมกับคำที่สร้างสรรค์กว่าการพูดเลียนแบบกัน
– มองโลกในแง่ดี พี่น้องทะเลาะกันเป็นเรื่องที่ทุกครอบครัวคงเคยเจอ และอาจไม่ได้ทำให้เกิดผลในแง่ลบเสมอไป อย่างน้อยเด็กๆก็ได้เรียนรู้ว่าอีกฝ่ายชอบ-ไม่ชอบอะไร และได้ฝึกแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยตัวเอง
– รักษาความมีอารมณ์ขันของคุณไว้ หากคิดว่าคุณคงหัวเราะกับเรื่องนี้ได้ในภายหลังหรือเมื่อลูกๆโตกันหมดแล้ว ก็หัวเราะเสียตั้งแต่ตอนนี้เลยก็แล้วกัน
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง