ภาวะเด็กอ้วนกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติไปเสียแล้ว ผลการศึกษาจากหลายๆ สถาบันพบว่า จำนวนเด็กที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานกำลังเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน และมีแนวโน้มว่ากำลังประสบกับผลจากความอ้วนซึ่งก่อนหน้านี้เคยเกิดขึ้นเฉพาะในผู้ใหญ่ เช่น คอเลสเตอรอลสูงและเบาหวานประเภทที่สอง
ไม่มีวิธีช่วยลูกลดน้ำหนักที่ทำได้ง่ายๆ และเห็นผลเร็ว ต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และนิสัยการกินในระยะยาวซึ่งสมาชิกทุกคนในบ้านต้องร่วมมือกัน
1. ตั้งเป้าหมายที่ “เป็นไปได้”
เด็กๆ กำลังโต การรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่จึงเหมาะกว่าการลดน้ำหนัก เมื่อลูกสูงขึ้น เขาจะผอมลงเอง สำหรับเด็กที่อ้วนมากๆ อาจตั้งเป้าหมายให้เขาลดน้ำหนักสักสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัม ยิ่งเป้าหมายนั้นมีความเป็นไปได้มากเท่าไร ลูกก็จะมีกำลังใจพยายามต่อไปเรื่อยๆ มากเท่านั้น
2. ชวนลูกออกกำลังกาย
การออกกำลังกายประเภทแอโรบิก (การออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วและเลือดสูบฉีดมากขึ้น) เช่น การเดิน จ๊อกกิ้ง หรือขี่จักรยาน ล้วนเป็นวิธีเผาผลาญพลังงานที่ได้ผล วิธีส่งเสริมให้ลูกได้กระฉับกระเฉงอยู่เสมอก็ใช้ได้ เช่น ชวนเขาเดินขึ้นบันไดแทนการขึ้นลิฟต์ หรือให้เดินไปบ้านเพื่อนหรือร้านค้าในหมู่บ้านแทนการขับรถไปส่ง
3. เลือกอาหารที่มีประโยชน์
ในแต่ละวันควรให้ลูกกินอาหารหลัก 3 มื้อ และอาหารว่างอีก 2 มื้อ (แต่ละมื้อลดปริมาณให้น้อยกว่าปกติ) ดีกว่าปล่อยให้เขาหิวนานๆ ซึ่งจะทำให้เขายิ่งกินมากขึ้นในมื้อต่อไป ให้เขากินผักและผลไม้เยอะๆ ดื่มน้ำเปล่า ส้ม 1 ผลไม่เพียงแต่ให้พลังงานน้อยกว่าน้ำส้ม 1 แก้ว แต่ยังมีกากใยอาหารที่จะช่วยให้ลูกรู้สึกอิ่มและพอใจมากกว่าด้วย ให้เขากินแต่อาหารไขมันต่ำ เช่น นมพร่องมันเนย โยเกิร์ตหรือชีสไขมันต่ำ และข้าวโพดคั่วแทนมันฝรั่งอบกรอบ เค้ก และคุกกี้
4. เปลี่ยนนิสัยการกินของครอบครัว
ให้ลูกกินเฉพาะตอนที่เขารู้สึกหิว และให้กินเฉพาะในห้องครัวหรือห้องกินข้าวโดยไม่ให้มีสิ่งรบกวนอย่างทีวี ถ้าให้ลูกกินขณะดูทีวี เขาอาจไม่รู้ตัวว่ากินไปแค่ไหนแล้ว และลงเอยด้วยการกินเกินพอดีในที่สุด
5. ลองใช้เทคนิคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
การให้รางวัลอาจเป็นแรงจูงใจให้ลูกอยากลดน้ำหนักต่อไป ถ้าลูกดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำอัดลมได้ตลอดทั้งสัปดาห์ ก็ให้รางวัลเขาเป็นกิจกรรมที่ชอบทำหรือของเล่นชิ้นเล็กๆ แต่อย่าให้รางวัลเป็นของกินเด็ดขาด!
6. ติดตามผลร่วมกับคุณหมอ
พาลูกไปพบคุณหมอทุกๆ 2 สัปดาห์เพื่อเช็คน้ำหนักและตรวจเลือด (ในกรณีที่จำเป็น) อย่าชั่งน้ำหนักที่บ้านกันทุกวันเพราะน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยอาจทำให้ลูกยิ่งเครียด
7. กำลังใจคือสิ่งสำคัญ
สมาชิกทุกคนในครอบครัวต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนนิสัยการกินเพื่อช่วยลูก โดยไม่ซื้ออาหารขยะมาตุนไว้ในบ้าน เตรียมผักและผลไม้ให้พร้อมหยิบหม่ำเป็นอาหารว่างได้ทันที ทำแต่อาหารที่มีประโยชน์และไขมันต่ำและคอยเป็นกำลังใจให้ลูกเสมอ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง