เจ้าของเรื่อง : เด็กหญิงภัทรานิษฐ์ พุ่มนิล, คุณพ่อเอนก พุ่มนิล
น้องแต๊งค์ต้องฉีดยาวันละ 4 เข็ม หนึ่งปีเท่ากับฉีด 1,460 เข็ม ลมหายใจของน้องขึ้นอยู่กับเข็มฉีดยาพวกนี้ จึงเป็นที่มาของวลี “ลมหายใจที่ปลายเข็ม”
คุณพ่อคุณแม่ทุกคนคงรู้จักโรคเบาหวาน ในครอบครัวส่วนใหญ่มักจะมีญาติผู้ใหญ่หรือคนใกล้ชิดป่วยด้วยโรคนี้อยู่บ้าง แต่รู้หรือไม่ว่าโรคเบาหวานไม่เพียงเป็นโรคยอดฮิตของผู้สูงอายุเท่านั้น ยังมีโอกาสเกิดกับเด็กที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงด้วย ในบทความนี้ทีมงาน AMARIN Baby & Kids มีแง่มุมของโรคเบาหวานในเด็กมาฝากกันค่ะ
เด็กหญิงภัทรานิษฐ์ พุ่มนิล หรือน้องแต๊งค์กิ้ว อายุ 9 ขวบ เด็กหญิงผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานมาปีกว่า คุณพ่อบอกว่าน้องแต๊งค์กิ้วมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการฉีดอินซูลินวันละ 4 เข็ม และควบคุมอาหารอย่างเข้มงวด แต่น้องแต๊งค์ยังคงความสดใสของวัยเด็ก และมีกำลังใจในการดำเนินชีวิตเต็มเปี่ยม
“โรคเบาหวานมี 2 ชนิดครับ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นชนิดที่ 2 ส่วนเด็กมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 อันเนื่องจากตับอ่อนหยุดผลิตอินซูลินถาวร เมื่อไม่มีอินซูลิน น้ำตาลที่บริโภคเข้าไปจะไม่ถูกนำไปย่อยเป็นพลังงาน ทำให้เกิดการสะสมในปริมาณสูง ขณะเดียวกันเซลล์ที่ต้องการย่อยน้ำตาลก็จะเปลี่ยนไปย่อยไขมันแทน ซึ่งผลที่ได้จากการย่อยไขมันคือคีโตนที่ทำให้เลือดมีสภาวะเป็นกรด ร่างกายจึงต้องเอาน้ำไปขับกรดออกจากเลือด เด็กที่ป่วยโรคนี้จึงได้มีสภาวะขาดน้ำครับ” คุณพ่อเอนก พุ่มนิล ผู้มีลูกสาวป่วยด้วยโรคเบาหวานตั้งแต่อายุได้เพียง 8 ขวบเริ่มต้นบอกเล่าสาเหตุของโรคเบาหวานให้เราฟัง
“อาการแรกเริ่มของน้องแต๊งค์คือน้ำหนักลด แขนเล็กลงมาก เราก็นึกว่าลูกยืดตัว วันที่แต๊งค์อาการหนักคือวันอาทิตย์ที่ 6 กรกฎาคมปี พ.ศ. 2557 เช้านั้นครอบครัวเราไปใส่บาตรกันตามปกติ แต่พอกลับมาที่บ้านน้องนอนไม่มีแรงและหายใจหอบแรงมาก ตอนเที่ยงเลยตัดสินใจพาน้องแต๊งค์ไปหาหมอที่โรงพยาบาลศิริราช แต่เพราะเป็นวันอาทิตย์ซึ่งไม่ค่อยมีหมอเฉพาะทางอยู่ก็เลยตรวจหาสาเหตุไม่เจอ
ระหว่างนั้นน้องแต๊งค์ก็อาการทรุด ชีพจรแผ่วลงเรื่อยๆ จนกระทั่งคุณหมอท่านหนึ่งซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านโรคเบาหวานในเด็กแวะมาเอาของที่โรงพยาบาลพอดี นางพยาบาลจึงขอให้คุณหมอช่วยดูอาการให้ กว่าจะรู้ว่าน้องแต๊งค์เป็นโรคเบาหวานก็ตอน 5 โมงเย็น ตอนนั้นน้องอยู่ในสภาพขาดน้ำอย่างรุนแรง คุณหมอจึงส่งน้องเข้าห้องฉุกเฉิน น้องแต๊งค์ต้องใช้น้ำเกลือถึง 8 ขวดเพื่อกำจัดความเป็นกรดออกจากกระแสเลือด จากนั้นคุณหมอถึงจะให้อินซูลินเข้าไปรักษาเพื่อลดระดับน้ำตาลให้ต่ำลงได้ ซึ่งน้ำตาลตอนที่น้องแต๊งค์เจาะครั้งแรกสูงกว่าคนปกติถึง 6 เท่า อาการในตอนนั้นถือว่าอันตรายมากครับ”
หลังจากนั้นน้องแต๊งค์กิ้วก็ได้รับการรักษาตามคำแนะนำของคุณหมอ ด้วยการฉีดอินซูลินเข้ากระแสเลือดวันละ 4 เข็ม ยังไม่นับเข็มที่ต้องใช้เจาะเลือดทุกครั้งเพื่อคำนวณปริมาณยาและอาหารให้เหมาะสมกับการทำงานของร่างกาย การรักษาโรคเบาหวานจึงต้องมีวินัยอย่างมากและต้องทนเจ็บตัวไม่น้อยเลย