ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน – ปัจจุบันมีโรคภัยไข้เจ็บในเด็กมากมายที่ทำให้พ่อแม่หลายคนต้องเป็นกังวล หากเลือกได้ก็ไม่อยากให้ลูกต้องทนทุกข์กับการเจ็บป่วย หรือเป็นไปได้หัวอกคนเป็นพ่อแม่ก็อยากจะป่วยแทนลูกๆ จริงมั้ยคะ
ยุคนี้นอกจากโรคระบาดอย่าง โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อสุขภาพ และความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก ตลอดจนโรคตามฤดูกาลต่างๆ ที่พ่อแม่ต้องคอยเฝ้าระวังกันอย่างเต็มที่แล้ว ยังมีโรคที่เราไม่คาดคิด ที่สามารถเกิดขึ้นกับเด็กๆ ได้ แม้พ่อแม่อย่างเราๆ จะระมัดระวังเพียงใดแล้วก็ตาม วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ “โรคไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน ” (Acute Transverse Myelitis) หรือเรียกย่อๆ ว่า ATM กันค่ะ
ลูกแขนขาอ่อนแรงอย่ามองข้าม! อาจป่วย ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน
โรค ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน และสาเหตุของโรค
โรคไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน (ATM) คือ การอักเสบของเส้นประสาทไขสันหลัง โดยความผิดปกติทางระบบประสาทมักสร้างความเสียหายให้กับปลอกหุ้มเส้นใยเซลล์ประสาทบริเวณไขสันหลังที่เรียกว่า ไมอีลิน โดยในทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดถึงสาเหตุของโรคที่เกิดขึ้นกับเด็ก แต่มีข้อสันนิษฐานว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัส และ การติดเชื้อแบคทีเรีย ต่างๆ นอกจากนี้ยังเกิดขึ้นได้เพราะระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ จนไปทำลายไขสันหลัง และบางครั้งโรคนี้อาจเกิดขึ้นโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้าไม่สามารถคาดเดาได้
ไวรัสที่อาจก่อให้เกิดโรค ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน
- ไวรัสเริม (Herpes virus) รวมทั้งไวรัสที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด และอีสุกอีใส
- ไซโตเมกาโล (Cytomegalo virus)
- เอ็บสไตบาร์ (Epstein–Barr virus)
- เอชไอวี (HIV)
- เอนเทอโร (Enteroviruses) เช่น poliovirus และ coxsackievirus
- เวสต์ไนล์ (West Nile Virus)
- เอคโค (Echo Virus)
- ซิกา (Zika virus)
- ไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus)
- ไวรัสตับอักเสบบี (HBV)
- คางทูม (Mumps virus)
- หัด และหัดเยอรมัน (Rubella virus)
เชื้อแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดโรคไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน
- โรคไลม์ (Lyme disease)
- ซิฟิลิส (Syphilis)
- วัณโรค (Tuberculosis)
- โรคแอคติโนมัยโคสิส (Actinomyces)
- ไอกรน (B. pertussis)
- บาดทะยัก (Tetanus)
- คอตีบ (Diphtheria)
อาการของโรคไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน
อาการของโรคไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ขึ้นอยู่กับว่ากระดูกสันหลังส่วนใดเกิดการอักเสบบวมขึ้น หากการอักเสบบวมอยู่บริเวณหลังส่วนล่างเด็กอาจมีอาการปวดหลังนำ ขาอ่อนแรง มีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ และกระเพาะปัสสาวะ ไม่สามารถขับถ่ายได้ตามปกติ หากการอักเสบบวมอยู่ในบริเวณที่สูงขึ้น เช่น คอ อาจส่งผลให้เกิดอาการอ่อนแรงได้ทั้งแขนและขา อาจมีอาการชาแขนขา หรือบางรายมีอาการกล้ามเนื้อปวดเกร็งคล้ายเป็นตะคริว ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ปวดคอ ร่วมด้วย และในกรณีที่รุนแรง อาจส่งผลกระทบต่อระบบการหายใจ
สาเหตุที่พบไม่บ่อยอีกประการหนึ่ง คือ เกิดอาการหลอดเลือดสมองตีบ เนื่องจากการไหลเวียนโลหิตบกพร่อง ซึ่งอาจเกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดที่ส่งเลือดไปยังไขสันหลัง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัดหลอดเลือดแดงใหญ่ หรือการแข็งตัวของเลือดเพิ่มขึ้น สิ่งสำคัญคือต้องได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมโดยทันที
ลูกฉี่น้อย เป็นๆ หายๆ เสี่ยง มะเร็งไตในเด็ก โรคที่เกิดได้จากพันธุกรรม
เด็ก!! เสี่ยงติดโรคที่ไม่ได้เกิดจากแค่สุนัข
เลี้ยงแมวระวัง! เด็กเล็กทารกติด เชื้อราแมว อันตรายใกล้ลูก
การวินิจฉัยโรคไขข้ออักเสบเฉียบพลัน
- ตรวจ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูตำแหน่งรอยโรค และเพื่อหาสาเหตุอื่นๆ ที่อาจแสดงอาการคล้ายคลึงกัน เช่น การมีก้อนมากดทับไขสันหลัง
- การตรวจน้ำไขสันหลังเพื่อดูการ อักเสบ และส่งตรวจเพื่อหาเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของไขสันหลังอักเสบ
- การตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ ซึ่งจะบอกสาเหตุที่แน่ชัดและช่วยวางแผนการรักษาในระยะยาว
การรักษาโรคไขข้ออักเสบเฉียบพลัน
รักษาที่ต้นเหตุ หากสามารถระบุได้ หากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสจำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันอย่างกะทันหัน หรือเกิดจากภูมิต้านทานตนเอง อาจจำเป็นต้องให้สเตียรอยด์ขนาดสูงฉีดเข้าเส้นเลือดเพื่อลดการอักเสบ หากอาการไม่ดีขึ้นหลังการรักษาด้วยสเตียรอยด์ อาจต้องทำการเปลี่ยนถ่ายพลาสมา การรักษาระยะยาวขึ้นอยู่กับผลการตรวจเลือดหรือน้ำไขสันหลัง หากพบความผิดปกติของภูมิคุ้มกันผู้ป่วยมีโอกาสเกิดโรคซ้ำได้สูง ซึ่งในกลุ่มนี้ต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันในช่องปากเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2-3 ปี
นอกจากนี้ จำเป็นต้องมีการตรวจอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยากดภูมิคุ้มกันที่ให้ผู้ป่วยอาจมีผลข้างเคียงที่รุนแรงอื่นๆ ได้ เช่น กระดูกพรุน เกิดการติดเชื้อ หรือตับอักเสบ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกาย โดยฝึกการเคลื่อนไหวของลำไส้ตามที่แพทย์แนะนำ ระมัดระวังไม่ให้ท้องผูก ทานยาเป็นประจำ ไม่ควรหยุดยาเอง และควรไปพบแพทย์ทันทีถ้าลูกของคุณมีอาการแขนขาอ่อนแรงเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้เด็กส่วนใหญ่ที่ป่วยไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน สามารถฟื้นตัวได้อย่างสมบูรณ์หรือเกือบสมบูรณ์ และโดยทั่วไปแล้วโรคไขสันหลังอักเสบเฉียบพลันมักจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวและเกิดขึ้นที่ไขสันหลังเท่านั้น
แม้ ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน จะเป็นโรคที่ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นกับลูกของเราได้เมื่อไหร่ อย่างไรก็ตามเราสามารถป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ที่นำไปสู่การเกิดโรคได้ เช่น การรักษาความสะอาด สุขอนามัยต่างๆ ของลูก เพื่อให้ลูกห่างไกลจากเชื้อไวรัส และแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดโรค ปลูกฝังให้ลูกรู้จักการใส่หน้ากากอนามัยใเมื่อออกนอกบ้าน สอนเรื่องประโยชน์ของการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ และการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย นอกจากลูกจะเข้าใจในความสำคัญของการมีสุขภาพที่ดีแล้วยังเป็นการช่วยเสริมสร้างทักษะความฉลาดที่รอบด้านด้วย Power BQ ในด้าน ความฉลาดต่อการมีสุขภาพที่ดี HQ ให้ลูกๆ ได้อีกทางหนึ่งด้วยค่ะ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : msdmanuals.com , gosh.nhs.uk , mayoclinic.org
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ลูกติดโซเชียลหนัก ระวังป่วย โรค Tic Tok ชอบพูดซ้ำๆ กล้ามเนื้อกระตุกเอง!
ทำความเข้าใจ โรคกลัวสังคมในเด็ก (Social Anxiety) รู้เร็ว รักษาได้!
10 ปัญหา โรคตาเด็ก ที่พบได้บ่อย พร้อมวิธีรักษา
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่