มีคุณพ่อคุณแม่บางท่าน มักจะมีความเข้าใจผิดว่า ลูกมีความเสี่ยงที่จะถูกลักพาตัวในสถานที่แปลกถิ่น และระหว่างที่เด็กถูกลักพาตัว แก๊งลักพาตัวคงจะต้องมีการฉุกกระชากลากถูกเด็กขึ้นรถตู้แน่ๆ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่อย่างนั้น จากข้อมูลของมูลนิธิกระจกเงา พบว่าปัญหาเด็กหาย มักจะอยู่ในลักษณะดังต่อไปนี้
- จุดที่พบว่าเด็กถูกลักพาตัวมากที่สุด ก็คือ หน้าบ้าน และหน้าโรงเรียน เพราะพ่อแม่จะรู้สึกสถานที่เหล่านี้เป็นที่ปลอดภัย จนชะล่าใจ
- การลักพาตัวเด็กส่วนใหญ่จะไม่มีการฉุกกระชากลากถูก หรือทำร้ายเด็ก แต่คนร้ายมักจะใช้วิธีการหลอกล่อเด็กด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การให้ขนม ชวนไปซื้อขนม ชวนไปซื้อของเล่น อ้างว่าพ่อแม่ให้มารับ แกล้งถามทางแล้วให้เด็กพาไป
- บางรายนี่จะมาร่วมเล่นกับเด็กอยู่บ่อยๆ เพื่อตีสนิทให้เด็กวางใจ ก่อนลงมือลักพาตัว
⇒ Must read : ลูกถูกลักพาตัวในที่ทำงาน พ่อแม่ควรระวังสถานที่คุ้นเคย และคนใกล้ตัว
เห็นไหมว่าการลักพาตัว เด็กมักจะถูกลักพาไปแบบเนียนๆ ไม่มีเสียงร้อง ไม่มีการต่อสู้ ไม่มีพฤติกรรมพิรุธใดๆ ซึ่งอันตรายมากๆ แล้วคุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีการอย่างไรที่ดีที่สุด ในการป้องกันไม่ให้ลูกของเราถูกลักพาตัว
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เมื่อลูกต้องพบเจอกับคนแปลกหน้า สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรสอนเด็ก คือ การแยกแยะระหว่างคนแปลกหน้าและคนคุ้นเคย เนื่องจากเมื่อเด็กโตขึ้น ต้องพบเจอกับคนแปลกหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้นการสอนให้เด็กรู้เท่าทันคน เลือกที่จะไว้ใจ รู้จักสังเกตคนและรู้จักปฏิเสธจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในปัจจุบัน เพราะจะช่วยให้เด็กเอาตัวรอดจากสถานการณ์ที่ยากลำบากได้
ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรสอนให้ลูกรู้เท่าทันคนแปลกหน้า และให้เด็กปฏิเสธคนแปลกหน้าให้เป็น เพื่อป้องกันปัญหาเด็กหายหรือการลักพาตัว โดยเริ่มสอนตั้งแต่ลูกเริ่มรู้ความ หรืออายุประมาณ 4 – 5 ขวบ เพราะเป็นช่วงกำลังซนและอยากรู้อยากเห็น หากเขาไปอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญหน้ากับคนแปลกหน้าที่มุ่งจะเข้ามาคุกคาม เด็กจะได้มีวิธีการรับมืออย่างถูกต้องเหมาะสม
วิธีการสอนให้ลูกรู้จักปฏิเสธคนแปลกหน้า
- อย่าปล่อยลูกอยู่เพียงลำพัง การปล่อยให้เด็กอยู่คนเดียว เป็นความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดกรณีเด็กหายหรือการลักพาตัวได้ง่าย เนื่องจากเด็กยังรู้ไม่เท่าทันคนแปลกหน้า อาจโดนหลอกล่อได้ง่าย ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรจูงมือลูกไว้ใกล้ตัวเสมอ หากเป็นเด็กเล็กมากจะใช้สายจูง หรืออุปกรณ์ติดตามอื่น ๆ เพื่อความปลอดภัยก็ได้เช่นกัน
- สอนลูกเรื่องการแยกแยะคนแปลกหน้า คนแปลกหน้าที่มุ่งร้ายต่อเด็ก ไม่จำเป็นต้องแต่งตัวมอซอหรือมีท่าทีไม่น่าไว้วางใจเท่านั้น ส่วนใหญ่กรณีที่เกิดเด็กหายมักมาจากผู้ใหญ่แต่งตัวดี สะอาดสะอ้าน และท่าทางใจดี คุณพ่อคุณแม่ควรแนะนำลูกว่า หากมีผู้ใหญ่ท่าทางใจดีมาพูดคุย มาขออุ้ม หรือให้ขนม ให้ตอบปฏิเสธแล้วรีบเดินมาหาพ่อกับแม่ หรือหาคนที่คุ้นเคย
- สอนถึงคนที่ลูกจะไว้ใจได้ ทุกครั้งที่ออกจากบ้าน คุณพ่อคุณแม่อาจชี้ชวนให้ลูกดูว่าบุคคลใดที่ไว้ใจได้ เมื่อลูกเกิดพลัดหลงหรืออยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก ให้วิ่งไปขอความช่วยเหลือจากบุคคลเหล่านี้ได้ อาทิ ตำรวจ รปภ. พนักงานขายสินค้า คุณครู เป็นต้น
- สอนเรื่องการขอความช่วยเหลือ เมื่อเด็กอยู่ในสถานการณ์อึดอัด ลำบากใจ หรือไม่สบายใจ โดยที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ตรงนั้นด้วย (อาทิ กรณีไปโรงเรียน) ให้เด็กขอความช่วยเหลือด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ร้อง หรือตะโกนว่าช่วยด้วย
- สอนให้ลูกรู้จักปฏิเสธอย่างเข้มแข็ง คุณพ่อคุณแม่ควรแนะนำให้ลูกรู้จักปฏิเสธคนแปลกหน้าอย่างเข้มแข็งและเด็ดขาด ย้ำว่าไม่ควรรับของ รับขนม รับเงิน หรือเดินตามคนแปลกหน้าไม่ว่ากรณีใด หากคนแปลกหน้าบอกว่าพ่อแม่ให้มารับ หรือจะพาไปหาพ่อแม่ ให้ยืนยันกับคนแปลกหน้าว่าจะรอพ่อแม่อยู่ที่เดิม ไม่ไปไหน
- ให้ลูกเก็บชื่อ เบอร์โทรศัพท์ และที่อยู่ผู้ปกครองติดตัวไว้ การเก็บชื่อ เบอร์โทรศัพท์ และที่อยู่ผู้ปกครองติดตัวเด็กไว้ จะช่วยให้พลเมืองดีติดต่อผู้ปกครองเพื่อมารับตัวเด็กได้ง่ายขึ้น โดยก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง พ่อแม่ควรย้ำกับลูกว่าเก็บกระดาษจดรายละเอียดเหล่านี้ไว้ตรงไหน เมื่อลูกอยู่ในสถานการณ์คับขัน หรือพลัดหลงกับพ่อแม่ ให้นำกระดาษแผ่นนี้ออกมาขอความช่วยเหลือ
- เล่นบทบาทสมมุติเสริมประสบการณ์ คุณพ่อคุณแม่สามารถจำลองสถานการณ์ที่ลูกต้องเผชิญกับคนแปลกหน้าที่ต้องการหลอกล่อเขา เพื่อให้เขาคิดตาม และหาวิธีการแก้ปัญหา หรือพ่อแม่ลูกจะมาร่วมกันคิดหาวิธีการเอาตัวรอดจากสถานการณ์น่าอึดอัดอย่างปลอดภัยร่วมกันก็ได้ เมื่อเด็กเกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย เขาก็จะสามารถเลือกวิธีการแก้ปัญหาที่ยืดหยุ่นขึ้น
⇒ Must read : จะเป็นอย่างไร!? เมื่อ‘ตั๊ก-บริบูรณ์’ ปล่อย ลูกหลงทาง เพื่อเป็นบทเรียน (มีคลิป)
♦ ข้อที่พ่อแม่ควรรู้!
- หากลูกหรือเด็กในครอบครัวถูกลักพาตัวหรือหายตัวไปแบบผิดปกติ สามารถแจ้งความได้ทันที ไม่ต้องรอให้ครบ 24 ชั่วโมง
- ติดต่อศูนย์ข้อมูลคนหายได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา โทร 080-7752673 หรือที่เพจ @Thaimissing หรือที่เว็บไซต์ www.backtohome.org
การสอนและปลูกฝังเรื่องการระวังภัยจากคนแปลกหน้าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็ก แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรกดดันหรือสอนอย่างเข้มงวดจริงจังเกินไป เพราะเด็กจะรู้สึกเครียดและวิตกกังวล จนอาจกลัวการเข้าสังคมได้ การหากิจกรรมสนุก ๆ หรือค่อย ๆ สอดแทรกไปในกิจวัตรประจำวันจะช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย ไม่ต่อต้าน และรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พึงกระทำ เพื่อความปลอดภัยของตนเอง
อ่านต่อ”บทความน่าสนใจ” คลิก!
- 6 พื้นที่เสี่ยงถูกลักพาตัว และ 5 ไม่ ป้องกันการลักพาตัว
- เผยพื้นที่เสี่ยงภัย 217 จุดในกทม. พ่อแม่รีบเช็คด่วน! บริเวณไม่ปลอดภัยกับลูกและตัวเอง
- ข่มขืน ภัยมืดของสังคม กับความเสี่ยงทั้งแม่ลูก
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :www.trueplookpanya.com