เลี้ยงลูกชายพอถึงวัยเริ่มรุ่นก็มีเรื่องแบบผู้ชายๆ ให้ห่วงไม่อยากให้เขาเข้าไปข้องแวะพัวพันกับสิ่งยั่วยุทั้งหลาย ยาเสพติด ความรุนแรง หรือเรื่องเพศ แต่โดยส่วนใหญ่ อุปสรรคของการเข้าถึงลูกชายวัยกำลังรุ่นที่ต่างจากลูกสาวอย่างชัดเจนคือ เมื่อเขามีเรื่องสับสนว้าวุ่นแต่กลับไม่พูดหรือพูดน้อยลงโดยเฉพาะกับพ่อแม่
นักจิตวิทยาสหรัฐฯ อธิบายว่า “หากเด็กผู้ชายวัยรุ่นรู้สึกได้เป็นตัวของตัวเองมากเท่าไหร่ พวกเขาจะไม่เครียด ไม่กดดัน และมีพลังมากพอจะต่อสู้กับสิ่งยั่วยุภายนอกต่างๆ ได้มากขึ้นเท่านั้น รวมทั้งจะเปิดใจแบ่งปันเรื่องราวของเขามากขึ้นด้วย”
พ่อแม่จะทำอะไรได้บ้าง เพื่อช่วยเพิ่มความเป็นตัวของตัวเองให้ลูกชายเปิดใจได้ ผู้เชี่ยวชาญมีข้อเสนอแนะมาฝากค่ะ
ปล่อยให้ลูกแสดงอารมณ์บ้าง
คำสอนจากรุ่นสู่รุ่น “เวลาเลี้ยงลูกชายต้องเลี้ยงให้เข้มแข็ง ไม่ร้องไห้ ไม่แสดงอารมณ์” แต่สำหรับยุคนี้ การสอนให้เด็กรู้จักอารมณ์ และเท่าทันอารมณ์ของตัวเอง เป็นเครื่องมือจำเป็นเมื่อต้องเผชิญปัญหา นอกจากนี้การยอมรับความสามารถของหญิง-ชายในยคุนี้ก็เปลี่ยนไป ผู้หญิงเองก็เข้มแข็งพอที่จะยืนเคียงข้างและคอยช่วยเหลือผู้ชายได้เช่นกัน
ดังนั้น ถ้าลูกชายเจอเหตุการณ์แย่ๆ แล้วร้องไห้ แสดงความเสียใจ หรือแสดงอารมณ์อ่อนไหวออกมา คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรดุว่าหรือห้ามไม่ให้ลูกร้องไห้ ด้วยเหตุผลที่ว่า “ไม่เป็นลูกผู้ชายเลย” แต่ควรรับฟังและทำความเข้าใจอารมณ์ของลูก และชี้ให้เห็นถึงปัญหา เพื่อหาทางแก้ไขร่วมกัน
ลูกชายก็อยากทำกิจกรรมกับพ่อแม่
โดยเฉพาะเมื่อย่างเข้าวัยรุ่น พอเป็นลูกชาย บางทีพ่อแม่มักไม่ค่อยทำกิจกรรมสนิทสนมใกล้ชิดเหมือนลูกสาว จึงกลายเป็นว่าลูกชายมักติดเพื่อนแทน
ผู้เชี่ยวชาญย้ำว่าอย่าปล่อยให้สายป่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้หลุดลอยเป็นอันขาด หากิจกรรมที่ลูกชายสนใจและคุณทำร่วมกับเขาได้ เช่น วาดรูป ตกปลา หรือว่าพาสุนัขไปเดินเล่น ฯลฯ “ช่วงเวลาระหว่างทำกิจกรรมนี่แหละ เป็นช่วงที่ลูกของคุณจะแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมาได้มากที่สุด การซักถาม พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดในตอนที่เขาสบายใจที่สุดนี้ จะทำให้คุณเข้าใจลูกได้มากขึ้น เมื่อลูกรู้สึกว่าพ่อแม่เข้าใจเขามากขึ้น การเปิดใจย่อมง่ายกว่าปกติ
ดังนั้น ถ้าสังเกตว่าลูกชายดูไม่สบายใจ ลองทำกิจกรรมทำร่วมกัน แล้วค่อยๆ ตะล่อมถามระหว่างทำกิจกรรม ก็จะเข้าใจกันได้มากขึ้น
เว้นระยะกันบ้าง
เด็กผู้ชายวัยนี้มักมีเรื่องที่สับสน ทำให้เกิดความรู้สึกในทางลบได้มากมายแต่กลับไม่ค่อยบอกกล่าวเล่าความให้ใครๆ ได้รู้ โดยเฉพาะพ่อแม่ เพราะกลัวว่าพ่อแม่จะไม่เข้าใจ แต่สิ่งที่แม่มักทำเสมอคือตั้งกระทู้สดถามได้ไม่หยุดเมื่อเห็นอาการแปลกๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ ลูกชายก็ยิ่งไม่บอก ดังนั้นถึงคุณอยากให้ลูกมาบอกเล่ามากแค่ไหน ก็ควรเริ่มจากเข้าใจความรู้สึกของลูกก่อน และคำแนะนำง่ายๆ คือให้เวลาลูกได้อยู่กับตัวเองและได้คิดบ้าง ให้เขาได้พักเงียบๆ โดยคุณไม่ไปรบกวน เมื่อลูกพร้อมเขาจะเข้ามาหาคุณเอง หรือเมื่อเขาสงบลง อารมณ์เป็นปกติ คุณค่อยเริ่มชวนคุยก็ยังไม่สาย
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียล พาเรนติ้ง