ลูกคลั่งไคล้แบรนด์เนมตามเพื่อน

Alternative Textaccount_circle
event

 

 
จอนนี่ คาสโตร ศาสตราจารย์ด้านพัฒนาการเด็กจากวิทยาลัยโบรคแฮมเวนในดัลลัส อธิบายว่า เด็กๆ สามารถจดจำยี่ห้อต่างๆ ได้ตั้งแต่ตอน 3 ขวบ แต่กว่าพวกเขาจะเริ่มมองเห็นความสำคัญหรือความหมายในเชิงคุณค่าของมันก็ในช่วงวัยเรียน บางครั้ง “แบรนด์” หรือเสื้อผ้าหรูๆ ก็ทำให้คนที่สวมใส่โดดเด่นออกมาจากกลุ่ม (ส่วนหนึ่งมาจากคำชมของผู้ใหญ่กับข้อมูลจากสื่อต่างๆ) ตอนนี้เด็กๆ แสวงหาความแตกต่าง จึงไม่แปลกที่ลูกจะมองเพื่อนสาวติดแบรนด์กับเสื้อผ้ามียี่ห้อด้วยดวงตาเป็นประกาย แต่เราก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องตามใจซื้อให้แกทุกครั้ง อย่างนี้คงต้องหา

 
วิธีคุยให้เหมาะ

 
อธิบายความแตกต่างของ “ความจำเป็น” กับ “ความต้องการ” เช่น รองเท้านักเรียน เป็น “ของจำเป็น” แต่รองเท้าแคชชูส์หนังแก้วปักเลื่อมไม่ใช่ ถ้าเมื่อก่อนคุณเคยต้องอธิบายกับลูกว่า ของเล่นเป็นของฟุ่มเฟือย ซื้อบ่อยๆ ไม่ได้เพราะอะไร ตอนนี้ก็คงต้องมานั่งคุยกันว่า ทำไมเสื้อผ้าแพงๆ ถึงไม่ใช่ “สิ่งจำเป็น” ด้วยเช่นกัน

 
เปิดอกเรื่องงบประมาณ อธิบายกับลูกว่า งบประมาณและรายรับของครอบครัวมีจำกัด ต้องเก็บไว้ใช้ในเรื่องอื่นที่จำเป็นมากกว่า เช่น ผ่อนบ้าน (จะได้มีที่ไว้ให้หนูนอน) ซื้อรถ (จะได้เอาไว้ส่งลูกไปโรงเรียน) หรือเก็บไว้สำหรับการท่องเที่ยวตอนปิดเทอม ฯลฯ สิ่งที่จำเป็นเหล่านั้นควรครอบคลุมถึงทุกคนในครอบครัวมากกว่าแค่ “พ่อแม่ยังต้องเอาเงินไปใช้อย่างอื่นอีกนะ!”

 
เปลี่ยนคำขอเป็นข้อตกลง กรณีที่คุณมีงบเหลือ แต่ไม่อยากให้ลูกฟุ่มเฟือย ลองเปลี่ยนคำขอให้เป็นข้อตกลง เช่น “เสื้อตัวนั้นแพงมาก หนูต้องช่วยทำงานเก็บเงินซื้อด้วย” เด็กๆ อาจทำงานพิเศษในบ้านแล้วเก็บเงินนั้นมาออกเป็นค่าเสื้อหนึ่งในสามส่วน นอกจากคุณจะเลื่อนระยะเวลาการจ่ายเงินออกไปได้แล้ว ยังสอนให้ลูกรู้จักค่าของเงินมากขึ้นด้วย

 
มองกลับมาที่ตัวเอง ถ้าหากคุณแม่ยังเผลอทำน้ำลายหกใส่กระเป๋าแบรนด์เนมที่คนอื่นหิ้วเดินผ่านหน้า คราวหลังก็ต้องระวังเก็บอาการเอาไว้บ้างแล้วละ

 

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up