ภัยจากโซเชียลมีเดีย

นักจิตวิทยาเด็กแนะเทคนิค! เลี้ยงลูกให้ห่างไกล ภัยจากโซเชียลมีเดีย

event
ภัยจากโซเชียลมีเดีย
ภัยจากโซเชียลมีเดีย

ภัยจากโซเชียลมีเดีย

ภัยจากโซเชียลมีเดีย พ่อแม่ควรระวังอะไร เมื่อลูกเข้าโซเชียลมีเดีย

​เรื่องที่พ่อแม่ส่วนใหญ่เป็นห่วงไม่พ้นเรื่องเพศและความรุนแรง ได้แก่ เว็บโป๊ นวนิยายลามก ภาพอุจาดอนาจาร ภาพที่สื่อถึงความรุนแรงใดๆ ไปจนถึงเกมที่รุนแรง เป็นต้น เหล่านี้คือเนื้อหา

ที่จริงแล้ว เนื้อหามิใช่เรื่องควรกังวลมากจนเกินไปหากเราได้อบรมสั่งสอนไปจนถึงฝึกให้เด็กๆรู้จักกำกับเวลา กล่าวคือในแต่ละวันซึ่งมี 24 ชั่วโมง เราควรแบ่งเวลาทำอะไรมากน้อยเท่าไร การหมกมุ่นกับสิ่งใดมากเกินไปย่อมทำให้หมดเวลาไปกับการปฏิบัติภารกิจหลักทั้งนั้น เช่น รักกีฬา แต่ใช้เวลาเล่นกีฬามากเกินไปจนกระทั่งไม่ทำการบ้าน หรือรักการอ่านการ์ตูน แต่ใช้เวลาอ่านการ์ตูนมากเกินไปจนกระทั่งไม่เลื่อนระดับไปอ่านนวนิยายหรือวรรณกรรม เป็นต้น จะเห็นว่าความเสียหายมิได้เกิดจากเนื้อหามากไปกว่าที่เกิดจากเสียเวลา

วัยเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กมีพัฒนาการสำคัญทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมเป็นองค์รวมที่ต้องพัฒนา การใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากเกินไปในแต่ละวันสร้างความเสียหายมากที่สุดคือเสียเวลาพัฒนาการเป็นองค์รวม ไอทีและโซเชียลมีเดียอาจจะพัฒนาทักษะบางประการแต่ไม่พัฒนาองค์รวม

อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กเผชิญเนื้อหาที่ล่อแหลม สุ่มเสี่ยง ไปจนถึงยั่วยวน เด็กๆควรมีความสามารถอะไรเพื่อรับมือ คำตอบคือ Executive Function (EF)

Executive Function (EF) หมายถึงความสามารถระดับสูงของสมองที่ใช้ควบคุมความคิด อารมณ์และการกระทำ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย

คำสำคัญ คือคำว่า สมอง ความคิด อารมณ์ การกระทำ และเป้าหมาย

เรื่องยากและทำใจยากคือเรื่องเป้าหมาย สมัยก่อนพ่อแม่และการศึกษากำหนดเป้าหมายให้เด็กๆ อายุเท่านั้นๆต้องมีความสามารถเท่านั้นๆ ตามเกณฑ์หากทำไม่ได้คือสอบตกหรือถูกตีตรา แต่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งโลกทั้งใบเล็กลง ข้อมูลข่าวสารท่วมท้น ทุกศาสนาชาติพันธุ์ปรากฏตัว เด็กคนหนึ่งจะไปได้ดีกว่าเด็กอีกคนหนึ่งเมื่อเขาสามารถกำหนดเป้าหมายเองและมี EF ที่ดีเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย (ที่ตัวเองกำหนด)

เมื่อประยุกต์เรื่องนี้กับเนื้อหาอันตรายในโซเชียลมีเดีย จะเห็นว่าพ่อแม่ไม่มีหน้าที่ห้ามเด็กเสพตรงๆ แน่นอนว่า พ่อแม่จะมีหน้าที่อยู่บ้าง เช่น ตั้งค่าความปลอดภัยในอินเทอร์เน็ต แบ่งเรทเกมหรือภาพยนตร์ แต่ไม่มีปัญญาทำได้ทั้งหมดแน่นอน ดังนั้นไม่มากก็น้อยเด็กต้องมีความสามารถจัดการตนเองเมื่อเผชิญเนื้อหาร้ายแรง หรือยั่วยวน ความสามารถนั้นคือ EF

EF ประกอบด้วย

1.การควบคุมตนเอง (self control)
2.ความจำใช้งาน (working memory)
3.การคิดวิเคราะห์อย่างยืดหยุ่น (cognitive flexibility)

​1. การควบคุมตนเอง ประกอบด้วยความสามารถที่จะตั้งใจจดจ่อ ไม่วอกแวก และความสามารถที่จะประวิงเวลาที่จะมีความสุข

ความตั้งใจจดจ่อ รวมถึงตั้งใจจดจ่อกับงานที่ไม่สนุก งานน่าเบื่อ งานที่ยากและงานที่มีอุปสรรค จะเห็นว่าไอทีและโซเชียลมีเดียมักไม่น่าเบื่อ นอกจากไม่น่าเบื่อยังน่าสนุก ที่สำคัญคือมีการตอบสนองทางหน้าจอทุกเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกมที่มีรางวัลให้เป็นระยะๆ โซเชียลมีเดียจึงไม่ส่งเสริมความสามารถตั้งใจจดจ่อนี้เท่าไรนัก

การปล่อยเด็กไว้กับโซเชียลมีเดียไม่ช่วยเรื่องนี้ การทำงานบ้านน่าเบื่อ การทำการบ้านน่าเบื่อจึงช่วยเรื่องนี้ นั่นคือตั้งใจจดจ่อแม้ว่าจะไม่สนุก ไม่วอกแวก หมายถึงไม่ถูกทำให้เสียความตั้งใจจดจ่อทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายใน รวมทั้งจากตัวเป้าหมายเอง กล่าวคือแม้สภาพแวดล้อมจะเป็นอย่างไรก็อดทน แม้ในใจจะมีปัญหาร้อยแปดที่รบกวนอยู่ก็อดทน รวมทั้งแม้ใจร้อนจะไปให้ถึงเป้าหมายหรือเป็นเป้าหมายที่มีเดิมพันสูง ก็มีความสงบและตั้งใจจดจ่อทำงานอย่างดีที่สุด ไม่วอกแวกเพราะถูกเย้ยหยัน ไม่วอกแวกเพราะถูกท้าทาย และไม่วอกแวกเพราะอยากได้รางวัล

ความสามารถที่จะประวิงเวลาที่จะมีความสุข จะเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการควบคุมตนเอง นั่นคือความสามารถที่จะก้มหน้าก้มตาท่องหนังสือไม่ไปเล่น หรือก้มหน้าก้มตาทำงานไม่ไปพักจนกว่างานจะบรรลุเป้าหมาย ซึ่งฝึกได้เมื่อพ่อแม่หรือการศึกษาได้สร้างสภาพแวดล้อมนั้นให้เกิดขึ้นและคอยส่งเสริมให้เด็กได้พัฒนาความสามารถด้านนี้

ในทางตรงข้ามกับความมานะ ความพยายาม ความอดทน ความไม่ย่อท้อที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย ความกล้าหาญที่จะเข้าไปเผชิญโจทย์ที่ยากหรืออุปสรรค คือความสามารถที่ถอนตัวออกจากความสนุกและสิ่งยั่วยวนตรงหน้า เพื่ออะไร เพื่อเป้าหมายที่ดีกว่าในวันหน้า นี่คือ EF เมื่อเด็กเผชิญหน้าเรื่องร้ายแรงหรือสิ่งยั่วยวน เว็บโป๊หรือเกมที่ล่อแหลม ไปจนถึงความลุ่มหลงในโซเชียลมีเดียนานเกินไป เด็กจำเป็นต้องมีความสามารถที่จะควบคุมตนเองให้ถอนตัวออกมา หยุดความสนุกหรือความสุขฉาบฉวยในเวลานี้เพื่อเป้าหมายที่ดีกว่าในวันหน้า


2. ความจำใช้งานคืออะไร ความจำใช้งานมิใช่ความจำระยะสั้น ยกตัวอย่างหากเราพูดหมายเลขโทรศัพท์หมายเลขหนึ่งได้ เช่น 08172496 นี่เป็นความจำระยะสั้น หากเราต้องการพูดหมายเลขโทรศัพท์นั้นกลับทาง เรามักจะชะงัก หยุดคิด แล้วค่อยเริ่มนำตัวเลขเหล่านั้นพูดกลับทาง นี่คือ ความจำใช้งาน

เวลาเราบริหารความจำจะใช้งาน สมองส่วน dorsolateral prefrontal cortex จะถูกกระตุ้นให้ทำงาน
​การบริหารความจำใช้งานให้ดีเป็นเรื่องสำคัญ เด็กและเยาวชนทุกคนสามารถท่องหนังสือได้ เช่น ติดเชื้อได้อย่างไร ตั้งครรภ์ได้อย่างไร ยาเสพติดมีโทษอย่างไร นี่คือความจำระยะสั้นซึ่งใช้ตอนเขียนสอบในสถานการณ์ห้องสอบซึ่งมิใช่สถานการณ์จริง

แต่ครั้นถึงสถานการณ์จริง คือ อยู่กับเพื่อนต่างเพศสองต่อสองในบรรยากาศที่เอื้ออำนวย และโอกาสที่เอื้ออำนวยต่อการมีเพศสัมพันธ์ หรืออยู่กับกลุ่มเพื่อนที่มั่วสุมใช้ยาเสพติดแล้วเพื่อนชักชวน ในเวลานั้นหากไม่บริหารความจำใช้งานให้คล่องแคล่วรวดเร็วทันการณ์ก็จะไม่เกิดผลทางปฏิบัติ มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันหรือใช้ยาเสพติดไปเสียแล้ว

เมื่อบริหารความจำใช้งานแล้วยังต้องมีความสามารถที่จะควบคุมตนเองให้ปฏิเสธ ถอยออกมา หรือป้องกันตัว ไปจนถึงความสามารถที่จะประวิงเวลาที่จะมีความสุข มีเพศสัมพันธ์และใช้ยาเสพติดนั้นมีความสุขแน่นอน แต่ต้องบริหารความจำใช้งานให้ทันเวลาที่จะควบคุมตนเองแล้วถอนตัวออกมาเพื่อเป้าหมายที่ให้ความสุขแท้จริงมากกว่าในอนาคต การเข้าสู่โซเชียลมีเดียจึงต้องการ EF

ความเร็วของการบริหารความจำใช้งานขึ้นกับโครงสร้างของสมองและระบบประสาทส่วนกลางด้วย กล่าวคือมีเซลล์ประสาทที่พร้อมใช้ และมีเส้นประสาทที่สื่อนำสัญญาณด้วยความเร็วสูง

กระบวนการมัยอิลิเนชั่นคือกระบวนการเพิ่มปลอกมัยอิลิน ให้แก่เส้นประสาท ทำให้เส้นประสาทสามารถสื่อนำสัญญาณประสาทได้เร็วกว่าเส้นประสาทที่ไม่มีปลอกมัยอิลินนับเป็นพันเท่า เปรียบเหมือนคอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะสูงกว่าและเร็วกว่า ความจำใช้งานยิ่งถูกบริหารยิ่งช่วยให้เกิดกระบวนการเพิ่มปลอกมัยอิลินมาก กระบวนการนี้มีมากยิ่งทำให้ความจำใช้งานพร้อมใช้ในสถานการณ์ที่ต้องใช้ทันเวลา

กระบวนการนี้พัฒนาได้ด้วยการให้เด็กเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ บ้านจึงควรให้เด็กๆ เล่นมากๆ และฝึกทำงานบ้าน การศึกษาจึงควรให้เด็กเรียนรู้ด้วยการลงมือทำงานจริงมิใช่เพียงท่องตำราเพื่อการสอบ 

ที่สำคัญ เด็กพิเศษทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นสติปัญญาบกพร่อง สมาธิสั้น แอลดี แอสเปอร์เกอร์ หรือออทิสติกเหล่านี้ล้วนสามารถเร่งกระบวนการเพิ่มปลอกมัยอิลินด้วยการลงมือทำงานเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย

สมองส่วนหน้าที่เรียกว่า prefrontal cortex เป็นส่วนที่ใช้ในการกำหนดเป้าหมาย วางแผน ตัดสินใจ ลงมือทำแล้วประเมินผลเพื่อการปรับปรุง สมองส่วนนี้อยู่ที่ด้านหน้าซึ่งตั้งอยู่ห่างไกลจากศูนย์รวบรวมข้อมูลสารพัดทั้งการได้ยิน การมองเห็น การสัมผัส การได้กลิ่น การลิ้มรส และความจำใช้งาน รวมทั้งอารมณ์ที่พลุ่งพล่าน ความเร็วในการสื่อนำสัญญาณประสาทจากทุกส่วนของสมองเพื่อไปประมวลที่สมองส่วนหน้านี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เด็กตัดสินใจอย่างดีที่สุดและเหมาะสมกับสถานการณ์

โลกอนาคตเด็กๆต้องใช้ไอทีอย่างชาญฉลาดได้ แต่ความสามารถที่จะใช้ไอทีอย่างชาญฉลาดมาจาก EF ซึ่งพัฒนาบนสถานการณ์จริงในโลกแห่งความเป็นจริง มิได้เกิดจากโซเชียลมีเดียที่เด็กๆมิได้ลงมือทำงานจริง


​3. การคิดวิเคราะห์อย่างยืดหยุ่น หมายถึงความสามารถที่จะเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนแผน เปลี่ยนวิธีทำงาน เปลี่ยนเป้าหมาย เปลี่ยนตัวชี้วัด ไปจนถึงเปลี่ยนกระบวนทัศน์ อันเป็นความสามารถระดับสูงของสมองและของ EF

​การอยู่ในโซเชียลมีเดียมีส่วนในการพัฒนาวิธีคิดวิเคราะห์อย่างยืดหยุ่น การท่องหนังสือวันละหลายชั่วโมงเพื่อสอบให้ได้เก่งที่สุดก็มีส่วนในการพัฒนาวิธีคิดวิเคราะห์อย่างยืดหยุ่น แต่มีคำถามว่าพอเพียงหรือไม่และรอบด้านมากพอหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับการละเล่นจริงๆในสนาม การฝึกช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน และการศึกษาโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ผ่านการทำงาน

สุดท้าย หากพูดถึง ภัยจากโซเชียลมีเดีย ในการที่ลูกเข้าโซเชียลมีเดีย สิ่งที่พ่อแม่ต้องระวัง คือ เนื้อหาทุกชนิดแน่ แต่เรื่องจะง่ายขึ้นหากพ่อแม่สามารถฝึกลูกให้ควบคุมเวลา บริหารเวลา และจัดการเวลา ด้วย EF ที่ดี นี่จึงเป็นโจทย์ท้าทายคุณพ่อคุณแม่สำหรับศตวรรษใหม่นี้นั่นเอง

อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!


บทความโดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จากนิตยสาร Amarin Baby & Kids ฉบับเดือน ก.พ. 2560

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up