คุณแม่หลายคนที่มีลูกสาว ก็อยากจะจับลูกแต่งตัวให้น่ารัก อีกหนึ่งเครื่องประดับที่มักมีปัญหากับร่างกายก็คือต่างหู การเจาะหูให้กับลูกสาวอาจทำให้เกิดการอักเสบและระคายเคืองขึ้นเมื่อทำความสะอาดไม่ดี คุณแม่บางท่านมีความเชื่อว่าการเจาะหูลูกตั้งแต่เป็นวัยเบบี้จะช่วยลดการกลัวเจ็บตอนโตได้ แต่บางท่านเลือกเจาะหูให้ลูกในช่วงวัย 5 – 6 ขวบ เพราะเด็กจะสามารถนั่งนิ่งๆ ได้แล้ว
เจาะหู ..ต้องระวังอะไรบ้าง
- อาการแพ้ 15 เปอร์เซ็นต์ของผู้สวมใส่ต่างหูนิกเกิ้ลมักมีอาการแพ้ คัน หากคุณคิดจะให้ลูกเจาะหูก็ต้องคำนึงว่าจะสวมต่างหูที่มาจากวัสดุอะไร ยกตัวอย่างเช่น ทอง เป็นเครื่องประดับยอดนิยมและไม่แพ้ แต่ลูกอาจเป็นเป้าหมายของพวกมิจฉาชีพได้
- ความสะอาดต้องมาก่อน คุณต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจเรื่องการทำความสะอาดหลังจากเจาะหู หรือไม่คุณก็ต้องช่วยเขาทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือใช้แอลกอฮอล์เช็ดรอบแผลทุกวันจนกว่าแผลจะหายดี
ไม่ต้องกังวลว่าการเจาะหูจะเป็นอันตรายมากมาย เพราะการติดเชื้อนั้นคุณแม่สามารถควบคุมได้ด้วยการทำความสะอาด และรักษาบาดแผล โดยปกติแล้วร่างกายของคนเราจะมีกลไกการซ่อมแซมบาดแผล ยกเว้นว่าจะใส่ต่างหูที่ไปเกี่ยวกับเสื้อผ้า ทำให้เกิดแผลจากแรงกระชากได้
หากหลังเจาะหูมีการปวด บวม อักเสบ ไม่ควรบีบเค้นหนองด้วยอุปกรณ์ที่ไม่สะอาด ควรประคบหรือไปพบแพทย์เป็นดีที่สุดค่ะ
อาการแพ้ต่างหู
เกิดจากการระคายเคืองกับวัสดุที่ใช้ทำต่างหู เช่น นิกเกิล (Nickel) ซึ่งพบในสร้อย แหวน นาฬิกา ทั่วไป เมื่อผิวสัมผัสกับวัสดุแล้วจะก่อให้เกิดอาการคัน เมื่อเกาผื่นก็จะยิ่งลุกลามมากขึ้น (อาการรุนแรงไม่เท่ากัน) สำหรับหูนั้นจะมีลักษณะเป็นน้ำเหลืองซึม แฉะ ผิวลอก รู้สึกเจ็บเบา ๆ อาการหลังเจาะหูจะเป็นแผลอักเสบ 24 – 48 ชั่วโมงหลังเจาะ หากรักษาแผลไม่ถูกวิธี
นอกจากนิเกิลแล้วจะมีวัสดุจำพวก ทองแดง ทองคำขาว ซึ่งลูกอาจจะไม่ได้แพ้วัสดุนั้นโดยตรง แต่แพ้สารที่มาประกอบกับวัสดุนั้น เช่น แพ้น้ำยากัดทอง ซึ่งอาจเกิดคราบเขียวบนผิวของเราได้ด้วย การแพ้เครื่องประดับนี้รักษาไม่หาย แต่ต้องใช้วิธีการหลีกเลี่ยงวัสดุดังกล่าว และงดรับประทานอาหารแสลงบางประเภท เช่น นมชอคโกแลต, พืชตระกูลถั่ว, ผลไม้ตระกูลส้ม, สัปปะรด, อาหารกระป๋อง, กุ้ง, หอย, ทูน่า, เบียร์, ไวน์ เป็นต้น
อาการอักเสบหลังการ เจาะหู
เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดการอักเสบของแผลหลังการเจาะมาใหม่ๆ หลักการขั้นต้น 3 ข้อที่ควรท่องจำ
- หลังอาบน้ำ ซับให้แห้ง
- ไม่นอนทับ ไม่สัมผัสแผลบ่อยๆ
- ต้องใส่ใจดูแลแผลมากขึ้น
คลิปโดย : ThePunping
บทความโดย: nooyoonews.blogspot.com, กองบรรณาธิการนิตยสาร AMARIN Baby & Kids