ฮิคิโคโมริ โรคอันตรายของเด็กที่อยู่แต่ในห้อง กลัวการเข้าสังคม - Amarin Baby & Kids
ฮิคิโคโมริ

ฮิคิโคโมริ โรคอันตรายของเด็กที่อยู่แต่ในห้อง กลัวการเข้าสังคม

Alternative Textaccount_circle
event
ฮิคิโคโมริ
ฮิคิโคโมริ

ประเทศไทยในสมัยนี้ ที่มีการแข่งขันสูง พ่อแม่ก็มักจะอยากให้ลูกได้เรียนโรงเรียนที่ดี ๆ เพื่อที่จะได้มั่นใจได้ว่า เมื่อลูกโตขึ้น จะมีโอกาสในการหางานที่ดี ๆ ได้ โดยไม่รู้ว่าอาจผลักให้ลูกเป็นโรค “ฮิคิโคโมริ”

ฮิคิโคโมริ โรคอันตรายของเด็กที่อยู่แต่ในห้อง กลัวการเข้าสังคม

ฮิคิโคโมริ เป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น โดยเด็กที่เป็นโรคนี้จะกลัวการเข้าสังคม มักจะเก็บตัวอยู่แต่ในห้อง เนื่องจากความกดดันจากสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการเรียนและการทำงาน

ฮิคิโคโมริคืออะไร?

ฮิคิโคโมริเป็นอาการทางจิตวิทยาอย่างหนึ่ง ที่อธิบายถึงพฤติกรรมของคนที่แยกตัวออกจากสังคม กักขังตัวเองอยู่แต่ในห้อง กลัวการเข้าสังคม พยายามหลบหนี เพื่อเจอผู้คนให้ได้น้อยที่สุด โดยจิตแพทย์ญี่ปุ่นมองว่า ฮิคิโคโมริ เกิดขึ้นได้เฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น เนื่องจากญี่ปุ่นมีระบบการศึกษาที่ต้องเคี่ยวเข็ญเด็กอย่างหนัก จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2553 พบว่า มีชาวญี่ปุ่นประมาณร้อยละ 1.2 ที่เป็นโรคฮิคิโคโมริ และในปี พ.ศ.2559 รัฐบาลญี่ปุ่นได้รายงานว่า มีประชากรอายุระหว่าง 15‐39 ปี จำนวนประมาณ 541,000 คน ที่เป็นโรคฮิคิโคโม แต่ก็มีรายงานว่าพบเด็กที่มีอาการคล้ายคลึงกันนี้จากประเทศเกาหลี ไต้หวัน และสิงคโปร์ด้วย และยังไม่มีรายงานกลุ่มอาการนี้อย่างเป็นทางการในประเทศไทย

สังเกตอย่างไรว่าลูกเป็นโรคฮิคิโคโมริ?

เด็กที่มีอาการฮิคิโคโมริจะแยกตัวออกมาจากสังคม ไม่อยากพบเจอผู้คน  มักเก็บตัวเงียบในห้อง  ไม่ยอมไปโรงเรียน หมกมุ่นทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ  เด็กบางคนจะอ่านแต่หนังสือการ์ตูน เล่นเกม เล่นอินเทอร์เน็ต ดูทีวี หรือแม้แต่นั่งเฉย ๆ อยู่ในห้องคนเดียวจ้องผนังได้เป็นระยะเวลานาน ๆ มีพฤติกรรมแบบนี้ซ้ำ ๆ โดยแพทย์หญิงพรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ได้เรียกลักษณะอาการที่คล้ายกับ ฮิคิโคโมริ ว่า “โรคแยกตัวจากสังคม” โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรกเป็นผู้ป่วยที่เข้าสังคมไม่ได้ จึงแยกตัวเองออกมา ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีอาการช่วงระยะเวลาหนึ่ง ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากเล่นกับเพื่อน ไม่อยากออกจากห้อง ส่วนกลุ่มที่สองไม่ป่วย แต่ตัดสินใจไม่อยู่ในสังคม โดยจะอยู่กับความสนใจเฉพาะตัว และจะมีอาการเป็นระยะเวลานาน ดังนั้น จึงมีวิธีสังเกตเด็กที่เป็นโรคฮิคิโคโมริ จะมีพฤติกรรมดังนี้

  1. ใช้เวลาส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งวันอยู่ที่บ้าน
  2. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสังคม
  3. ปลีกตัวเองออกจากสังคม จนเป็นสาเหตุสำคัญของการบกพร่องในการเรียนหรือการทำงาน
  4. เก็บตัวอยู่แต่ในห้องหรือในบ้าน อย่างต่ำ 6 เดือน
  5. ไม่มีสาเหตุในด้านร่างกาย ที่จะทำให้ปลีกตัวเองออกจากสังคม
โรคฮิคิโคโมริ
ความกดดันจากการเรียนและการไม่ยอมรับความล้มเหลว ทำให้เด็กเป็นโรคฮิคิโคโมริได้

สาเหตุที่ทำให้เด็กเป็นโรค ฮิคิโคโมริ

  1. การศึกษาที่เคี่ยวเข็ญเด็กอย่างเอาเป็นเอาตาย เช่น ในญี่ปุ่นจะเริ่มแข่งขันกันตั้งแต่ชั้นอนุบาล ดังนั้นการสอบแข่งขันในแต่ละครั้ง เด็ก ๆ จึงได้รับความกดดันสูงมาก
  2. การไม่ยอมรับความผิดพลาด หรือมองความล้มเหลวเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ
  3. เทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น มีทั้งโทรทัศน์ เกม คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ ทำให้เด็กฮิคิโคโมริ สามารถขังตัวเองอยู่ในห้องได้นานขึ้น

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อ การรักษาโรคฮิคิโคโมริ และหลักคิดจากท่าน ว. วชิรเมธี เตือนสติพ่อแม่เลี้ยงลูกให้เป็น

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up