เหตุการณ์เศร้าๆ หรือปัญหาหนักๆ เป็นเรื่องที่อธิบายให้เด็กๆ เข้าใจได้ยาก ตอนแรกคุณแม่มิวของมิกหนุ่มน้อยวัย 6 ขวบ ไม่คิดจะบอกลูกชายว่าคุณพ่อคุณแม่ของเพื่อนซี้หย่ากันเสียแล้ว แต่หลังจากที่พ่อหนูไปเจอบรรยากาศมาคุของบ้านนั้นเข้าเต็มเปา คุณแม่มิวก็ต้องเปลี่ยนใจ
เด็กวัยเรียนโตพอที่จะสังเกตเห็นความผิดปกติในชีวิตของคนรอบข้างได้แล้ว และเขาก็เริ่มเป็นกังวลด้วย แต่อย่าเพิ่งเครียดไป ถ้าลองเปลี่ยนมุมมองใหม่ วิกฤตินี้อาจเป็นการเตรียมลูกให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในชีวิตเขาก็ได้นะ
หนูเข้าใจ ”ข้อเท็จจริง” ได้นะ
ดร.ธีโอดอร์ ซาปิโร ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านจิตเวชจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์เวลล์ คอร์เนลล์ นิวยอร์ก ให้คำแนะนำว่า ให้ข้อมูลตรงเท่าที่ลูกจะเข้าใจได้ง่ายๆ ก็พอครับ หลีกเลี่ยงรายละเอียดที่ซับซ้อน โดยเฉพาะสาเหตุของปัญหา เช่น การนอกใจ โรคภัยไข้เจ็บ หรือปัญหาทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ดังนั้นแทนที่จะมัวนั่งกลุ้มว่าจะอธิบายเรื่องภรรยาอีกคนของคุณพ่อเพื่อนลูกได้อย่างไร ก็บอกเขาแค่ว่า ที่คุณพ่อของโน้ตย้ายออกจากบ้านเพราะว่าเขาหย่ากับคุณแม่ของโน้ตแล้ว แต่เขาก็ยังเป็นพ่อลูกกันเหมือนเดิมแหละจ้ะ แล้วก็อย่าลืมเปิดโอกาสให้เขาซักถามหรือแสดงความคิดเห็นด้วยล่ะ
คนละคนก็คนละเรื่องนะลูก
เด็กๆ ส่วนใหญ่มักมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเรื่องแย่ๆ ด้วยความสงสัยบวกกับความกลัวว่า แล้วบ้านเราจะเป็นอย่างเขาไหมฮะ วิธีการรับมือที่ดีที่สุดก็คือการปลอบว่า แต่ละคนมีชีวิตคนละแบบ ไม่มีใครเจอปัญหาเหมือนกันหรอก (และคุณพ่อคุณแม่ก็ควรระมัดระวัง อย่าเพิ่งโต้เถียงหรือทะเลาะกันให้เขาเห็นล่ะ)
อย่า! ขอให้ลูกช่วยปลอบหรือทำดีกับเพื่อนเป็นพิเศษ
แม้เด็กวัยนี้โตพอจะจับสังเกตความผิดปกติได้ แต่เขาก็ยังไม่พร้อมรับภาระดูแลจิตใจของใครหรอก สิ่งเดียวที่เด็กๆ ต้องการคือ ขอให้ทุกอย่างกลับเป็นเหมือนเดิมให้เร็วที่สุด ดังนั้นหากลูกบ่นว่า น้องแอมไม่ยอมเล่นกับหนูเลย ก็ปลอบเขาเพียงแค่ว่า เดี๋ยวเพื่อนก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง อดทนรอหน่อยก็แล้วกัน
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง
ภาพ : Shutterstock