รู้เขารู้เรารบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง การ วัดไอคิว ของลูกก็เป็นการทำให้รู้ถึงระดับความแข็งแรงของสมองได้ก่อน เหมือนมีแผนที่ช่วยวางแผนการพัฒนาศักยภาพให้ลูกได้ดี
ตรวจ วัดไอคิว ตัวช่วยเสริมศักยภาพในการเรียนรู้ของลูก
คำว่าไอคิว หรือ เชาว์ปัญญา บางคนอาจเข้าใจว่าเป็นคำ ๆ เดียวกัน แต่ความเป็นจริงก็ไม่ผิดซะทีเดียวเพียงแต่ว่ามีข้อแตกต่าง รายละเอียดอีกเล็กน้อย
เริ่มทำความรู้จักกันก่อน
เชาว์ปัญญา หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการเรียนรู้ การปรับตัวต่อปัญหาอย่างเหมาะสม และความสามารถในอันที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมีจุดมุ่งหมายและมีคุณค่าทางสังคม สามารถคิดอย่างมีเหตุผลสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม และสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
เนื่องจากเชาว์ปัญญาเป็นสิ่งที่คนสนใจกันมานาน จึงมีการคิดมาตรวัดเชาว์ปัญญาขึ้นเพื่อให้ได้ผลออกมาเป็นตัวเลขที่สื่อกันได้ง่าย และเป็นที่รู้จักกันในคำว่า IQ นั่นเอง
ไอคิว (Intelligence Quotient) เป็นตัวเลขที่ได้จากการทดสอบเชาวน์ปัญญากับคะแนนเฉลี่ยที่คาดว่าผู้ถูกทดสอบสมควรจะทำได้ ตามระดับอายุที่แท้จริง วิธีคำนวณค่าไอคิวในการทดสอบเชาวน์ปัญญาแต่ละแบบขึ้นอยู่กับลักษณะแบบทดสอบและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ ฉะนั้นไอคิวจะเป็นเครื่องแสดงให้ทราบว่าบุคคลนั้นมีระดับเชาวน์ปัญญาอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับบุคคลอื่นในระดับอายุเดียวกัน
คำว่า IQ ย่อมาจาก Intelligence Quotient เป็นคำที่ William Stern เป็นผู้บัญญัติขึ้น เพื่อบ่งถึงระดับเชาว์ปัญญาของแต่ละบุคคล โดยมีสูตรว่า
โดยอายุสมอง มาจากการวัดโดยการใช้แบบทดสอบเชาว์ปัญญาซึ่งต้องใช้ความเชี่ยวชาญโดยนักจิตวิทยาคลินิก ค่าคะแนนที่ได้จากการทดสอบจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับคะแนนมาตรฐานที่บุคคลในระดับอายุเดียวกันนั้นทำได้ จะเห็นว่าถ้าอายุสมองเท่ากับอายุจริง ค่า IQ ของบุคคลนั้นจะออกมาเท่ากับ 100 ซึ่งคือ ค่าเฉลี่ยของ IQ ในคนส่วนใหญ่นั่นเอง
ความสำคัญของการวัดไอคิว
เชาว์ปัญญาเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งถูกกำหนดมาตั้งแต่แรกเกิด โดยมีปัจจัยด้านพันธุกรรมไปเกี่ยวข้อง และสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ในครรภ์ของมารดาจนกระทั่งหลังคลอดก็เป็นปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่มีผลต่อเชาว์ปัญญาเช่นกัน เช่น ภาวะแวดล้อมที่มีการให้ความรัก ความอบอุ่น ให้การกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัย ก็จะมีผลต่อการเสริมสร้างศักยภาพนี้ให้มากขึ้น หรือในทางกลับกันก็บั่นทอนให้ลดลงได้ เชาว์ปัญญาเป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ แต่แสดงออกให้เห็นได้ผ่านพฤติกรรมต่าง ๆ ที่แสดงถึงความสามารถในการเรียนรู้ ความสามารถปรับตัวต่อเหตุการณ์ใหม่ๆ ความสามารถเข้าใจและเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่างๆ อย่างมีเหตุผล และเป็นพฤติกรรมที่มีจุดมุ่งหมาย จะเห็นว่าเชาว์ปัญญาไม่ใช่ผลจากความสามารถอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราจึงไม่สามารถนำพฤติกรรมใดเพียงอย่างเดียวไปตัดสินว่าคนๆ นั้นโง่หรือฉลาดได้
พญ.สุภาพร ปิตวิวัฒนานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ เด็กและวัยรุ่น รพ.พระราม9
ในปัจจุบันเรื่องนี้เป็นที่สนใจกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากวิชาการสมัยใหม่ และแบบทดสอบวัดระดับไอคิวเริ่มเป็นที่รู้จัก และยอมรับกันมากขึ้นในสังคมไทยเรา ทำให้เกิดความรู้เพิ่มมากขึ้นที่ว่าระดับไอคิว หรือระดับสติปัญญาของคนเรานั้น ที่แต่เดิมเชื่อกันว่ามีติดตัวมาแต่กำเนิด เป็นไปตามกรรมพันธ์ุ จึงไม่สามารถที่จะพัฒนาศักยภาพให้เพิ่มขึ้นได้ แต่จากแนวคิด ความเห็นของคุณหมอที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น จึงสามารถกล่าวได้ว่าเชาว์ปัญญา หรือ ไอคิวนั้นสามารถเพิ่มขึ้น หรือลดลงจากเดิมได้ขึ้นอยู่กับภาวะแวดล้อม และการเลี้ยงดู ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรรอช้า หากเราสามารถรู้ถึงระดับไอคิวของลูก รู้ถึงจุดอ่อนจุดแข็งของเชาว์ปัญญาว่าเป็นอย่างไร ก็จะช่วยให้เราสามารถวางแผนพัฒนาทักษะ เสริมศักยภาพของระดับไอคิวของลูกเราให้ได้เต็มประสิทธิภาพ และไม่ไปทำพฤติกรรมให้เขาเกิดภาวะถดถอย บั่นทอนให้ลดลง
เมื่อใดควรวัดไอคิว
- เมื่อต้องการจะทราบระดับความสามารถทางสติปัญญาว่าอยู่ในระดับเท่าใด ไม่ใช่เป็นการตีตราหรือจัดลำดับความเก่ง แต่เป็นการช่วยให้ทราบถึงความสามารถของลูกว่าเด่น หรือด้อยในเรื่องใด เพื่อนำมาปรับปรุง และเป็นแนวทางในการวางแผนการศึกษาให้เหมาะสมกับความสามารถ และความต้องการของลูกได้ เช่น เด็กคนนี้เรียนรู้ได้ดีทางสายตามากกว่าการฟัง หรือ ความเข้าใจทางภาษาดีมาก แต่ว่ามีจุดอ่อนที่การทำงานประสานกันของมือและตา ก็จะสามารถวางแผนได้ว่าพ่อแม่ควรส่งเสริมตรงไหน ผลที่ได้ไม่ใช่แค่ตัวเลข หรือ ระดับของสติปัญญา แต่เป็นศักยภาพในการเรียนรู้และการทำงานของสมองในระดับของวัยนั้น ๆ
- เมื่อมีปัญหาด้านพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น เหม่อลอย ไม่นิ่ง แยกตัว หนีเรียน ซึมเศร้า รวมทั้งการปรับตัวในชีวิตประจำวันไม่เหมาะสม เราจะทดสอบเพื่อนำผลไปประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ว่าสาเหตุมาจากปัญหาทางด้านสมอง หรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ
- เมื่อผลการเรียนลดลงหรือมีปัญหาด้านการเรียน ทำให้ทราบว่า ไอคิวของเด็กในขณะนั้น สอดคลัองกับผลการเรียนที่ออกมาหรือไม่ เพื่อเป็นการประเมินว่าพฤติกรรมถดถอยไม่ได้มาจากไอคิว หรือปัญหาทางด้านร่างกาย หากมาจากทางด้านพฤติกรรมจะได้ช่วยเด็กค้นหาว่าเขาเกิดสะดุด หรือมีปัญหาทางจิตใจด้านใดที่กระทบทำให้เกิดผลดังกล่าว จะได้ช่วยแก้ปัญหากันได้ทันท่วงที
- ในทางกฎหมาย จะใช้ผลการวัดระดับไอคิว มาใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการยืนยันว่าบุคคลคนนั้น จำเป็นต้องมีผู้คุ้มครองทางกฎหมาย และดูแลผลประโยชน์แทนหรือไม่
- การวัดระดับไอคิว ในบางกรณีที่แพทย์ต้องให้คนไข้เข้ารับการผ่าตัดสมอง ต้องมีการวัดระดับไอคิวก่อน และหลังการเข้ารับการผ่าตัด เพื่อเป็นข้อมูลประกอบด้านการแพทย์
หยุดกังวล วิธีวัดระดับไอคิว ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจกำลังลังเลกับการพาลูกไปตรวจวัดไอคิว เนื่องจากว่าจะกังวลว่าจะมีวิธีการอย่างไร ในเมื่อเชาว์ปัญญานั้นเป็นนามธรรม แล้วจะใช้วิธีการแบบใดในการวัด จะปลอดภัย หรือทำให้ลูกกลัวไหม ลูกเราเป็นเด็กไม่กล้า ไม่คุ้น ไม่ชอบคุยกับคนแปลกหน้าแล้วผลที่ได้จะเที่ยงตรง เชื่อถือได้ไหม หยุดกังวลกันได้เพราะวันนี้ทาง ทีมแม่ABK ได้นำตัวอย่างของแบบทดสอบความสามารถทางเชาว์ปัญญาจากโรงพยาบาลกรุงเทพมาให้ดูเป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นการทำความเข้าใจอย่างคร่าว ๆ ก่อนจะตัดสินใจพาลูกเข้ารับการวัดระดับไอคิวหรือไม่
ตัวอย่างเช่น “Wechsler Intelligence Scale for Children – Third Edition หรือ WISC-III เป็นแบบทดสอบความสามารถทางเชาวน์ปัญญาในเด็กที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในโรงพยาบาล และโรงเรียนในหลายประเทศ ซึ่งสามารถวัดระดับเชาวน์ปัญญาในเด็กและวัยรุ่นได้ตั้งแต่อายุ 6-16 ปี ในการทดสอบจะทำโดยผู้ทดสอบซึ่งมักเป็นนักจิตวิทยา ในห้องที่เหมาะสม อากาศถ่ายเท อากาศภายในห้องไม่ร้อนหรือไม่เย็นเกินไป และไม่มีเสียงดังหรือบุคคลภายนอกรบกวน โดยที่ผู้ทดสอบจะทำความคุ้นเคยกับเด็กไปพร้อมๆ กับการพูดคุยเพื่อสอบถามข้อมูล”
แบบทดสอบ WISC-III แบ่งออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่ ด้านภาษา และด้านการปฏิบัติ โดย ด้านภาษา หรือ Verbal Test เป็นแบบทดสอบย่อยที่วัดความสามารถที่ต้องใช้การสื่อสารคำพูด ทักษะการใช้ภาษารวมถึงการแก้ไขปัญหา การเรียนรู้จากสิ่งที่ได้ยิน ตัวอย่างของแบบทดสอบด้านภาษา เช่น ความรู้ทั่วไป สำหรับด้านการปฏิบัติ หรือ Performance Test เป็นแบบทดสอบย่อยที่วัดความสามารถในการรับรู้สิ่งที่มองเห็น ลงมือทำตามคำสั่งเพื่อแก้ปัญหา ตัวอย่างของแบบทดสอบด้านการปฏิบัติ เช่น หาส่วนหายไปจากภาพ เรียงลำดับภาพตามเหตุการณ์ การต่อชิ้นส่วน และการต่อลูกบาศก์ตามแบบ เป็นต้น โดยจะใช้เวลาทั้งกระบวนการทดสอบประมาณ 2 ชั่วโมง
แบบทดสอบ WISC-III จะให้ผลการทดสอบออกมาเป็นค่าระดับเชาวน์ปัญญารวม หรือ ค่า IQ นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งความสามารถทางเชาวน์ปัญญาออกเป็นด้านภาษา และด้านการปฏิบัติ โดยสามารถทราบรายละเอียดจุดเด่นจุดด้อยของความสามารถด้านต่างๆ ได้ด้วย สำหรับค่า IQ นั้น โดยปกติจะอยู่ที่ช่วง 90-109 ถ้าคะแนนที่มีระดับ IQ สูงกว่า 109 จัดว่าเชาวน์ปัญญาฉลาดกว่าเกณฑ์ปกติทั่วไป แต่ในทางกลับกันคะแนนที่มี IQ ต่ำกว่า 90 แสดงถึงเชาวน์ปัญญาที่ด้อยกว่าเกณฑ์ปกติทั่วไป
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก Bangkok Hospital
เห็นไหมละว่า การวัดไอคิวนั้น จำเป็นต้องใช้การวัดโดยผู้เชี่ยวชาญ และแบบทดสอบที่มีความแม่นยำ และได้มาตราฐาน โดยการให้เด็กตอบแบบทดสอบ หรือจะใช้วิธีการพูดคุยเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลในการประเมินนั้น ก็ต้องมีแบบแผนที่แน่นอน ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถประเมิน ตัดปัจจัยที่จะมากระทบต่อการตอบคำถาม ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะอยู่ในความควบคุมของการทำงานของคุณหมอ หรือ นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญอยู่แล้ว
เริ่มที่เมื่อไหร่ ที่ไหน ยังไง
ก่อนอื่นควรไปพบคุณหมอเด็ก กุมารเวช หมอจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก แล้วแต่ชื่อเรียกตามแต่ละโรงพยาบาล เพื่อทำการปรึกษา คุณหมอจะประเมินถึงความจำเป็นในการตรวจวัดระดับไอคิว ระดับอายุ และความพร้อมของเด็ก เพราะแบบทดสอบวัดเชาว์ปัญญานั้นมีหลากหลายแบบต้องเลือกตามช่วงอายุ ความเหมาะสมของสิ่งที่ต้องการจะวัด และที่สำคัญต้องวัดโดยผู้เชี่ยวชาญ ยิ่งโดยเฉพาะสำหรับเด็กต้องใช้วิธีการพูดคุยที่แตกต่างจากผู้ใหญ่มาก
อย่างที่ย้ำกันหลากหลายครั้งแล้วว่า การวัดระดับไอคิวนั้นไม่ได้เป็นการบ่งบอกว่าใครเก่งกว่ากันด้วยตัวเลข แต่เป็นการหาจุดอ่อน จุดแข็งของศักยภาพของสมองของแต่ละบุคคล เพราะพัฒนาการด้านเชาว์ปัญญานั้นไม่อยู่คงที่ สามารถมีพัฒนาการที่ดี หรือถดถอยได้ตามปัจจัยแวดล้อม และช่วงอายุ เช่น เราจะพบว่าเด็ก 5 ขวบปีแรก จะมีพัฒนาการด้านเชาวน์ปัญญาที่เร็วมาก หลังจากนั้นพัฒนาการค่อย ๆ พัฒนาจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นช่วงที่ความสามารถทางเชาวน์ปัญญาพัฒนาได้ถึงจุดสูงสุด และจะคงที่อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งวัยสูงอายุเชาวน์ปัญญาจึงค่อย ๆ ลดลงตามการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ดังนั้นค่าของระดับไอคิวที่เราได้ในครั้งเดียวจึงไม่สามารถนำมาตัดสินถึงความเก่ง ฉลาดของคน ๆ หนึ่งไปได้ตลอดไป เพราะอัตราการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของระดับเชาวน์ปัญญานั้นขึ้นอยู่กับกิจกรรมในชีวิตประจำวันและการฝึกฝนด้วย กล่าวคือ คนที่ใช้สมองในการคิดอยู่เสมอการลดลงของ IQ จะช้ากว่ากลุ่มที่ไม่ได้ทำกิจกรรมที่ใช้ความคิดนักโดยวัดจากในระดับอายุเดียวกัน
สรุปคือ สิ่งสำคัญของการวัดระดับไอคิวนั้น คือการนำมาเป็นแนวทางการเสริมสิ่งที่ขาดของพัฒนาการทางสติปัญญาของลูกมากกว่านำมาใช้ประเมินเพียงแค่จากตัวเลขที่ได้รับว่า เขาเก่งหรือไม่ เพราะอย่างไรมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถพัฒนาตนเองได้เสมอ
ข้อมูลอ้างอิงจาก คณะแพทยศาสตร์รพ.รามธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล / B.careKids / Praram9Hospital
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ทดสอบไอคิวลูก แบบง่ายๆ ด้วย Gesell drawing test ใช้ได้ตั้งแต่อายุ 2-12 ขวบ
5 บทสนทนาภาษาอังกฤษ ปั้นลูกอนุบาลเก่งภาษา ให้พูดคล่อง สำเนียงเป๊ะ
กระต่ายกับเต่า นิทานอีสปสุดคลาสสิค สอนลูกเข้าใจ “แค่เก่งอย่างเดียวอาจไม่พอ”
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่