3 เทคนิคดีๆ แก้ปัญหาลูกทะเลาะกัน ทุกวัน
เมื่อ ลูกเกิดศึกทะเลาะกัน พ่อแม่สามารถเข้าไปมีบทบาท ช่วยแก้ไขความขัดแย้งของลูกได้ด้วยการวิธีแสนง่าย ดังนี้
1. แยกลูกออกจากกัน
ให้เวลาลูกๆ แต่ละคน สัก 15 นาทีต่อวัน ให้เขาได้มีโอกาสอยู่กับพ่อแม่ตามลำพังบ้าง เช่น เวลาที่พี่สาวคนโตช่วยทำกับข้าวหรือหลังจากสอนการบ้านลูกคนกลาง ช่วงเวลาสั้นๆ ที่ได้ครอบครองคุณพ่อคุณแม่ไว้คนเดียวนี้ จะช่วยให้ลูกลดพฤติกรรมก้าวร้าวลงได้
2. สอนให้ลูกแสดงความรู้สึกด้วยการพูด
พยายามให้ลูกบอกเล่าสิ่งที่อัดอั้นอยู่ออกมาเป็นคำพูด (ที่ไม่หยาบคายหรือเป็นคำสบถ) แทนการระบายออกโดยทุบตีหรือรังแกกัน
3. ให้ความรักอย่างเท่าเทียม
พ่อแม่คิดว่า ตัวเองรักลูกเท่ากันทุกคนและยุติธรรมดีแล้ว แต่เมื่ออยู่ในสมรภูมิ คนกลางอย่างเรามักจะโดดเข้าไปปกป้องฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะฝ่ายที่อายุน้อยกว่าดูอ่อนแอกว่าหรือเป็นเด็กดีกว่า
จากผลการศึกษา เวลามีเรื่องต่อยตี น้องเล็กวัย 6 – 9 ขวบ มักเป็นเหยื่อของพี่ที่โตกว่า แต่ก็ใช่ว่าพี่จะเป็นฝ่ายผิดหรือเป็นคนเริ่มเสมอไป ทางที่ดีที่สุดก็คือ อย่าเข้าข้างหรือลงโทษใครมากกว่าอีกคน แต่พยายามชี้นำให้ลูกๆ หาทางแก้ไขข้อวิวาทแบบสันติวิธี ด้วยการนั่งคุยว่าเกิดอะไรขึ้นตั้งแต่จุดเริ่มต้นและตัดสินอย่างเป็นกลางมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ปัญหาลูกทะเลาะกัน ยังสามารถนำไปสู่ความล้มเหลวของชีวิตคู่ของพ่อแม่ได้ ทั้งนี้เพราะลูกมักดึงพ่อแม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมกับการโต้เถียงด้วย และอาจเห็นได้ชัดเจนว่าถ้าพ่อแม่คนใดเข้าข้างลูกคนไหน ก็อาจทำให้ปัญหาความขัดแย้งเพียงเล็กน้อยของลูกบานปลายกลายเป็นปัญหาของพ่อแม่เองได้ หากพ่อแม่ใช้อารมณ์เป็นตัวตัดสินปัญหาในลักษณะเดียวกับที่ลูกทำ
เพราะฉะนั้นหาก ลูกทะเลาะกัน ในแต่ละครั้ง จนทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และมีใครอย่างน้อยคนใดคนหนึ่งต้องเจ็บตัว หากรับมือไม่ได้แล้วคุณพ่อคุณแม่ควรคำนึงถึงการเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้วย เพื่อช่วยเหลือให้ลูกมีชีวิตที่มีความสุขอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพี่น้องและครอบครัว
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก :
- สอนให้พี่น้องรักกัน ด้วย 7 วิธีง่ายๆ ในการปลูกฝังที่พี่คนโต
- เลี้ยงลูกให้พี่น้องรักกันคุณเองก็ทำได้!
- วิธีจัดการเวลาลูกทะเลาะกัน
- 5 กลยุทธ์สงบศึก พี่น้องทะเลาะกัน
บทความโดย: กองบรรณาธิการ AMARIN Baby & kids
ข้อมูลอ้างอิงจาก : taamkru.com