วัคซีนเด็กไฟเซอร์ มาแล้ว !! 26 มกราคม 2565 วัคซีนป้องกันโควิด – 19 สำหรับเด็กวัย 5 – 11 ปี มาถึงเมืองไทยแล้ว เรื่องที่คุณแม่ต้องทราบก่อนพาลูกไปฉีดวัคซีนไฟเซอร์นั้นมีหลายเรื่อง ทีมแม่ ABK รวบรวมมาไว้ให้แล้วค่ะ
14 เรื่อง คุณแม่ต้องรู้ ก่อนฉีด วัคซีนเด็กไฟเซอร์
- แม้เด็กที่ติดโควิด 19 ส่วนใหญ่มีอาการน้อย แต่จำเป็นต้องฉีด โดยเฉพาะเด็กมีโรคประจำตัว เพื่อป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต เพราะ 1 เดือนให้หลัง หลังจากที่เด็กติดโควิด-19 แล้ว มักจะมีปัญหาแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น โดยเด็กอาจมีอาการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ ที่เรียกว่า MIS-C ซึ่งอาจรุนแรงได้ ดังนั้น ฉีดวัคซีนป้องกันไว้ก่อนจะดีกว่า
- วัคซีนไฟเซอร์เด็กจะเป็นฝาสีส้ม ฉีดคนละ 0.2 มิลลิลิตร (10 ไมโครกรัม) โดย 1 ขวดฉีดได้ 10 คน สามารถเก็บที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ได้ 10 สัปดาห์ หากเปิดใช้แล้วต้องฉีดให้หมดภายใน 2-6 ชั่วโมง
- เด็กกลุ่มแรกที่จะได้ฉีดวัคซีน คือเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เริ่มฉีดวันที่ 31 มกราคม นี้ ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ส่วนเด็กทั่วไปจากทั่วประเทศจะเริ่มฉีดวันแรก 1 กุมภาพันธ์นี้ ที่สถานศึกษา เด็กทุกกลุ่มต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองแล้วจึงจะฉีดวัคซีนได้
- เด็กกลุ่มเสี่ยง คือเด็กที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคอ้วน, โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, หัวใจและหลอดเลือด, ไตวายเรื้อรัง, มะเร็งและภูมิคุ้มกันต่ำ, เบาหวาน, โรคพันธุกรรม รวมถึงกลุ่มอาการดาวน์, เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการช้า ให้ฉีดที่โรงพยาบาลทั้ง 2 เข็ม โดยเว้นระยะห่าง 12 สัปดาห์
- เด็กกลุ่มเสี่ยงสามารถรับประทานยาโรคประจำตัว อาหารและน้ำได้ตามปกติ แพทย์จะประเมินว่ามีข้อควรระวังอะไรหรือไม่ เช่น ขณะป่วยมีไข้ ควรรักษาให้หายดีก่อน แล้วชะลอหรือเลื่อนการฉีดจนกว่าจะเป็นปกติ หรือ เด็กที่มีโรคประจำตัวอาการรุนแรงที่อาจอันตรายถึงเสียชีวิต อาจชะลอไปก่อน ให้รักษาโรคประจำตัวให้ดีขึ้นก่อน
- หลังฉีดให้รอดูอาการ 30 นาที เมื่อกลับบ้านไปแล้ว 1 สัปดาห์ไม่ควรออกกำลังกาย ปีนป่าย ว่ายน้ำ ที่ต้องใช้แรง
- สำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัว หากมีผลข้างเคียง สามารถเข้าโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือติดต่อมายังสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีผ่านทางไลน์และสายด่วน 1415 ซึ่งมีการจัดระบบทางด่วนในรายที่สงสัยรุนแรงเพื่อเข้ารับการดูแลต่อไป
- สำหรับเด็กทั่วไป ต้องลงทะเบียนก่อนฉีด โดยมีการเซ็นใบยินยอมของผู้ปกครองผ่านสถานศึกษา และฉีด 2 เข็ม มีระยะห่าง 8 สัปดาห์
- การฉีดวัคซีนในเด็กเล็กหรืออนุบาล ให้ฉีดในสถานที่มิดชิด มีฉากกั้น ม่านกั้น หรือเป็นห้อง จะช่วยลดการกังวลของเด็ก
- ข้อมูลของสหรัฐอเมริกาที่ฉีดไปแล้ว 9 ล้านคน พบผลข้างเคียงหลังการฉีด เช่น มีอาการปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีด มีอาการไข้แต่น้อยกว่าเด็กโต ทั้งนี้อาการทั้งหมดหายภายใน 2 วัน นอกจากนี้ยังพบอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 11 คน แต่ไม่รุนแรง และรักษาหายทั้งหมด
- อาการข้างเคียงที่พบหลังฉีดแต่ไม่รุนแรงและหายเองใน 1-2 วัน ได้แก่ ไข้ หนาวสั่น, ปวดบวม รอยแดง บริเวณที่ฉีด, ปวดหัว, ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย
- หลังฉีดวัคซีนแล้ว อาการผิดปกติที่เกิดแล้วต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน คือ กลุ่มโรคหัวใจ ซึ่งจะเกิดอาการในช่วง 2-7 วัน ได้แก่ เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว เหนื่อยง่าย ใจสั่น รวมถึงกลุ่มอาการอื่น ๆ คือ ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน กินไม่ได้ ซึมหรือไม่รู้สึกตัว
- หากเกิดอาการผิดปกติแล้วโรงพยาบาลใกล้บ้านประเมินแล้วว่าเกินกำลังที่จะรักษา สามารถส่งต่อไปยังสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
- ยังไม่มีข้อมูลวัคซีนซิโนแวคและซิโนฟาร์มในเด็ก ซึ่งอย.ก็ยังไม่ให้การรับรอง 2 ยี่ห้อนี้ การฉีดวัคซีนในเด็กจำเป็นและต้องรอข้อมูลที่ปลอดภัย ควรฉีดวัคซีนที่มีการรับรองจาก อย. และเป็นไปตามคำแนะนำ
เมื่อคุณแม่ทราบข้อมูลที่ควรรู้ ก่อนพาลูกไปฉีดวัคซีนเด็กไฟเซอร์ ที่ทีมแม่ ABK รวบรวมมาให้แล้ว หวังว่าเมื่อคุณแม่พิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว จะพาลูกไปฉีดวัคซีนเพื่อความปลอดภัยของลูกนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
PPTV HD , MGR Online , Post Today
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก