ในสถานการณ์ที่เด็กๆ ต้องเรียนออนไลน์กันทั้งเทอมแบบนี้ เป็นเรื่องไม่ง่ายเลยสำหรับทั้งเด็ก และพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ต้องเจอกับปัญหา ลูกเรียนออนไลน์ไม่เข้าใจ ไม่มีสมาธิ ขาดความอดทน จะรับมือยังไงให้ลูกตั้งใจเรียนและเรียนเข้าใจ เหมือนตอนที่ได้ไปโรงเรียน รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้ให้คำแนะนำ คุณแม่ที่อาจเจอปัญหาแบบเดียวกัน ไว้ดังนี้
โดยคุณหมอพงษ์ศักดิ์ เล่าว่า…
เด็กชายกีตาร์ อายุ ๘ ปี เรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ คุณแม่พามาปรึกษาหมอว่า ตั้งแต่เรียนหนังสือออนไลน์ ลูกเรียนไม่เข้าใจ นั่งอยู่หน้าจอไม่ได้นาน ลุกไปมา บางครั้งเปิดหน้าจอ ๒ จอ คือ เล่นเกมไปด้วยเรียนหนังสือไปด้วย ก่อนหน้านี้กีตาร์ เรียนหนังสือได้ดี คุณครูชื่นชมว่า กีตาร์เป็นเด็กเรียนรู้เร็วหากมีความตั้งใจ ถ้าไม่อยากทำก็จะปฏิเสธและขาดความอดทน คุณแม่ปรึกษาว่าควรจะทำอย่างไรดี
ท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและยังลุกลามมาถึงเด็กในขณะนี้ ทำให้มีการติดเชื้อในเด็กเพิ่มมากขึ้น การบริหารจัดการด้านการศึกษาผ่านการเรียนออนไลน์เป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่นอกจากจะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อและสร้างความปลอดภัยให้กับเด็กได้แล้ว ยังช่วยให้ระบบการศึกษาสามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่ก็คงเป็นความยากลำบากของคุณพ่อคุณแม่และครอบครัวพอสมควรนะครับ ในการที่จะต้องรับมือทั้งจากผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์โควิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงาน รายได้ การใช้ชีวิต และต้องรับมือกับการเรียนทางไกลของลูกที่คุณพ่อคุณแม่อาจไม่คุ้นเคย
ลูกเรียนออนไลน์ไม่เข้าใจ นั่งอยู่หน้าจอไม่ได้นาน ทำไงดี?
จะว่าไปแล้วการเรียนออนไลน์ก็คงมีผลดีผลเสียเช่นเดียวกับการเรียนการสอนด้วยวิธีอื่น เพียงแต่หากคุณพ่อคุณแม่ มีความเข้าใจทั้งตัวลูก กระบวนการ วิธีการ และสนับสนุนลูกอย่างเหมาะสม เด็กๆ ก็จะสามารถเรียนรู้ได้ดีไม่ต่างจากการเรียนในห้องเรียนเลยครับ จากประสบการณ์ที่ผมได้ทำงานกับเด็กและครอบครัวที่เรียนออนไลน์ในช่วงนี้ ได้พบเห็นทั้งเด็กที่สามารถเรียนรู้ได้ดีเช่นเดียวกับการเรียนตามระบบปกติ และเด็กที่เรียนรู้ได้น้อยหรือเกิดปัญหาการเรียนตามมาจากการเรียนทางไกลแบบน้องกีตาร์นี้ครับ
จะว่าไปแล้วถ้าเราฝึกฝนให้กีตาร์มีความสามารถในการควบคุมตัวเองได้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ก็คงไม่เกิดปัญหาด้านการเรียนออนไลน์สำหรับกีตาร์ในวันนี้ แต่มาถึงตรงนี้แล้ว ก็ใช่ว่าจะทำอะไรไม่ได้เสียเลย แต่ก็คงจะมีความยากมากขึ้นกว่าการฝึกฝนกันก่อนหน้า เพราะถึงตอนนี้ กีตาร์โตขึ้นมากมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น และผ่านการเรียนรู้ที่จะเลือกปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติมาพอสมควรแล้ว
พ่อแม่จะช่วยลูกอย่างไรให้เรียนออนไลน์ได้ดี?
การจะช่วยลูกให้สามารถเรียนออนไลน์ได้ผลดีใกล้เคียงกับการเรียนในโรงเรียน เราคงต้องเริ่มจากการวิเคราะห์ให้ได้ว่า
การเรียนออนไลน์มีอะไรที่ทำให้เด็กเรียนรู้ได้น้อยกว่าการเรียนในห้องเรียนหรือทำให้ทักษะด้านใดถูกส่งเสริมให้พัฒนาได้ลดลง เช่น ขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครูผ่านการใช้ชีวิตและกิจกรรมร่วมกัน ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่โรงเรียนในบางเรื่อง ขาดกิจกรรมการเคลื่อนไหว ในด้านการเรียนการสอนการเรียนออนไลน์อาจมีข้อด้อยซึ่งอาจเป็นที่มาของปัญหาในเด็กบางคน เช่น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนลดลง ทำให้ครูไม่สามารถปรับการเรียนการสอนหรือดึงดูดความสนใจของเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ การมีสมาธิจดจ่อกับการเรียนของเด็ก ปัญหาของระบบการสื่อสาร
กรณีของกีตาร์ หากคุณพ่อคุณแม่คำนึงถึงเพื่อประโยชน์ในด้านการเรียนที่จะได้จากการเรียนออนไลน์ คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยเหลือเขาได้ง่ายๆ ด้วยการฝึกทักษะการควบคุมตัวเอง ซึ่งเป็นทักษะที่มีความสำคัญต่อการปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วง ถ้าเคยฝึกกันมาแต่เล็กก็จะง่ายหน่อย แต่แม้จะโตขึ้นมาแล้วก็ยังสามารถฝึกฝนกันได้ เพียงแต่อาจยากกว่าตอนเล็กและมีกระบวนการที่แตกต่างกันบ้างเท่านั้นเองครับ โดยทั่วไปเด็กอายุวัยประมาณกีตาร์และเด็กวัยที่เริ่มเข้าโรงเรียนจะสามารถเข้าใจเรื่องของเหตุและผล ได้ดีกว่าก่อนหน้านี้มาก
ฝึกให้ลูกมีทักษะการควบคุมตัวเองทำได้อย่างไร?
คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกได้ด้วยการฝึก ๒ ทักษะสำคัญนี้ครับ นั่นคือ ฝึกให้ลูก ฉลาดรู้ คู่ ฉลาดทำ ครับ
- ฉลาดรู้ การฝึกให้ลูกฉลาดรู้ ต้องทำความเข้าใจกับเขา ผ่านการพูดคุยกับลูกถึงความจำเป็นของการเรียนออนไลน์ ในขั้นตอนนี้ควรพูดคุยกับลูกด้วยภาษาที่เหมาะสมกับวัย เช่น ลูกเล็กภาษาก็ต้องสั้นและง่าย และต้องรับฟังความคิดเห็นจากเสียงเล็กๆ ของเขาด้วยนะครับว่า เขามีความคิดเห็นอย่างไร และต้องคุยกันให้เขาเข้าใจว่า เขาควรปฏิบัติตัวอย่างไร ให้เหมาะสมกับการเรียนออนไลน์ นอกจากบอกเล่าประโยชน์ของการเรียนออนไลน์แล้ว เช่น ต้องนั่งเรียนนานเท่าไร เรียนตรงไหน เวลาไหนต้องทำอะไรบ้าง
- ฉลาดทำ การฝึกให้ลูกฉลาดทำ คุณพ่อคุณแม่ต้องฝึกให้เขาสามารถควบคุมตัวเองได้อย่างเหมาะสมผ่านกระบวนการส่งเสริมพฤติกรรมที่ดี เช่น รู้จักนั่งเรียนอยู่หน้าจอตั้งแต่ต้นจนจบ ทำการบ้านหรืองานที่คุณครูสั่งได้เสร็จตามกำหนดเวลาและมีความเรียบร้อยอย่างเหมาะสมตามวัย วิธีการฝึกก็ใช้วิธีการเสริมแรงให้กับลูกนะครับ ถ้าเขาทำอะไรได้ดีก็ชื่นชมกัน ให้กำลังใจกัน สะสมสติกเกอร์ สะสมดาวกันบ้างก็ช่วยได้มากนะครับ
สิ่งสำคัญของการฝึกให้ลูกควบคุมตัวเอง
ในเด็กที่ยังไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ดีนัก สิ่งสำคัญของการฝึก ได้แก่ สิ่งแวดล้อมต้องเป็นใจด้วยครับ เช่น ที่บ้านต้องเงียบสงบไม่มีอะไรมารบกวนหรือดึงดูดความสนใจของเขาไปจากสิ่งที่เราต้องการให้ทำ ถ้าเขายังไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ดี แบบอย่างจากพี่ที่โตกว่าหรือเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันก็ช่วยได้มากนะครับ ถ้ายังยากสำหรับเขา คุณพ่อคุณแม่อาจต้องช่วยเหลือเขาสักหน่อย เช่น นั่งอยู่ด้วยกัน คอยเรียกคอยเตือนเขาเมื่อเขาถูกดึงดูดสนใจไปจากการเรียนออนไลน์ตรงหน้า ให้เขาได้พักเป็นช่วงๆตามความเหมาะสมกับความสามารถในการจดจ่อของเขา เด็กเล็กอาจมีสมาธิจดจ่อได้นานไม่เท่าเด็กโต หรือเด็กบางคนอาจมีสมาธิจดจ่อที่สั้นกว่าเด็กคนอื่นในวัยเดียวกัน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่สามารถปรับการปฏิบัติตรงนี้ให้เหมาะสมกับลูกของเราได้นะครับ
อย่างรายของกีตาร์ ถ้าคุณครูได้ชื่นชมความสามารถของกีตาร์ให้เขาได้ยิน ก็จะเป็นอีกแรงจูงใจที่ช่วยให้เขาสามารถพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ได้มากขึ้นด้วยครับ จะว่าไปแล้ววิกฤติของโควิดครั้งนี้ก็มีข้อดีนะครับ อย่างน้อยก็ทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้ช่วยพัฒนาทักษะที่ส่งเสริมการเรียนรู้ในระยะยาวให้กับเขาได้ รวมทั้งได้ฝึกฝนทักษะที่สำคัญต่อการพัฒนาเด็กในเรื่องของ “Power BQ” ที่ผมเคยเล่าให้ฟังไปแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องของ ความฉลาดทางอารมณ์ในการควบคุมตัวเอง ความฉลาดทางปัญญาในการเรียนรู้ฉลาดคิดและฉลาดทำ ความฉลาดในการคิดเป็น ความฉลาดต่อการเผชิญกับปัญหา หรือความฉลาดของการเข้าสังคมในการเรียนออนไลน์ ต่อไปไม่ว่าจะมีวิกฤติอะไรเข้ามาเขาก็จะสามารถปรับตัวรับมือได้เป็นอย่างดีครับ เอาใจช่วยคุณพ่อคุณแม่ทุกบ้านให้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยดีนะครับ
ขอบคุณบทความโดย : รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม
รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
ลูกไม่กินข้าว ทําไงดี? หมอแนะ 10 วิธีรับมือเมื่อลูกไม่ยอมกินข้าว
เล่นอะไรให้ลูกฉลาด หมอแนะ! วิธีเล่นกับลูกตั้งแต่แรกเกิด – 5 ปี
ลูกเลียนแบบพ่อแม่ พฤติกรรมเลียนแบบของเด็กสั่งจากสมอง! หนูรู้ หนูจำได้
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ