“เก็บห้องเสียทีสิ” – “ไว้ก่อน”
“จัดโต๊ะกินข้าวได้แล้ว” – “แปปนึง”
คุณพ่อคุณแม่ของลูกวัยทวีนคงเคยปวดหัวกับพฤติกรรม “ช่างผัด” ของหนุ่มน้อยสาวน้อยประจำบ้านกันมาอย่างน้อยคนละหลายๆ ครั้ง ยิ่งถ้าเป็นตอนที่พวกแกกำลังสนุกกับเพื่อน อย่างคุยโทรศัพท์หรือแชตออนไลน์ละก็ จะเรียกให้ไปทำอะไรนั้นยากแสนยาก
ดร.คิมเบอร์ลีย์ แมคคลานาฮาน นักจิตวิทยาจากเมืองเลกซิงตัน เคนทักกี อธิบายเรื่องนี้ว่า เด็กวัยทวีนกำลังอยู่ในช่วงของการยืนยันความมีตัวตนและอำนาจในการปกครองตนเอง ดังนั้นหากต้องให้เลือกว่าจะเสียพลังงานไปกับอะไร ระหว่างบ้านอันแสนจะ “จุกจิก” กับการพูดคุยกับเพื่อนซี้ พวกแกย่อมต้องเลือกข้อหลังอย่างไม่ต้องลังเล ถ้าหากคุณอยากให้ลูกใช้ชีวิตอย่างเป็นระเบียบ คงต้องหาวิธีจัดการ
1. แบ่งงานให้เล็กลง
บางทีคำสั่งว่า “จัดห้องให้เรียบร้อย” อาจดูเป็นงานใหญ่เกินกว่าจะทำไหวจนพานให้อยาก “ผัดไว้ก่อน” อยู่เรื่อย ทางแก้ ลองคุยกับลูกแล้วแบ่งงานออกเป็นส่วนย่อยๆ เช่น วันจันทร์เป็นวันเก็บโต๊ะหนังสือ วันอังคารเป็นวันจัดตู้เสื้อผ้า ฯลฯ ลูกอาจไม่ได้ขยันขึ้นมาทันตา แต่เวลาที่คุณจี้ให้แกทำ แกก็จะอิดออดน้อยลงและลงมือทำได้ง่ายขึ้นละ
2. แบ่งเวลาให้เป็น
ตั้งกติกาประจำบ้านที่ทุกคนต้องปฏิบัติ เช่น เวลาหนึ่งทุ่มคือเวลาทานข้าว ทุกคนต้องละมือจากสิ่งที่ทำอยู่แล้วมาประจำการที่โต๊ะอาหาร และแบ่งหน้าที่กันคนละอย่าง ตกลงเป็นกติการ่วมกัน แต่อย่าลืมบรรจุเวลาสนุกที่ลูกชอบ เช่น อินเทอร์เน็ต อ่านการ์ตูน หรือคุยโทรศัพท์ลงไปด้วย หากว่าเป็นกติกาที่เด็กๆ ยอมรับมาแต่แรก เขาก็ไม่มีเหตุผลจะต้องขอต่อเวลาเพิ่ม หรือผัดผ่อนเมื่อต้องเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอย่างอื่น สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ผู้ใหญ่ทุกคนต้องทำตามกติกาเดียวกันด้วย
3. หาสาเหตุ
บางครั้งการที่เด็กๆ ไม่ยอมทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น การบ้านวิชาเลข หรือเก็บห้องให้สะอาดเรียบร้อย อาจเพราะแกรู้สึกลบกับสิ่งนั้นๆ (ทำการบ้านเลขไม่ได้ หรือโดนบ่นเรื่องห้องรกอยู่ตลอดเวลา) แทนที่จะเฝ้าไล่จี้ ลองเปลี่ยนมาถามลูกว่า ทำไมแกถึงไม่อยากทำ และช่วยกันหาทางแก้ไข
4. สร้างความเท่าเทียม
ถ้าตัวคุณเองหรือผู้ใหญ่คนอื่นในบ้านก็ชอบผัดวันประกันพรุ่งละก็ ถึงเวลาต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีแล้วละ
5. ชื่นชม
พอลูกทำตามกติกาที่ตั้งไว้ อย่าลืมเอ่ยชมเป็นกำลังใจด้วยนะ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง
ภาพ : Shutterstock