โลหิตจางในเด็ก อาการใหม่หลังโควิดเสี่ยงเสียชีวิต
เมื่อติดเชื้อโควิด-19 ความรุนแรงของโรคตอนแสดงอาการย่อมแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละคน หากเกิดขึ้นกับเด็กหลายรายที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย แต่หลังจากหายแล้ว กลับมีอาการผิดปกติต่าง ๆ เกิดขึ้น ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในอาการของ ‘ลองโควิด’ (LONG COVID) และอาการล่าสุดที่ทางแพทย์ค้นพบก็คือ โลหิตจางในเด็ก ซึ่งหากอาการรุนแรงอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ค่ะ
Long covid คืออะไร
อาการ “Long Covid” เป็นอาการผิดปกติที่มักพบได้บ่อยหลังหายจากโควิด และอาการนี้อาจยาวนานหลายเดือนอีกด้วย โดยอาการเบื้องต้นที่พบได้บ่อย คือ อาการอ่อนเพลีย ร่วมกับอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระบบอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น
- ระบบทางเดินหายใจ : ไอ เจ็บหน้าอก หายใจถี่ หายใจลำบาก
- ระบบประสาท : สมองเบลอ มึนงง ปวดหัว สมาธิสั้น มีความผิดปกติด้านการนอน
- ระบบทางเดินอาหาร : ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักลด
- ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก : ปวดตามข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
- ปัญหาทางจิตเวช : ซึมเศร้า วิตกกังวล
นอกจากนี้ ในผู้ป่วยบางรายยังอาจส่งผลต่อสุขภาพที่รุนแรงในระยะยาวยิ่งกว่า เช่น
- สมรรถภาพทางเพศ
- เพิ่มความเสี่ยงโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
- โรคสมองขาดเลือด
- โรคเบาหวาน
- ภาวะไตเสื่อม
- หรือในเด็กอาจเสี่ยงต่อภาวะ MIS-C ที่ทำให้เกิดอาการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ ทั่วทั้งร่างกายอีกด้วย
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการแพทย์ ระบุว่า ภาวะลองโควิดมักจะเริ่มมีอาการหลังหายป่วยโควิด 1-2 สัปดาห์ อาการเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1-6 เดือน และมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย รวมถึงคนเป็นโรคอ้วน และคนที่ติดเชื้อโควิดที่มีอาการมาก จะพบภาวะลองโควิดมากกว่าคนที่ติดเชื้อโควิดที่มีอาการน้อย
โลหิตจางในเด็ก อาการใหม่ลองโควิด
“หมอธีระ” รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน) ว่า
ทีมวิจัยจาก Children’s Hospital and Medical Center, Omaha ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานผู้ป่วยเด็กที่เดิมแข็งแรงดี แต่ได้ติดเชื้อโรคโควิด19 โดยไม่มีอาการ 3 ราย อายุ 5-8 ปี ทั้งเพศชายและหญิง ต่อมาเกิด“โรคโลหิตจาง” จากภาวะไขกระดูกฝ่อ (Acquired aplastic anemia) แม้จะเป็นโรคที่เกิดขึ้นไม่บ่อย แต่หากเกิดขึ้นมาแล้วจะป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้สูง
ดังนั้นหากประเทศใดมีการระบาดกว้างขวาง ไม่สามารถควบคุมการติดเชื้อได้ มีเด็กเล็กจำนวนมากที่ไม่ได้วัคซีน หรือได้รับไม่ครบ ก็ย่อมมีโอกาสเกิดผลกระทบต่างๆ ตามมา ไม่ใช่ติดโควิด19 แล้วจบที่หาย แต่ป่วยได้ตายได้ และเกิดปัญหา Long COVID ตามมาในระยะยาว Acquired aplastic anemia ก็อาจเป็นหนึ่งในนั้นได้
การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำมาค้าขาย และศึกษาเล่าเรียนได้ การใส่หน้ากากเป็นหัวใจสำคัญที่จะประคับประคองให้เราผ่านพ้นสถานการณ์ไปได้
โรคนี้จึงนับเป็นอีกอาการที่คุณพ่อุณแม่ต้องอยสังเกตลูกนะคะ
โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ
เป็นภาวะผิดปกติที่ไขกระดูกผลิตเซลล์เม็ดเลือดต่าง ๆ ได้ไม่เพียงพอ ทั้งเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น อาการอ่อนเพลีย เลือดออกง่าย หรือเกิดการติดเชื้อบ่อย เป็นต้น
สามารถเกิดได้ในทุกช่วงอายุ ทั้งเพศชายและเพศหญิง แต่จะพบได้มากในเด็กและผู้ที่อยู่ในวัยเริ่มทำงาน โดยความรุนแรงของอาการและผลการรักษาอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น สาเหตุ อายุหรือสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย เป็นต้น
อาการของโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ
ในช่วงแรก อาจไม่มีอาการ แต่จะค่อย ๆ แสดงอาการออกในภายหลังตามชนิดเซลล์เม็ดเลือดในร่างกายที่เกิดความผิดปกติ โดยอาจเกิดเพียงชั่วคราวหรือเรื้อรัง เช่น
- เซลล์เม็ดเลือดแดงต่ำ อาจส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลีย หายใจไม่อิ่ม เวียนศีรษะ ผิวซีด ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก หรือหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ
- เซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำ อาจส่งผลให้ไข้ขึ้น หรือร่างกายเกิดการติดเชื้อได้ง่าย
- เกล็ดเลือดต่ำ อาจส่งผลให้มีเลือดออกโดยไม่ทราบสาเหตุ เลือดออกง่าย เลือดกำเดาไหล เลือดออกบริเวณเหงือก หรือประจำเดือนมามากในผู้หญิง
โรคนี้มีความรุนแรงและอาจส่งผลให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ดังนั้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็ว หากพบอาการผิดปกติบางอย่าง เช่น เกิดรอยช้ำตามร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ เลือดกำเดาไหลบ่อย ๆ มีเลือดออกบริเวณเหงือก เป็นต้น เพื่อวามปลอดภัยของลูกน้อยนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก