กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันคืออะไร?
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นภาวะที่พบการเปลี่ยนแปลงการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ โดยมีการอักเสบเกิดขึ้น ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ นำไปสู่การเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน จัดเป็นโรครุนแรง ซึ่งพบได้ไม่บ่อยประมาณ 5% – 13% ไม่มีความเสี่ยงของการเกิดโรคชัดเจน อาจเกิดจากไวรัส หรือเชื้อรา
พลตำรวจตรี เลี้ยง หุยประเสริฐ พบ.,อว.(นิติเวชศาสตร์) ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ระบุไว้ว่า การออกแรงกับอุณหภูมิเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับโรคหัวใจ การออกแรงอย่างมากและอุณหภูมิหนาวจัดหรือร้อนจัดทำให้หัวใจขาดเลือด การออกแรงทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นกล้ามเนื้อหัวใจต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น เส้นเลือดเลี้ยงหัวใจไม่สามารถขยายตัวส่งเลือดได้พอทำให้ตาย นอกจากนั้นสารฮอร์โมนอะดรีนาลินที่หลั่งออกมาระหว่างออกแรงจะช่วยทำให้หัวใจ เต้นผิดจังหวะด้วย
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเกิดจากอะไร?
1.เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจได้รับบาดเจ็บจากเชื้อโรคหรือสารพิษ เช่น โคเคน ยาเคมีบำบัด การฉายรังสี เป็นต้น
2.เกิดจากการติดเชื้อ ทำให้เกิดการอักเสบ ทำลายกล้ามเนื้อหัวใจ จนเสียหาย และกล้ามเนื้อหัวใจตายได้
3.เกิดจากเชื้อไวรัส เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ก่อให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น หวัดใหญ่ โรคหัด เป็นต้น
4.แพ้พิษสัตว์ต่างๆ เช่น งู ผึ้ง แมงป่อง และแมงมุม หรืออาจเกิดจากการแพ้ยา หรือได้รับสารพิษบางอย่าง
อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน
อาการจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน ตั้งแต่เป็นหวัด หรือไข้หวัดใหญ่ ไปจนถึงน้ำท่วมปอดรุนแรง โดยมีอาการคือ มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาเจียน ท้องเสีย อ่อนเพลีย หมดเรี่ยวแรง เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นช้า หายใจลำบาก หมดสติ หรือภาวะแทรกซ้อนจนหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
การป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลว
1.จำกัดอาหารเค็ม เพื่อลดปริมาณเกลือโซเดียมในเลือดซึ่งจะส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง
2.กินยาขับน้ำ หรือขับเกลือโซเดียม
3.รักษาควบคุมโรคเรื้อรังต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดโรคของหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง
4.ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดโรคอ้วน และน้ำหนักตัวเกิน
5.กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบในทุกวัน จำกัดอาหารไขมัน แป้งและน้ำตาล แต่เพิ่มผัก ผลไม้มากๆ
6.ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน
7.กินยาต่างๆ ที่แพทย์แนะนำให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
8.รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่แข็งแรง ลดความเครียด
9.ประคับประคองอาการ เช่น กินยาลดไข้ ยาแก้ปวด เมื่อมีไข้ หรือปวด ให้ออกซิเจนเมื่อขาดออกซิเจน
เครดิต: ข่าวสด, เดลินิวส์, โรงพยาบาลพญาไท, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์ วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์, พลตำรวจตรี เลี้ยง หุยประเสริฐ พบ.,อว.(นิติเวชศาสตร์) ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ