เช็ค 9 สัญญาณ ลูกน้อยติดไข้เลือดออก
ไข้เลือดออกเป็นโรคที่มีการระบาดเกือบทั้งปี บ้านไหนที่มีเด็กเล็ก ต้องระมัดระวัง ลูกน้อยติดไข้เลือดออก เป็นพิเศษ เพราะน้ำขังตามภาชนะต่าง ๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะนำโรค อาการของเด็กอาจมีตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนถึงเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
โรคไข้เลือดออก
ไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue) มี 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 แต่ละสายพันธุ์มีระดับความรุนแรงของโรคต่างกันไป หากเป็นไข้เลือดออกจากเชื้อสายพันธุ์ไหนแล้ว จะไม่เป็นสายพันธุ์นั้นอีก แต่สามารถกลับมาเป็นโรคไข้เลือดออกในสายพันธุ์อื่น ๆ แทน
การติดต่อนั้นจะมียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยยุงลายจะออกหากินกัดคนในเวลากลางวัน เมื่อยุงลายตัวเมียดูดเลือดจากผู้ป่วยที่มีเชื้อเดงกี่เข้าไป เชื้อไวรัสเดงกี่ในยุงจะเพิ่มจำนวน และกระจายเชื้อเข้าไปสู่ต่อมน้ำลายของยุง เตรียมพร้อมที่จะปล่อยเชื้อให้กับคนที่ถูกกัดครั้งต่อไปได้ตลอดอายุของยุง ซึ่งอยู่ได้นาน 1-2 เดือน
กลุ่มเสี่ยงต่อการป่วย
- กลุ่มเด็กวัยเรียน อายุ 5 – 14 ปี
ระยะอาการของไข้เลือดออก
สำหรับอาการของคนเป็นไข้เลือดออก มักจะแสดงออกหลังจากได้รับเชื้อแล้วประมาณ 5-8 วัน ถ้าเป็นการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ครั้งแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อครั้งที่สอง อาจมีอาการรุนแรงเกิดเป็นภาวะไข้เลือดออกได้ โดยอาการของโรคแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
1. ระยะไข้สูง เมื่อเริ่มเป็นจะมีไข้สูงถึง 38-40 องศาเซลเซียส แม้กินยาลดไข้ หรือเช็ดตัวแล้วไข้ก็ยังไม่ลด อยู่ 2-7 วัน ตาและใบหน้า มักจะแดงกว่าปกติ เบื่ออาหารและมีอาการซึม บางคนอาจมีผื่นขึ้น หรือพบว่ามีจุดเลือดออกขึ้นตามลำตัว แขน ขา
2. ระยะวิกฤติ จะเกิดประมาณวันที่ 3-6 หลังจากระยะไข้สูงระยะหนึ่งแล้ว ไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว แต่อาการทั่วไปจะดูเพลียมากขึ้น รวมถึงมีอาการปวดท้อง ท้องอืด เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน อาจมีอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ ในกรณีที่รุนแรงมาก มือเท้าเย็น ปัสสาวะออกน้อย ผู้ป่วยอาจเกิดอาการช็อกได้ ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
3. ระยะฟื้นตัว เป็นระยะหลังไข้ลงโดยไม่มีอาการช็อก โดยเกล็ดเลือดจะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ชีพจรและความดันโลหิตเริ่มคงที่ดีขึ้น อาการทั่วไปจะดีขึ้น เริ่มอยากอาหาร ปัสสาวะออกมากขึ้น มีผื่นแดงคันตามตัว
9 สัญญาณ ลูกน้อยติดไข้เลือดออก
หากมีอาการเหล่านี้ แม้ว่าไข้เริ่มจะลดลงแล้ว ก็ควรต้องไปพบแพทย์ทันที
- ไข้ลง หรือไข้ลดลง แต่อาการแย่ลง ยังเบื่ออาหาร ไม่ค่อยเล่น และอ่อนเพลีย
- คลื่นไส้ อาเจียน ตลอดเวลา
- ปวดท้องมาก
- มีเลือดออกมาก เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ
- พฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนไปจากปกติ
- กระหายน้ำตลอดเวลา
- ร้องกวนมากในเด็กเล็ก
- ตัวเย็น สีผิวคล้ำลง หรือตัวลาย
- ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ถ่ายปัสสาวะนานเกิน 4- 6 ชั่วโมง
การตรวจวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก
นอกจากซักประวัติอาการ และอาการแสดงแล้ว จะมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการมาช่วยในการวินิจฉัยโรคด้วย เช่น ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) เพื่อหาความผิดปกติเม็ดเลือดขาว ความเข้มข้นเลือดและจำนวนเกล็ดเลือด นอกจากนี้ยังมีการตรวจหาไวรัสเดงกี่ด้วยวิธี PCR, การตรวจหา NS1 แอนติเจนของไวรัสซึ่งควรตรวจ ในช่วงวันแรกๆ ของไข้ การตรวจดูภูมิคุ้มกัน (แอนตีบอดีย์) ต่อเชื้อไวรัสเดงกี่ มักจะขึ้นหลังมีไข้ 4-5 วัน ปัจจุบันมี Rapid test ซึ่ง อ่านผลเร็วใน 10-15 นาที
ลูกน้อยติดไข้เลือดออก ดูแลรักษาอย่างไร
ปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสสำหรับโรคไข้เลือดออก การรักษาจึงเป็นไปตามอาการ
- มีไข้ให้เช็ดตัว
- รับประทานยาพาราเซตามอลลดไข้เท่านั้น ห้ามใช้แอสไพริน ไอบูโพรเฟน
- เฝ้าสังเกตอาการช็อกหลังจากไข้ลดลง
- ถ้าลูกรับประทานอาหารได้น้อย อาจให้ดื่มนม น้ำผลไม้ หรือน้ำเกลือแร่ร่วมด้วย
ป้องกันไข้เลือดออกในเด็กได้อย่างไร
สามารถป้องกันได้ โดย
- ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ใกล้แหล่งที่อยู่อาศัยอย่างสม่ำเสมอ เช่น แหล่งน้ำขังในบ้าน
- ป้องกันตัวเองและบุตรหลานไม่ให้ยุงกัด ด้วยการนอนในมุ้ง ทายากันยุง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ
- การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกในเด็ก
- ไปพบแพทย์เมื่อป่วยเป็นไข้ ควรติดตามอาการ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ดีต่อเด็กอย่างไร
การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเด็งกี่ สามารถป้องกันเชื้อไวรัสเด็งกี่ได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ ฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 9 ปี จนถึงผู้ใหญ่อายุ 45 ปี แบ่งการฉีดเป็น 3 เข็ม ระยะห่างกัน 6 เดือน (0, 6, 12 เดือน) มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ 65% ลดความรุนแรงของอาการเลือดออกได้ 93% และลดอัตราการนอนโรงพยาบาลได้ 80% โดยประมาณ แนะนำให้ฉีดป้องกันในผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสเดงกี่มาก่อน จะเป็นการเสริมภูมิป้องกันได้ดียิ่งขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก
โรงพยาบาลนครธน, โรงพยาบาลพญาไท
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เช็กเลย! อาการ โอมิครอน ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ต่างกันอย่างไร