ก่อนอื่น เราต้องรู้ถึงอัตราการเจริญเติบโต ของเด็กโดยทั่วไปก่อนค่ะ ว่าลูกของเราเข้าเกณฑ์การเจริญที่ปกติหรือไม่ ทำง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ คุณพ่อคุณแม่สามารถหยิบสมุดวัคซีน และสมุดพกของลูกมาดูกราฟการเจริญเติบโตได้ว่าความสูงและน้ำหนักของลูกตกเกณฑ์หรือไม่ โดยอัตราการเจริญเติบโตของเด็ก ๆ จะเป็นตามตารางข้างล่างนี้ค่ะ
ตารางที่ 1 อัตราการเจริญเติบโตปกติ
ช่วงอายุ | อัตราการเพิ่มความสูง (ซ.ม.)ต่อปี |
แรกเกิด – 1 ปี | 23 – 27 |
อายุ 1 – 2 ปี | 10 – 12 |
อายุ 2 – 4 ปี | 6 – 7 |
ก่อนเข้าวัยรุ่น | 4 – 5.5 |
ช่วงเข้าวัยรุ่น 2 ปีแรก | |
เด็กหญิง | 7 – 10 |
เด็กชาย | 8 – 12 |
เด็ก ๆ จะมีความสูงตามตาราง จนเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น จะมีช่วงที่มีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว (Pubertal growth spurt) เป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี และเด็กหญิงจะหยุดการเจริญเติบโต เมื่ออายุประมาณ 14 – 16 ปี หรืออายุกระดูก 18 ปีส่วนเด็กผู้ชายจะหยุดการเจริญเติบโต เมื่ออายุประมาณ 16-18 ปี หรือ มีเสียงแตกมาแล้วประมาณ 4 ปี
ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโต
- ความสูงของพ่อแม่ (กรรมพันธุ์) พ่อแม่สูงลูกย่อมสูงกว่าเด็กที่ พ่อแม่ตัวเล็กค่ะ
- ภาวะโภชนาการ การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และสมดุล
- การออกกำลังกาย เพื่อการพัฒนาของกระดูกและกล้ามเนื้อ อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- สุขภาพร่างกาย การมีโรคประจำตัว เช่นโรคหัวใจ หรือ โรคปอดเรื้อรัง ภูมิแพ้เรื้อรัง จะมีผลต่อการเจริญเติบโต
- ฮอร์โมน เพราะฮอร์โมนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตค่ะ เช่น ฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth Hormone) ,ฮอร์โมนไทรอยด์ (Thyroid Hormone),ฮอร์โมน (Sex Hormone),ฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid hormone)
ความสูงของพ่อและแม่ เราสามารถประเมินได้ว่าลูกของเราจะสูงได้ประมาณเท่าไร โดยคิดสูตรดังนี้ค่ะ
นำความสูงของคุณพ่อเป็นเซนติเมตรกับความสูงของคุณแม่เป็นเซนติเมตรมาบวกกัน
- 1 ถ้าเป็นเด็กชายให้เอา 13 มาบวกเพิ่ม แล้วนำผลลัพธ์ที่ได้มาหารด้วย 2 จะได้ความสูงสุดท้ายที่ควรจะเป็น เป็นเซนติเมตรของเด็กชาย ความเป็นไปได้ของความสูงสุดท้ายจะอยู่ในช่วง+- 10 เซนติเมตร
- 2 ถ้าเป็นเด็กหญิงให้เอา 13 มาลบออก แล้วนำผลลัพธ์ที่ได้มาหารด้วย 2 จะได้ความสูงสุดท้ายที่ควรจะเป็น เป็นเซนติเมตรของเด็กหญิง ความเป็นไปได้ของความสูงสุดท้ายจะอยู่ในช่วง+- 9 เซนติเมตร