กุมารแพทย์ห่วง กัญชา ! กระทบสมองเด็กและวัยรุ่น - Amarin Baby & Kids
กัญชา

กุมารแพทย์ห่วง กัญชา ! กระทบสมองเด็กและวัยรุ่น

Alternative Textaccount_circle
event
กัญชา
กัญชา

กุมารแพทย์ห่วง กัญชา ! กระทบสมองเด็กและวัยรุ่น

ในช่วงนี้ไม่มีเรื่องใดร้อนแรงไปกว่าการประกาศยกเว้น กัญชา จากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 สามารถนำกัญชามาใช้ได้อย่างเสรี หากนำไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ เหมาะสม ก็เป็นเรื่องดีค่ะคุณพ่อคุณแม่ แต่หากตกมาถึงมือเด็ก ๆ ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่ม ขนม หรืออาหาร หากรับในปริมาณมากไป จะส่งผลกระทบต่อสมองได้ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ห่วงเสรี กัญชา ส่งผลกระทบต่อเด็ก

หลังจากการประกาศเสรีกัญชา ทางราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์จุดยืนของราชวิทยาลัย เรื่อง ‘ผลกระทบของกฎหมายกัญชาเสรีต่อสุขภาพเด็กและวัยรุ่น’ แสดงความกังวลจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ประกาศยกเว้น ‘กัญชา’ จากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนทุกคนในประเทศไทย รวมถึงกลุ่มเปราะบางคือเด็กและวัยรุ่น เข้าถึงกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย จากการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา รวมถึงการนำกัญชาซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์เสพติดมาใช้เพื่อนันทนาการ

พบผู้ป่วยจิตเวชจากกัญชาเข้าบำบัดมากที่สุด

นพ.ล่ำซำ ลักขณาภิชนชัช รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและการแพทย์ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ให้ข้อมูลไว้ว่า จากการสำรวจล่าสุดพบว่า

ผู้ป่วยที่เข้ามารับการบำบัดจากกัญชาพบมากที่สุด และมีอาการทางจิตรุนแรง เพราะผู้ที่สูบกัญชากว่าจะแสดงอาการรุนแรงใช้ระยะเวลานานกว่ายาบ้าหรือไอซ์ จึงเข้าสู่กระบวนการบำบัดช้ากว่าที่ควรจะเป็น จะเป็นอาการหลอน หูแว่ว หลงผิด หวาดระแวง และทำร้ายผู้อื่น ปี 2563 มีผู้ป่วยจิตเวชจากกัญชา 18% ปี 2564 ข้อมูล ณ ปัจจุบันเพิ่มเป็น 28% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น…

นอกจากนี้นายแพทย์ล่ำซำยังกล่าวอีกว่า

“…กรณีผู้ป่วยต้องการใช้กัญชารักษาโรคต้องปรึกษาแพทย์ การนำมาประกอบอาหารโดยใช้ใบ แม้มีสารมึนเมาต่ำ แต่ปัญหาที่น่ากลัวส่งผลแง่ลบ โดยเฉพาะเยาวชนอาจทดลองใช้เป็นสารเสพติด อีกข้อห่วงใย ใช้กัญชาเพื่อความมึนเมาแล้วไปขับรถ ในต่างประเทศมีสถิติอุบัติเหตุจราจรจากเมากัญชาสูง ไทยยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลชัดเจน มีข้อแนะนำว่า ถ้าเสพกัญชาขอเวลา 6 ชั่วโมง ให้สร่างเมาแล้วค่อยขับ ยิ่งถ้าดื่มแอลกอฮอล์แล้วสูบกัญชา ยิ่งห้ามดื่ม…”

กัญชา
กัญชา ! กระทบสมองเด็กและวัยรุ่น

นำกัญชามาเป็นส่วนผสมในอาหารมากขึ้น

รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) กล่าวว่า ขณะนี้กระแสการกินกัญชาและนำมาเป็นส่วนผสมในอาหารใช้บริโภคมีมากขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น อยากทำความเข้าใจว่า การนำกัญชามาเป็นส่วนผสมปรุงในอาหารจะออกฤทธิ์ช้ากว่าการสูบ เนื่องจากปริมาณที่อนุญาตให้มีส่วนสารมึนเมาน้อย กว่าจะออกฤทธิ์ใช้เวลานาน ทำให้ผู้ที่บริโภคในครั้งแรกบางครั้งไม่ได้รู้สึกถึงความเคลิบเคลิ้ม หรือความสุขอย่างที่คิด จึงบริโภคซ้ำไปอีกต่อเนื่อง เมื่อสะสมเรื่อยๆ จะกลายเป็นกินในปริมาณมากเกินไป

ดังนั้น ก่อนที่จะกินอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา ควรต้องรู้ว่า

  • ร้านดังกล่าวได้รับอนุญาตถูกต้องหรือไม่
  • นำกัญชามาจากที่ใด เพราะแต่ละสายพันธุ์มีสารเมาไม่เท่ากัน
  • กระบวนการปรุงอาหารแต่ละอย่างอาจทำให้สารเมาออกมาไม่เท่ากัน

ใน กัญชา มีสารอะไร

ในพืชกัญชามีสารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) หลายชนิด แบ่งเป็น
  • สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท(psychoactive) ที่สำคัญ ได้แก่ THC (delta-9-/delta-8 tetrahydrocannabinol ซึ่งนำมาใช้ในทางการแพทย์เช่นกัน เช่น ในการรักษาประคับประคองของมะเร็งระยะสุดท้าย
  • สารไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท (Non-Psychoactive) ที่สำคัญ ได้แก่ แคนนาบินอยด์ (Cannabidiol-CBD) ซึ่งในทางการแพทย์มีการนำมาใช้รักษาโรคลมชักชนิดดื้อยากันชัก

ผลที่จะเกิดหากเด็กได้รับสารจากกัญชา

หากมีการนำกัญชา หรือสารสกัดกัญชามาใช้เป็นส่วนผสมของอาหาร หรือการแปรรูปต่าง ๆ หรือให้มีการใช้กัญชาได้อย่างเสรีโดยไม่มีกฎหมายควบคุม ประชาชนก็จะมีโอกาสได้รับสารแคนนาบินอยด์เหล่านั้นเข้าไป จนอาจจะมีผลกระทบที่รุนแรง โดยเฉพาะผลกระทบต่อสมองของเด็กและวัยรุ่น ส่งผลเสียต่อสุขภาพกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเช่น
  • ถ้ากินอาหารที่ผสมกัญชาแล้วมีอาการเคลิ้มสูง นอนไม่หลับ พูดเยอะกว่าปกติ คือเมาน้อย แสดงว่าได้รับผลทางจิตประสาทจากสารเมา
  • นอกจากนี้ เด็กยังได้รับผลกระทบจากกัญชาจากการรักษาทางการแพทย์ อาการส่วนใหญ่จะเนือยนิ่ง อ่อนแรง เดินเซ ใจสั่น ม่านตาขยาย
  • พัฒนาการล่าช้า
  • ปัญหาพฤติกรรม
  • เชาวน์ปัญญาลดลง
  • ส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจ เช่น มีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคจิตเภท ภาวะฆ่าตัวตาย เสี่ยงต่อการติดสารเสพติดชนิดอื่นๆ

คำแนะนำเพื่อป้องกันผลที่จะเกิดกับเด็ก

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารประสาทวิทยา (ประเทศไทย) ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย และ ชมรมพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กแห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือกัน และได้มีคำแนะนำ เพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดจากกัญชาต่อเด็กและวัยรุ่น ดังนี้ค่ะ
1. เด็กที่อายุน้อยกว่า 20 ปีไม่ควรเข้าถึงและบริโภคกัญชา เนื่องจากสมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ และกัญชามีสาร THC ที่มีผลต่อสมองเด็กในระยะยาว ดังนั้นเด็กจึงไม่ควรได้รับ THC ยกเว้นกรณีมีความจำเป็นทางการแพทย์เช่น ประกอบการรักษาประคับประคองผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย โรคลมชักรักษายาก ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด
2. ให้มีการประชาสัมพันธ์กับประชาชนเรื่องโทษของการใช้กัญชากับสมองเด็ก เพื่อให้เกิดความตระหนักต่อการเข้าถึงกัญชาในเด็กและวัยรุ่นเพื่อนันทนาการว่า กัญชาเป็นสารที่มีฤทธิ์เสพติด ส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตในระยะเฉียบพลัน และอาจรุนแรงถึงกับชีวิตได้ รวมถึงมีผลกระทบในระยะยาวต่อสมอง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการทำงานของสมองที่กำลังพัฒนา
3. ให้มีมาตรการควบคุม การผลิต และขายอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาผสม และให้มีเครื่องหมาย/ข้อความเตือนอย่างชัดเจนเพื่อป้องกันการใช้ในเด็กและวัยรุ่น โดยระบุ ‘ห้ามเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริโภค’
4. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์ ควบคุมไม่ให้มีการจงใจออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม เช่น ภาพการ์ตูน หรือใช้คำพูดสื่อไปในทางให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นอาหารหรือขนมที่เด็กและวัยรุ่นบริโภคได้
5. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามผลกระทบของกัญชาต่อเด็กอย่างต่อเนื่อง และจริงจังหลังจากใช้กฎหมายกัญชาเสรี

ขอบคุณข้อมูลจาก

The Momentum, ไทยโพสต์

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ไขข้อข้องใจ!! คนท้องกินน้ำกระท่อมได้ไหม ?

พ่อแม่ระวังให้ลูกกิน ชานมไข่มุก อันตรายกว่าที่คิด

เลี้ยงลูกให้สุขภาพดี อย่ามีขนมห่อในบ้าน (เยอะนัก) โดยพ่อเอก

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up