คุณรู้หรือไม่ “คุณพ่อคุณแม่จำนวนไม่น้อย ยังเข้าใจผิดเรื่องการส่งเสริมความสูงของลูก โดยเฉพาะกลุ่มที่เห็นลูกมีแววเป็นนักกีฬา อยากให้ลูกสูง เพราะความสูงเป็นปัจจัยสำคัญของหลายๆ ชนิดกีฬา จึงส่งเสริมด้วยการให้ฝึกซ้อมอย่างเข้มข้น หรือ Overtraining โดยที่พ่อแม่มักจะลืมไปว่าร่างกายของเด็กต่างจากผู้ใหญ่ และผลที่ได้มักจะตรงกันข้าม”
นี่คือข้อสังเกตจาก คุณหมอประวีร์ สิริเธียรทรรศน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และแพทย์ประจำสโมสรฟุตบอลลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ซึ่งได้ดูแลนักกีฬาจำนวนมากอย่างใกล้ชิด จึงอยากฝากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องการฝึกซ้อมกีฬาที่มีผลต่อความสูงของเด็กๆ มาบอกคุณพ่อคุณแม่กันค่ะ
Overtraining คืออะไร
Overtraining คือการฝึกซ้อมที่หนักเกินไป ทำให้ร่างกายเด็กยิ่งอ่อนแอลง มีส่วนกระทบต่อช่วงเวลาการเติบโตของเด็กและส่งผลให้กระดูกหยุดเติบโตเร็วกว่าที่ควร กลายเป็นผู้ใหญ่ที่เตี้ย “เด็กบางคนที่เป็นนักกีฬาหรือหวังจะเอาดีทางนี้ มีตารางการซ้อมทั้งเช้า เย็น บางคนกว่าจะได้กลับบ้านทำการบ้าน ได้เข้านอนก็เที่ยงคืน และต้องรีบตื่นแต่เช้ามาซ้อมต่อ ทำให้พักผ่อนได้ไม่เพียงพอแทนที่ลูกจะสูง เขากลับไม่สูง”
เกิดจากความเข้าใจผิด
การฝึกนักกีฬาเด็กกับนักกีฬาผู้ใหญ่นั้นต่างกันสิ้นเชิง “ในต่างประเทศจะไม่เร่งให้นักกีฬาเป็นแชมป์ตั้งแต่เด็ก เพราะรู้ว่าเด็กจะต้องฝึกซ้อมหนักเกินไป ต่อไปก็จะไม่สูง ซึ่งมีผลต่อการอาชีพนักกีฬาอยู่แล้ว แต่เขาจะยืดระยะเวลาเพื่อให้กระดูกโตเต็มที่ แล้วค่อยๆ ไปเพิ่มการฝึกเมื่อโตขึ้นหรือถึงเวลาที่เหมาะสม พูดง่ายๆ ว่าเขาหวังเป็นแชมป์เมื่อโต แต่บ้านเราคิดกลับกัน”
อยากให้ลูกสูงควรทำอย่างไร
“ความสูงของเด็กเป็นเรื่องที่มีหลายปัจจัยเป็นตัวกำหนดจากทั้งพันธุกรรมและปัจจัยแวดล้อม ส่วนของพันธุกรรมนั้น ทำอะไรไม่ได้ ถึงจะรู้พ่อสูงเท่านี้ แม่สูงเท่านี้ เราเพียงคาดการณ์ว่าลูกจะสูงเท่าใด แต่ก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จและผลแม่นยำ
“ สิ่งที่พ่อแม่ทำได้และควรทำอย่างเข้าใจคือ ปัจจัยแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของโภชนาการและการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ถ้าทำได้เหมาะสมจะส่งผลต่อระบบฮอร์โมนต่างๆ ที่ส่งเสริมการเจริญเติบโต ลูกจะสูงเท่าที่เขาจะสูงได้ครับ”
จากคอลัมน์ Kid Smart นิตยสารเรียลพาเรนตื้ง ฉบับเดือนสิงหาคม 2558
เรื่องโดย ผศ.ดร นพ.ประวีร์ สิริเธียรทรรศน์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์ Royal Life โรงพยาบาลกรุงเทพ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา
ภาพโดย shutterstock