โรคต่อมไร้ท่อในเด็ก มีอะไรบ้าง?
ต่อมไร้ท่อ นั้นกระจายอยู่ไปทั่วร่างกาย เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมพาราไทรอยด์/ต่อมเคียง ไทรอยด์ ที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของแคลเซียม, ฮอร์โมนเจริญเติบโต เป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากต่อมใต้สมอง หากต่อมใต้สมองไม่ผลิตฮอร์โมนเจริญเติบโตก็จะทำให้อัตราการเจริญเติบโตของเด็กต่ำกว่าที่ควรจะเป็น, ฮอร์โมนไทรอยด์ เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมไทรอยด์มีหน้าที่ในกระบวนการเมตาบอลิซึมของร่างกาย ทำให้มีการเจริญเติบโตของกระดูกกล้ามเนื้อและเซลอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย หากต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติไป ก็จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของลูกได้ค่ะ ซึ่ง โรคต่อมไร้ท่อในเด็ก มีหลายโรคดังนี้ค่ะ
โรคต่อมไร้ท่อในเด็ก มีอะไรบ้าง?
มีหลายอาการ เช่น เด็กกินจุ แต่น้ำหนักลด ซึ่งเป็นอาการหนึ่งของ ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis) ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นหนุ่มสาวก่อนวัย (Precorcious puberty) เบาหวานชนิดที่ 1 เบาหวานชนิดที่ 2 ภาวะตัวเตี้ย เป็นต้นค่ะ
ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ อาการหนึ่งของ โรคต่อมไร้ท่อในเด็ก
เด็กกินจุ แต่น้ำหนักลด อาการหนึ่งของภาวะไทยรอยด์เป็นพิษค่ะ
อาการ
คอโต เหนื่อยง่าย ใจสั่น กินจุแต่น้ำหนักลด บางรายท้องเสีย ถ่ายบ่อย หงุดหงิดง่าย ขี้ร้อน ใจสั่น เหงื่อออกง่าย ตาโปน ประจำเดือนมาผิดปกติ พบบ่อยช่วงวัยรุ่น เด็กผู้หญิงเจอมากกว่าเด็กผู้ชาย
สาเหตุ
ที่พบได้บ่อย คือโรค Graves disease
การรักษา
ลำดับแรกคือการรักษาด้วยยากิน บางรายใช้ยากินแล้วไม่ตอบสนองหรือมีอาการแพ้ยา อาจต้องเลือกการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การกลืนแร่ หรือการผ่าตัด
ภาวะนี้หากไม่ได้รับการรักษา หรือรับการรักษาช้า อาจทำให้มีอาการรุนแรง ถึงขั้นหัวใจวาย หัวใจเต้นผิดปกติ ต้องเข้ารับการรักษาใน ICU ได้
ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism)
เป็นภาวะที่พบได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิด ทำให้เด็กเป็นโรคเอ๋อ หรือเป็นภาวะที่เกิดขึ้นในภายหลังก็ได้ คือพบได้ทุกวัย
- ในเด็กแรกเกิด อาจพบมีอาการตัวเหลือง บวม ดูดนมได้ไม่ดี ท้องผูก ถ่ายขี้เทาช้ากว่าปกติ กระหม่อมปิดช้า สะดือหลุดช้า พัฒนาการล่าช้าทั้งสติปัญญาความสูง และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
- ในเด็กโต จะพบอาการ ส่วนสูงตกเกณฑ์ ท้องผูก คอโต สติปัญญาไม่ดี เรียนหนังสือไม่ทันเพื่อน
การรักษา รักษาได้ด้วยการกินยาไทรอยด์ฮอร์โมน ก็จะช่วยอาการดีขึ้น ส่วนสูงดีขึ้น
เป็นหนุ่มสาวก่อนวัย (Precorcious puberty)
คือ สภาวะที่เด็กเข้าวัยหนุ่มสาวเร็วกว่าปกติ พบได้ทั้งในเด็กหญิงและชาย โดยจะพบในเด็กหญิงมากกว่าเด็กชายประมาณ 8-20 เท่า คุณพ่อคุณแม่จำเป็นที่จะต้องหมั่นสังเกตถึงความผิดปกติที่แอบแฝงอยู่ เพื่อให้ลูกมีการเจริญเติบโตตามวัยอย่างเหมาะสม
เด็กผู้หญิง
ที่เป็นสาวเร็ว จะพบมีอาการดังต่อไปนี้ก่อนอายุ 8 ปี มีเต้านมขึ้น มีสิว มีกลิ่นตัว มีขนรักแร้ มีขนบริเวณหัวหน่าวหรืออวัยวะเพศ ตัวสูงเร็วกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน หรือบางคนมีประจำเดือนก่อนอายุ 91/2 ปี
สาเหตุ
ที่พบบ่อยในเด็กผู้หญิงคือไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด หรือบางรายได้รับฮอร์โมนปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อมหรืออาหาร บางรายเกิดจากภาวะเนื้องอกบางชนิด
เด็กผู้ชาย
ที่เป็นหนุ่มเร็ว จะพบมีอาการดังต่อไปนี้ก่อนอายุ 9 ปี มีอวัยวะเพศขยายขนาด มีสิว มีขนรักแร้ มีขนบริเวณหัวหน่าวหรืออวัยวะเพศ เสียงแตก
สาเหตุ
ที่พบบ่อยในเด็กผู้ชาย คือ เนื้องอกในต่อมใต้สมอง
ผลกระทบหรือผลเสียของการหนุ่มสาวก่อนวัย
- ผลต่อร่างกาย จะทำให้หยุดสูงเร็ว หรือตัวเตี้ยเมื่อเป็นผู้ใหญ่
- ผลต่อจิตใจ โดยเฉพาะในเด็กผู้หญิงที่ยังไม่มีความพร้อม ในการดูแลตนเองเมื่อมีประจำเดือน
การรักษา
สามารถรักษาได้โดยการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ แบบเดือนละ 1 ครั้ง หรือ สามเดือนฉีด 1 ครั้ง เพื่อชะลอไม่ให้กระดูกล้ำหน้าไปกว่าอายุกระดูกจริง และไม่ให้หยุดสูงเร็ว หรือป้องกันไม่ให้กระดูกปิดเร็ว หยุดการมีประจำเดือนได้
เบาหวานชนิดที่ 1
เป็นโรคเบาหวานที่พบได้บ่อยในเด็กและวัยรุ่น และพบได้มากกว่าเบาหวานชนิดที่ 2
เบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากร่างกายมีสารภูมิคุ้มกันของตนเองไปทำลายเซลล์ที่สร้างอินซูลินในตับอ่อน เด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 จะพบมีอาการ ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย น้ำหนักตัวลด ถ้ามารักษาช้า ปล่อยจนอาการหนัก เด็กจะเริ่มอ่อนเพลีย ซึมลง หายใจหอบลึก ปวดท้อง หากไม่ได้รับการรักษา อาจเกิดภาวะช็อค และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้
การรักษา
เบาหวานชนิดนี้ต้องรักษาด้วยการฉีดอินซูลิน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เด็กและครอบครัวจะต้องได้รับความรู้เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในการเลือกกินอาหารที่ถูกต้อง การนับสัดส่วนอาหาร การฉีดอินซูลิน การตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเอง และ การสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ที่จะนำไปสู่ ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำเกินไป
เบาหวานชนิดที่ 2
เด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ส่วนใหญ่ จะมีลักษณะอ้วน คอดำ ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย พบได้บ่อยในช่วงที่เข้าสู่วัยรุ่น บางรายอาจมีประวัติเสี่ยงตั้งแต่แรกเกิด คือ น้ำหนักตัวแรกเกิดน้อยกว่า 2500 กรัม หรือมากกว่า 4000 กรัม มารดาเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
เบาหวานชนิดนี้เกิดจาก ร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน รักษาได้ด้วยการกินยาร่วมกับควบคุมอาหารและออกกำลังกาย บางรายมารักษาช้า หรือมีอาการเป็นมาก อาจต้องรักษาด้วยวิธีการฉีดยาควบคู่ไปด้วย
ตัวเตี้ย
ภาวะตัวเตี้ยในเด็กหมายถึง เด็กที่มีส่วนสูงน้อยกว่า เปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 3 ตามเกณฑ์ของเพศและอายุ
โดยทั่วไปการเจริญเติบโตปกติของเด็กจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ
- ช่วงแรกเกิด (อายุ 0-2 ขวบ) การเจริญเติบโตจะอยู่ระหว่าง 30-35 ซม.
- ช่วงวัยเด็ก อัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ประมาณ 5-7 ซม./ปี
- ช่วงวัยรุ่น/วัยเจริญพันธุ์ อัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ 8-14ซม./ปี
พ่อแม่มีหน้าที่ช่วยสังเกตถึงความผิดปกติทางร่างกาย ควรติดตามชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูงของลูกทุกๆ 3-6 เดือน และควรจดบันทึกการเจริญเติบโตของลูกลงในสมุดบันทึกสุขภาพ เพื่อติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของลูกว่าเพิ่มขึ้นตามวัยหรือไม่เพราะโรคเตี้ยอาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะซ่อนเร้นบางอย่างที่ต้องการการรักษาอย่างทันท่วงที
สาเหตุ
- ตัวเตี้ยที่ไม่มีโรคเป็นสาเหตุ ได้แก่ ตัวเตี้ยตามกรรมพันธ์ หรือ เป็นม้าตีนปลาย
- ตัวเตี้ยที่มีโรคเป็นสาเหตุ ได้แก่ ขาดสารอาหาร เป็นโรคเรื้อรังต่างๆ ขาดฮอร์โมนไทรอยด์ หรือขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต โรคกระดูกอ่อน โรคทางพันธุกรรม และอื่นๆ
หากสังเกตว่าเด็กมีภาวะตัวเตี้ย ควรพามาพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุ โดยการตรวจเลือด เอกซเรย์ดูอายุกระดูก และรีบให้การรักษาตามสาเหตุ
โรคจากต่อมไร้ท่อนี้มีมากมายหลายอาการนะคะ หากลูกมีอาการผิดปกติคุณพ่อคุณแม่ควรพาพบแพทย์เพื่อรักษาตามอาการเพื่อให้มีสุขภาพดี มีความปกติทางการเจริญเติบโตค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์ ,โรงพยาบาลศิครินทร์,โรงพยาบาลธนบุรี 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก