ถ้าล้อกันเล่นเป็นครั้งคราว แม่ก็ไม่ว่าหรอก แต่นี่หนูใช้มุกนี้บ่อยจนพี่น้องกับเพื่อนๆ งอนป่องไปหมดแล้ว เอ…หรือว่าจริงๆ แล้วตั้งใจ
บางครั้งเด็กวัยก่อนวัยรุ่นก็ฉลาดพอจะเลือกใช้คำว่า ล้อเล่น เวลาที่เผลอตีเพื่อนหรือพูดอะไรแรงไปหน่อย เด็กๆ คิดว่าการกลบเกลื่อนด้วยมุกตลกจะช่วยให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกดีขึ้น แล้วตัวเขาก็จะหลุดจากฐานะจำเลยโดยสวัสดิภาพ แต่จริงๆ แล้วเรื่องมันไม่ง่ายอย่างนั้นเสมอไปหรอก แถมจะกลายเป็นนิสัยที่ไม่ดีติดตัวไปด้วย ถ้าอยากให้ลูกเลิกเล่นมุกตลกร้าย ลองขั้นตอนเหล่านี้ดู
1. สอบถาม ชวนลูกมานั่งเคลียร์กันตามลำพัง (อย่างสงบ) ว่าที่หนูใช้คำว่า ล้อเล่น นี่ ตกลงแล้วไม่ได้ตั้งใจจริงๆ หรือว่ากำลังหลบเลี่ยงความผิดกันแน่
2. มีอะไรในใจหรือเปล่า บางครั้งการที่เด็กๆ เก็บงำความไม่พอใจเอาไว้ เช่น โกรธเพื่อน หรือน้อยใจแม่ที่เอาใจน้องมากกว่าพฤติกรรมตลกร้ายก็อาจเป็นการแสดงออกทางอารมณ์ของเขาก็ได้
3. อธิบาย สำหรับคนที่ถูกผลักจนล้มไปคลุกฝุ่น หรือโดนแกล้งจนร้องไห้ คำว่า ล้อเล่นไม่ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นเลย เพราะว่า มันก็ชวนให้เจ็บใจได้เท่าๆ กับตอนที่ลูกถูกเพื่อนตีหรือต่อว่าอะไรแรงๆ เหมือนกัน
4. หาข้อสรุป เมื่อคุยกันจนเข้าใจแล้ว ก็มาตั้งกฎกันดีกว่า (จะได้แก้นิสัยเสียไวๆ ไง) คราวหน้าถ้าหากว่าลูกล้อเล่นแรงๆ แบบนี้อีก ชั่วโมงเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ประจำวันนั้นจะถูกงดทันที คราวนี้เจ้าจอมแกล้งทั้งหลายไม่กล้าหือแน่นอน
5. มองมุมกลับ สำรวจตัวเองด้วยว่า คุณชอบใช้มุกล้อเล่นแบบนี้กับคนอื่นบ่อยๆ หรือเปล่า อย่าลืมนะว่ามีหูตาเล็กๆ อีกคู่คอยดูคอยฟังและเตรียมก๊อปปี้ตามอยู่นะ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง