ประมาณระดับชั้นประถม 3 เด็กส่วนใหญ่ได้เรียนเรื่องเงินแล้ว ทำให้เขารู้สึกคันไม้คันมืออยากจัดการการเงินของตัวเอง การให้ค่าขนมเป็นก้อนใหญ่จะช่วยฝึกการออมและการจ่ายอย่างเหมาะสมได้ค่ะ
1. เมื่อใดควรจ่ายเป็นเงินก้อน
“สังเกตง่ายๆ ว่า เวลาให้เงินแล้วลูกเอาไปถือไว้เฉยๆ หรือไปซุกไว้ตามของเล่น วางทิ้งบนเคาน์เตอร์หรือเปล่า ถ้าเขายังไม่รู้จักเก็บถนอมมันไว้สมกับที่เป็นของมีค่า ก็แสดงว่าลูกยังไม่พร้อม” ซูซาน บีชแฮม คุณแม่ลูกสอง ผู้ก่อตั้งบริษัทให้การศึกษาด้านการเงินแนะนำ
2. ควรจ่ายเป็นรายอะไร
วัยประถมควรได้รับเป็นรายสัปดาห์ก่อน รอให้ลูกโตกว่านั้นจึงจ่ายเป็นรายเดือน ซึ่งถือเป็นวิธีการฝึกฝนการบริหารเงินที่ดี ฉะนั้นเมื่อถึงวัย 11 – 12 ปี หากลูกมีเงินออมทุกๆ สัปดาห์ คุณจึงเริ่มจ่ายเป็นรายเดือนได้
3. ให้มากแค่ไหนดี
แต่ละครั้งครอบครัวจ่ายเงินให้ลูกในจำนวนแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม หลายครอบครัวขึ้นค่าขนมทุกๆ ปีเกิดของลูกปีละราว 30 – 50 บาท
4. ควรพิจารณาจากความขยันด้วยหรือไม่
(ทั้งการช่วยงานบ้าน ผลการเรียน หรือการประพฤติตัว) ผู้เชี่ยวชาญตอบว่าไม่ควร เพราะเมื่อเด็กไม่ต้องการเงินเพิ่ม ก็เป็นข้ออ้างให้เขาเพิกเฉยงานบ้าน การใช้คะแนนสอบเป็นเงื่อนไขแลกเงินเป็นการเพาะบ่มความคาดหวังที่ไม่เหมาะสม การเอาธนบัตรมาล่อใจให้ทำตัวดี ส่งผลให้ “เงิน” มีอิทธิพลต่อความรู้สึกมากจนเกินไป และอาจฝังลึกจนเป็นอุปนิสัยที่แก้ยากในอนาคต
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง