สิ่งที่พ่อแม่ ควรทำกับการเลี้ยงลูกแบบเพื่อน ให้ได้ใจลูกและไร้ปัญหา
1. หาโอกาสคุยกันแบบสบายๆ
ฉวยจังหวะตอนที่ทั้งคุณและลูกรู้สึกผ่อนคลาย ตัวอย่างเช่น พ่อแม่บางคนรู้สึกว่าลูกวัยรุ่นจะเปิดใจพูดคุยมากกว่าระหว่างที่ช่วยกันทำงานบ้าน หรือนั่งรถไปไหนมาไหนด้วยกัน เพราะในเวลาเช่นนั้นเขาจะรู้สึกเป็นกันเองกับพ่อแม่มากกว่าตอนที่นั่งพูดคุยแบบเป็นทางการ
2. อย่าพูดยืดยาว
คุณไม่จำเป็นต้องแจกแจงทุกรายละเอียดจนทำให้การพูดคุยกันกลายเป็นการทะเลาะกัน ให้พูดเฉพาะเรื่องที่เป็นปัญหา แล้วก็หยุด ลูกจะ “ได้ยิน” เรื่องที่คุณพูดจริงๆก็ตอนที่เขาอยู่คนเดียวและมีเวลาคิดถึงเรื่องที่คุณพูดกับเขา จงให้เขามีโอกาสได้ใช้ความคิดบ้าง
3. รับฟังและรู้จักผ่อนปรน
เพื่อจะเข้าใจปัญหาทั้งหมด คุณควรตั้งใจฟังให้ดีก่อนโดยไม่พูดแทรก. เมื่อตอบ คุณก็ควรตอบแบบมีเหตุผล. ถ้าคุณเข้มงวดกับกฎที่คุณตั้งไว้มากเกินไป ลูกวัยรุ่นก็อาจหาช่องที่จะแหกกฎ. หนังสือพูดคุยกับลูกวัยรุ่นเสมอ (ภาษาอังกฤษ) เตือนว่า ถ้าทำเช่นนั้น เด็กอาจกลายเป็นคนตีสองหน้า เมื่ออยู่ต่อหน้าพ่อแม่ เด็กจะพูดสิ่งที่พ่อแม่อยากได้ยิน แต่พอลับหลังพวกเขาก็จะทำสิ่งที่ตัวเองต้องการ
4. ใจเย็นๆ
เด็กสาวชื่อแครีบอกว่า “เวลาที่เราคิดไม่ตรงกัน ไม่ว่าฉันจะพูดอะไร แม่ก็อารมณ์เสียได้ทุกเรื่อง. มันทำให้ฉันโมโหมาก คุยกันอยู่ดีๆก็กลายเป็นทะเลาะกันเสียนี่” แทนที่จะแสดงอารมณ์มากเกินไป จงพูดสิ่งที่เป็นเหมือน “กระจก” สะท้อนความรู้สึกของลูก ตัวอย่างเช่น แทนที่จะพูดว่า “ลูกจะกลุ้มใจทำไมกับเรื่องแค่นี้!” คุณน่าจะพูดว่า “แม่รู้นะว่าเรื่องนี้ทำให้ลูกกลุ้มใจมาก
5. แนะนำแทนที่จะออกคำสั่ง
ความสามารถในการคิดหาเหตุผลของลูกวัยรุ่นเป็นเหมือนกล้ามเนื้อที่ต้องค่อยๆสร้างขึ้น. ดังนั้น เมื่อลูกเจอปัญหา อย่าแก้ปัญหาให้เขา จงให้เขามีโอกาส “ฝึก” ใช้ความคิดและพูดออกมาว่าเขาจะแก้ปัญหาอย่างไร หลังจากปรึกษาหารือกันแล้วว่ามีทางแก้อะไรบ้าง คุณอาจพูดกับลูกว่า “ทั้งหมดนี้เป็นวิธีที่น่าจะใช้ได้ ลูกลองไปคิดดูสักสองสามวัน แล้วค่อยมาคุยกันใหม่ว่าลูกชอบวิธีไหนและทำไมถึงเลือกวิธีนั้น
6. ยืนหยัดและเอาจริงในกฎเกณฑ์ที่สำคัญ
เช่น ห้ามอยู่ตามลำพังกับเพื่อนชายสองต่อสอง และหากลูกมีพฤติกรรมที่เป็นเรื่องเสียหาย มีผลเสีย เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นก็เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องห้ามปราม และบอกสอน เพื่อยับยั้งพฤติกรรมนั้นด้วยวิธีการดูแลทั้งอ่อนและแข็งให้เหมาะสมกับโอกาสเช่นนี้ จะช่วยให้พ่อแม่และลูกวัยรุ่นปรับตัวเข้าหากันได้มากขึ้น บรรยากาศในบ้านดีขึ้น ลูกจะเชื่อฟัง ร่วมมือกับพ่อแม่มากขึ้น และไม่ออกนอกลู่นอกทางให้พ่อแม่ต้องกังวลใจ
ทั้งนี้หากต้องลงโทษ พ่อแม่ต้องทำด้วยการให้ลูกเข้าใจเหตุผลและยอมรับการลงโทษ เมื่อลูกทำผิดพ่อแม่ควรลงโทษแบบมีเหตุผล มากกว่า การลงโทษด้วยอารมณ์ หากสิ่งที่ลูกทำเป็นเรื่องผิดและเป็นอันตราย พ่อแม่จำเป็นต้องห้ามปรามด้วยท่าทีจริงจังแต่ทว่าสงบนิ่ง พ่อแม่ควรให้ลูกได้รับโทษในสิ่งนั้น เพื่อให้ลูกได้รับบทเรียนและตระหนักว่าไม่ควรทำสิ่งนั้นอีก แต่การลงโทษต้องทำเมื่อลูกยอมรับความผิด ทั้งนี้การลงโทษวัยรุ่นด้วยการตี อาจไม่ได้ผล ยกเว้นกรณีนี้ พ่อตีลูกได้ เพราะมีพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดีมาก่อน และพ่อไม่ได้ใช้อารมณ์ขณะที่ตี
การลงโทษวัยรุ่นนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความผิด เช่น หากลูกขโมยเงิน อาจใช้วิธีหักค่าขนม ให้ลูกชดใช้เงินที่ขโมยไป ให้ลูกขอโทษเมื่อก้าวร้าวกับคนอื่น ให้ลูกทำงานบ้านเพิ่มขึ้นเมื่อลูกกลับบ้านผิดเวลา เป็นต้น และต้องไม่ลืมการให้คำชมเชยด้วย เมื่อลูกยอมรับการลงโทษ และประพฤติตัวดีขึ้น
เพราะพ่อแม่คือต้นแบบที่ดีของลูก แต่การลดตัวไปเที่ยวเล่น หรือเฮฮาปาร์ตี้กับลูกจนเกินเหตุ พ่อแม่อาจทำให้ลูกเห็นตัวอย่างที่ไม่เหมาะสมได้ เนื่องจากเด็กกำลังมองเราอยู่ทุกช่วงขณะว่า พ่อแม่มีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไร ควบคุมอารมณ์อย่างไร เวลามีข้อขัดแย้งต่าง ๆ คุณพ่อคุณแม่จัดการอย่างไร แต่ถ้าเกิดพ่อแม่ลดตัว และทำตัวเหมือนเพื่อนมากเกินไป มีการแก้ไขปัญหาแบบเด็ก ๆ บางครั้งอาจทำให้เขาไม่สามารถเรียนรู้การเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ อย่างไรก็แล้วแต่ การเลี้ยงลูกแบบเพื่อนมีทั้งด้านดี และด้านลบ หากพ่อแม่วางตัวไม่ดีก็อาจนำปัญหาตามมาได้ เช่นกัน
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- ต้นแบบอันทรงคุณค่า วิธีการเลี้ยงลูกของสมเด็จย่า ที่ควรนำมาเป็นแบบอย่าง
- 13 คาถาการเลี้ยงลูกที่ดี ที่พ่อแม่ควรรู้!
- ลูกถูกเพื่อนรังแก พ่อแม่จะรับมืออย่างไร?
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.manager.co.th , www.thaihealth.or.th , www.jw.org , www.prthai.com