เด็กในวัยนี้ทั้งร่างกายและจิตใจของเขากำลังเปลี่ยนแปลง ลูกเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง และต้องการอิสรภาพ ฟังเราน้อยลง ให้ความสำคัญกับเพื่อนมากขึ้น เริ่มโต้เถียงมากกว่าเดิม แล้วพ่อแม่จะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นมารในสายตาลูก
1. ปรับใจ
สิ่งสำคัญในการเลี้ยงลูกวัยนี้คือ ความเข้าใจ พ่อแม่ต้องเข้าใจว่าลูกเริ่มโต เขาก็มีความคิดเป็นของตนเอง คุณควรฟังให้เป็นว่าเขาต้องการอะไร เริ่มจากการฟังลูกก่อน เปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความคิดเห็น จากนั้นเราก็บอกความต้องการของเรา ถ้าทั้งสองฝ่ายฟังกัน ปัญหาก็ไม่เกิด ใช้ทักษะการพูดคุยเจรจาต่อรอง ที่สำคัญต้องใช้อารมณ์สงบๆคุยกัน เปิดใจกันสักหน่อย
2. สร้างกติการ่วมกัน
ถ้าเป็นเด็กเล็กลูกยังยอมทำตามกติกาที่พ่อแม่ตั้งให้ แต่สำหรับเด็กโตกติกาที่เขามีส่วนในการร่าง จะทำให้ลูกยอมร่วมมือได้ดีกว่ากติกาที่พ่อแม่กำหนดฝ่ายเดียว ในข้อนี้คุณหมอณัทธรให้ความคิดเห็นไว้ว่า “เพราะว่าลูกกำลังเติบโตเป็นวัยรุ่น และวัยรุ่นก็กำลังเป็นผู้ใหญ่ มนุษย์ทุกคนเติบโตจากการพึ่งพิงไปสู่การเป็นอิสระ คนเราพอจะโตแล้วก็ต้องคิดตัดสินใจเองได้ คิดเองได้มากขึ้น เป็นการพัฒนาตามธรรมชาติ ธรรมชาติสั่งมาคิดเองเยอะๆ ทำอะไรเองเยอะๆ”
3. ให้อิสระตามสมควร
สิ่งที่แสดงออกมาอย่างเด่นชัดในวัยนี้อีกข้อหนึ่งคือ ความต้องการอิสระ พ่อแม่ควรเข้าใจและให้อิสระลูกตามสมควร เช่น การเลือกเสื้อผ้า ลูกอาจอยากแต่งแบบประหลาดนิดๆ เพี้ยนหน่อยๆ ถ้าพ่อแม่รับไม่ไหวจริงๆ อาจจะเตือนว่าแม่ว่าชุดนี้ประหลาดไปนิดนะลูก แต่แม่ไม่ว่าอะไรนะ” แล้วปล่อยให้เขาได้ไปรู้เองว่าออกไปแล้วคนอื่นมองอย่างไร ควรปล่อยให้ลูกเรียนรู้เอง แต่จะให้อิสระเขาทั้งหมดคงไม่ได้ เพราะเขายังกึ่งเด็กกึ่งผู้ใหญ่ บางทีก็ยังตัดสินใจผิดๆ ได้อยู่ พ่อแม่ช่วยดูแลควบคุมได้ โดยเฉพาะเรื่องที่สำคัญๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อตัวลูก เช่น ห้ามกลับบ้านผิดเวลา การแต่งตัววับๆแวมๆออกนอกบ้าน เป็นต้น
บทความโดย : กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง