7 วิธีสร้างเกราะป้องกัน ลูกถูกบูลลี่ และไม่ให้ลูกบูลลี่คนอื่น - Page 2 of 2 - Amarin Baby & Kids
ลูกถูกบูลลี่

7 วิธีสร้างเกราะป้องกัน ลูกถูกบูลลี่ และไม่ให้ลูกบูลลี่คนอื่น

event
ลูกถูกบูลลี่
ลูกถูกบูลลี่

จากข่าวการเสียชีวิตของเด็กชายที่ถูกบูลลี่ นายอธิวัฒน์ เนียมมีศรี เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน ได้เปิดเผยผลสำรวจ ความคิดเห็น เรื่อง ลูกถูกบูลลี่ การกลั่นแกล้ง ความรุนแรงในสถานศึกษาในกลุ่มเด็กอายุ 10-15 ปี จาก 15 โรงเรียน โดยกรมสุขภาพจิต เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผลสำรวจพบว่า..

  • กลุ่มตัวอย่างนักเรียน 1,500 คน พบว่า ร้อยละ 91.79 เคยถูกบูลลี่
  • วิธีที่ใช้บูลลี่ อันดับ 1 คือ การตบหัว ร้อยละ 62.07 รองลงมา ล้อบุพการี ร้อยละ 43.57 พูดจาเหยียดหยาม ร้อยละ 41.78
  • ผลกระทบจากการบูลลี่ ผู้ที่ถูกกระทำ คิดจะโต้ตอบเอาคืน ร้อยละ 42.86
  • รองลงมา เกิดความเครียด ร้อยละ 26.33 ไม่มีสมาธิกับการเรียน ร้อยละ 18.2 ไม่อยากไปโรงเรียน ร้อยละ 15.73 เก็บตัว ร้อยละ 15.6 และซึมเศร้า ร้อยละ 13.4

นอกจากนี้ นายอธิวัฒน์ ยังเห็นว่า.. สังคมไทยต้องเลิกเห็นว่า เรื่องบูลลี่ การกลั่นแกล้งกัน เป็นเรื่องเด็กๆ ปกติธรรมดาแล้วปล่อยผ่าน ต้องให้ความสำคัญ และสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง พร้อมเร่งปลูกฝังเรื่องการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายและให้เกียรติกัน

ผลของการบูลลี่คนอื่น และ เมื่อ ลูกถูกบูลลี่

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า “การรังแกกันหรือล้อเลียนกันในโรงเรียน เป็นจุดเริ่มต้นและเป็นการปลูกฝังเด็กเรื่องความรุนแรง การทำร้ายกัน มีผลกระทบต่อเด็กทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งอารมณ์จิตใจร่างกายและคุณภาพชีวิตในระยะยาว นักเรียนที่ถูกรังแกมักเครียด ซึมเศร้า มีปัญหาการเข้าสังคมจนโต หากถูกกดดันรุนแรงหรือเรื้อรัง จะนำไปสู่การทำร้ายคนอื่นเพื่อแก้แค้น หรือทำร้ายตนเอง รุนแรงถึงฆ่าตัวตาย ขณะที่นักเรียนที่รังแกคนอื่น เมื่อทำบ่อยครั้งจนกลายเป็นนิสัยเคยชิน จะมีปัญหาบุคลิกภาพแบบใช้ความก้าวร้าว ความรุนแรงต่อผู้อื่น ความรู้สึกผิดน้อย ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา เป็นอันธพาล อาชญากรได้”

ทำไมเด็กๆ ถึงบูลลี่คนอื่น

เพราะเด็กไม่มองเห็นศักยภาพตัวเอง (Self) เพราะ Self ของเด็กมันถูกผูกกับการศึกษาและความเก่งในห้องเรียน ขณะที่สังคมของประเทศอื่น เช่น ฟินด์แลนด์ ญี่ปุ่น จะเน้นความเท่าเทียมและเคารพกัน ว่าทุกคนมีดี มีความแตกต่างหลากหลาย เมื่อมันหลากหลายมันจึงไม่มีใครเหนือกว่าใคร เด็กมีความแต่งต่างกัน  สนใจในเรื่องต่างๆกัน มีกลุ่มศิลปินชอบศิลปะ กลุ่มชอบกิจกรรมกลางแจ้ง กลุ่มความถนัดทางกาย กลุ่มนักดนตรี กลุ่มภาษาวรรณกรรม  แต่สังคมไทย ให้ความสำคัญกับเด็กที่เรียนเก่งเป็นพิเศษ

ลูกถูกบูลลี่

สร้างเกราะป้องกัน ลูกถูกบูลลี่ และไม่ให้ลูกไปบูลลี่คนอื่น

สำหรับวิธีป้องกัน ลูกถูกบูลลี่ และการสอนไม่ให้ลูกไปบูลลี่คนอื่น ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ หรือ หมอวิน เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกตามใจหมอ ได้ให้คำแนะนำไว้ดังนี้

  1. เมื่อไหร่ก็ตามที่ครอบครัวแน่นแฟ้น มีความรักความอบอุ่นให้กันจะช่วยสร้างตัวตนเด็ก เด็กที่อยู่ในครอบครัวอบอุ่นและรับฟังกันโดยไม่ตัดสินเด็กจะกล้าพูดความรู้สึกตัวเอง
  2. สอนให้ลูกปฏิเสธเป็น สอนให้เป็นคนช่างเจรจาและต่อรองแบบเหมาะสมได้ เช่น บอกไปหากไม่ชอบอะไรให้บอกตรงๆ และถ้าไม่หยุด จะต้องบอกคุณครู เป็นต้น
  3. หากเกิดการกลั่นแกล้ง ถูกหยอกล้อด้วยพูด ทำให้ลูกรู้สึกไม่ดี ให้ลูกไปบอกคุณครู แต่ถ้าคุณครูเมินเฉย และมองว่าเพื่อนแค่หยอกถ้าครูไม่ปกป้องเด็ก โรงเรียนนั้นไม่น่าอยู่แล้วถึงปล่อยให้การกลั่นแกล้งแบบนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีการตักเตือนอีกฝ่าย
  4. อย่าปล่อยให้ลูกเจอเรื่องแบบนี้โดยไม่มีใครปกป้อง หากเด็กเริ่มสะสมความเครียดเก็บไว้เยอะๆ สุดท้ายมันจะออกมาในรูปแบบของความรุนแรง หรือหากยอมมากๆ จะเกิดความเศร้า ฆ่าตัวตาย หรือวันหนึ่งถ้าลุกขึ้นสู้ จะมีการใช้ความรุนแรงเข้ามายุติเรื่องราวเหมือนที่เห็นในข่าวปัจจุบัน
  5. เมื่อใดก็ตามที่เห็นลูกล้อเพื่อน หรือไปตีเพื่อน โดยมีความจงใจจะแกล้งผ่านการเล่น ห้ามเพิกเฉยและมองว่าเป็นการเล่นของเด็กๆ พ่อแม่ต้องรีบเข้าไปสั่งสอนลูกด้วยตัวเอง ห้ามดึงคนนอกให้มามีอำนาจเหนือคนในบ้าน เพราะการสั่งสอนจะไม่สำเร็จผล
  6. พ่อแม่ไม่ต้องสั่งสอนมาก แค่ทำแบบอย่างที่ดีให้ลูกเห็น เป็นที่น่านับถือและน่าเคารพต่อลูกๆ เป็นที่พึ่งของเขา
  7. อาวุธที่ดีที่สุดคือ สายสัมพันธ์และการรับฟัง ซึ่งมีอ้อมกอดที่อบอุ่น หูที่รับฟัง และจิตใจที่เปิดกว้าง สามอย่างนี้เป็นอาวุธที่สำคัญที่สุดของคุณพ่อคุณแม่ที่จะเชื่อมกับลูกได้ตลอดในทุกช่วงวัย
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.thairath.co.th

อย่างไรก็ตาม การที่ ลูกถูกบูลลี่ ไม่ใช่เรื่องปกติในสังคมที่ต้องอดทน แต่เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไข  โดยเริ่มจากบ้าน โรงเรียน และสังคม ซึ่งสิ่งสำคัญ พ่อแม่ควรสอนลูกให้ตั้งรับอย่างมีสติ เงียบเฉยบ้าง ตอบโต้ ชี้แจงให้ถูกจังหวะ ไม่คิดแค้น เครียด หรือวิตกกังวลเกินไป รวมถึงเลือกที่จะใช้ชีวิตในสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดี เหมาะสมกับตัวเอง และข้อสำคัญ หากหาทางออกไม่ได้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.samitivejhospitals.comwww.amarintv.com ,  www.dmh.go.th

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up