จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแนะวิธีวาดตารางกำหนดการทำงานให้เด็ก วิธีสร้างหลักความคิดด้วย Mind map ช่วยลูกฝึกตัวเองให้มีความรับผิดชอบ แถมได้งานครบ ถูกใจทั้งแม่ลูก
สร้าง Mind map ช่วยฝึกให้ลูกส่งงานครบมีความรับผิดชอบ!!
ปัญหาสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกในช่วงวัยเรียน คงหนีไม่พ้นเรื่องการส่งงาน ส่งการบ้าน ให้ครบ ตรงตามกำหนดเวลา ปัญหาที่ลูกไม่ชอบทำการบ้าน หรือทำการบ้านไม่เสร็จ ส่งไม่ได้ตามกำหนดนั้น หากมองในแง่ดีก็เป็นสัญญาณที่ดีอย่างหนึ่ง หลายคนคงสงสัยว่าการที่ลูกไม่ส่งงาน ทำการบ้านไม่เสร็จ จะเป็นสัญญาณที่ดีได้อย่างไร คำตอบก็คือ ลูกกำลังเตือนให้คุณพ่อคุณแม่รู้ว่าตัวเขากำลังประสบปัญหาในจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเล็ก แต่มันทำให้ลูกเกิดพฤติกรรมถดถอย เป็นสัญญาณเตือนที่ดีให้คุณพ่อคุณแม่หันมาสนใจเขา อย่างพึ่งไปตีความเอาเองจากเหตุผลของตัวเองว่า เป็นเพราะลูกขี้เกียจ ไม่มีความรับผิดชอบกันก่อนเลยจะดีกว่า
การไปดุด่าว่ากล่าวลูกเสียก่อนที่จะได้ถามไถ่ พูดคุย เป็นเสมือนการผลักลูกให้ยิ่งไกลตัวออกไป ยิ่งทำให้ปัญหาหนักมากขึ้นไปอีก หากเราสามารถมองเห็นปัญหา และช่วยแนะแนวทางการแก้ปัญหาให้ลูกอย่างตรงจุดจะทำให้เขามีพฤติกรรมจากหน้ามือเป็นหลังกันเลยทีเดียว
วันนี้ทาง ทีมแม่ABK ได้หยิบยกนำเอาแนวคิดที่สามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องการส่งงานของลูกมาฝากกัน ในเพจของจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นชื่อว่า หมอแมวน้ำเล่าเรื่อง โดยคุณหมอได้ให้ตัวอย่างแนวทางการจัดทำตารางภาพวาดเรียงลำดับขั้นตอนเริ่มตั้งแต่การทำงาน เป็นกระบวนการไปจนถึงขั้นตอนการส่งงานจนสำเร็จ ตามแบบอย่างในรูป
ซึ่งจากตัวอย่างจะเห็นได้ว่าการจัดทำแผนภาพกระบวนการคิดดังกล่าว นั่นคือ การจัดทำ Mind mapหรือแผนที่ความคิดนั่นเอง
มารู้จักแผนที่ความคิดกันเถอะ
คือ การนำเอาทฤษฎีที่เกี่ยวกับสมองมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด โดยเฉพาะเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ การเขียนแผนที่ความคิด เกิดจากการใช้ทักษะทั้งหมดของสมอง เป็นการทำงานร่วมกันของสมองทั้งสองซีก คือ สมองซีกซ้ายและซีกขวา
- สมองซีกขวา จะทำหน้าที่สังเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ จินตนาการความงาม ศิลปะ จังหวะ
- สมองซีกซ้าย จะทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ คำภาษา สัญลักษณ์ ลำดับ ระบบ ความเป็นเหตุเป็นผล ตรรกวิทยา
ความเป็นมา
โทนีบูซาน (Tony Buzan) นักจิตวิทยาชาวอังกฤษ เป็นผู้คิดริเริ่มนำเอาความรู้เรื่องสมองมาปรับใช้กับการเรียนรู้ของเขา (พ.ศ. 2517)โดยพัฒนาจากการจดบันทึกแบบเดิมที่จดบันทึกเป็นตัวอักษรเป็นบรรทัด ๆ เป็นแถว ๆ เปลี่ยนมาเป็นบันทึกด้วยคำ ภาพ สัญลักษณ์แบบแผ่รัศมี ออกรอบ ๆ ศูนย์กลางเหมือนการแตกกิ่งก้านของต้นไม้ การแตกของเซลล์สมองโดยใช้สีสัน ซึ่งต่อมาเขาจึงนำไปใช้กับกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิตประจำวันได้ด้วย เช่น การวางแผน การตัดสินใจ การนำเสนอผลงาน การเขียนหนังสือ เป็นต้น
ความหมาย
เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการจัดการระบบความคิดที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เรียบง่ายที่สุด มีรูปแบบการจดบันทึกที่สร้างสรรค์ และมีประสิทธิภาพเป็นการถ่ายทอดความคิด หรือข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสมองลงกระดาษ โดยการใช้ภาพ สี เส้น และการโยงใยแทนการจดย่อแบบเดิมที่จดเป็นตัวหนังสือเป็นบรรทัด ๆ โดยแผนที่ความคิดนี้ใช้การสื่อความหมายด้วยข้อความและรูปภาพเสริมสร้างทักษะในการวิเคราะห์ และการสังเคราะห์ข้อมูล อันเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ ทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องที่สนุกสนานมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น
แม่จ๋า..ช่วยหนูด้วย
เมื่อลูกส่งสัญญาณเตือนให้แก่คุณแม่แล้วว่า เขาเริ่มไม่สามารถจัดการกับหน้าที่ ภาระงานที่เพิ่มเข้ามากับวัยที่เพิ่มขึ้นได้แล้ว โดยส่งสัญญาณมากับการค้างงาน การส่งการบ้านไม่ครบ ไม่ตรงเวลา หากคุณแม่พบปัญหาแล้วจึงควรรีบเข้าไปช่วยลูก อย่ามัวเสียเวลาไปกับการดุด่าว่ากล่าวอีกเลย เมื่อเขาไม่กลัวที่จะบอกเล่าความจริงกับคุณแม่ การช่วยเขาแนะนำให้ลูกสามารถผ่านพ้นปัญหาไปได้ก็จะดีต่อตัวลูกมากกว่า
การแก้ปัญหาลูกไม่ชอบทำการบ้าน
ก่อนจะไปถึงกระบวนการการส่งงานครบนั้น คงต้องพิจารณาจากจุดเริ่มต้นเลยว่าเพราะเหตุใดลูกถึงไม่มีงานไปส่ง หรือทำไม่ทัน คุณแม่อาจจะหาเหตุจากปัจจัยภายนอกเสียก่อน ดังนี้
- ลูกมีสถานที่ทำงาน หรือการบ้านที่เหมาะสมหรือไม่ เวลาที่ผู้ใหญ่ทำงานยังต้องมีโต๊ะหรือสถานที่ที่เหมาะสม บรรยากาศการทำงานที่ดี เด็กก็เช่นกัน คุณแม่ควรให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดโต๊ะเขียนหนังสือ เป็นมุมเล็ก ๆ สำหรับลูกก็ได้ แต่ควรมีแสงสว่างที่เพียงพอ และมีสัดส่วน ที่เก็บของให้เรียบร้อย เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างบรรยากาศในการทำงานแล้ว ยังช่วยฝึกลูกให้เรียนรู้ในเรื่องความรับผิดชอบต่อข้าวของของตนเองได้อีกทางหนึ่งด้วย ฝึกลูกเก็บของ วางของเป็นที่เป็นทาง
- ลูกมีหน้าที่อื่นทำจนไม่มีเวลาเป็นของตัวเองหรือไม่ คงไม่ใช่ทุกบ้านที่เด็กมีหน้าที่เพียงเรียนหนังสืออย่างเดียว บางบ้านเด็กต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน หรือบางบ้านต้องช่วยดูแลน้อง ทำงานบ้านเวลาที่พ่อแม่ไม่อยู่ การที่เด็กต้องรับภาระหน้าที่เพิ่ม ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่เขาละเลยการบ้าน
- ลูกมีปัญหาทางจิตใจเรื่องใดหรือไม่ ความเข้าใจของผู้ใหญ่มักเข้าใจกันว่าเป็นเด็กจะมีเรื่องเครียดอะไรกัน แต่ความจริงแล้วเด็กก็มีปัญหาในแบบของเขา เมื่อเขาเผชิญปัญหาที่ตัวเองไม่สามารถคิดตกได้ ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกขาดสมาธิในการทำงาน ทำการบ้านได้ เช่น ทะเลาะกับเพื่อน ถูกครูดุจนไม่ชอบวิชานั้น เป็นต้น
- ลูกไม่สามารถจัดแบ่งเวลาได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ เรื่องนี้เป็นประเด็นที่เมื่อเราตัดปัจจัยอื่น ๆ ไปได้หมดแล้วว่าลูกไม่เกิดปัญหาเหล่านั้น ขั้นตอนปัญหานี้คงเป็นสิ่งสุดท้ายที่เป็นสาเหตุให้ลูกไม่สามารถจัดตารางเวลาของตัวเองได้ถูกต้อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขายังอยู่ในวัยเรียนรู้ ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะมาถึงจุดนี้ได้ คงต้องมีประสบการณ์ผ่านเรื่องที่ต้องฝึกฝนมาก่อนเป็นแน่ ลูกก็เช่นกัน การที่เขายังไม่สามารถจัดแบ่งเวลาได้อย่างเหมาะสมจึงมิใช่เรื่องใหญ่ ลองใช้วิธีที่คุณหมอแนะนำดูอาจจะช่วยให้ลูกมองเห็นวิธีการจัดแบ่งเวลาได้ง่ายขึ้น
- ลูกมี Self-esteem หรือการเห็นคุณค่า ความสามารถในตัวเองหรือไม่ ความคิดเห็นที่มีต่อตัวเอง ซึ่งส่งผลต่อความกระตือรือร้นในการใช้ชีวิต รวมถึงการรับมือกับอารมณ์และสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยผู้ที่มี Self Esteem สูงนั้นจะมีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง ในทางกลับกัน การมี Self Esteem ต่ำจะส่งผลให้รู้สึกแย่และมีมุมมองความคิดต่อตัวเองในแง่ลบ ซึ่งเป็นเหตุให้ขาดความกระตือรือร้นในการทำสิ่งต่าง ๆ และรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสามารถในการเผชิญหน้ากับปัญหาหรือความท้าทายในชีวิต ซึ่งในบางครั้งอาจเกิดจากผู้ใหญ่ที่ไม่ทันระวัง หรือมีทัศนคติที่ควรต้องเปลี่ยน บางคนคิดว่าการชมลูกนั้นเป็นสิ่งที่จะทำให้ลูกเหลิง จึงมักไม่มีคำชมออกมาจากพ่อแม่ หรือครู ทำให้เด็กไม่มีความเชื่อมั่น การเห็นคุณค่าในตนเองจนไม่มีแรงจูงใจในการทำอะไรให้ประสบผลสำเร็จ
มาลองชวนลูกเขียน แผนที่ความคิดในแบบตัวเองกันเถอะ!!
- เตรียมกระดาษ A4 สีขาวไม่มีเส้น วางตามแนวนอน โดยใช้ปากกาสีสันอย่างน้อย 6 เฉดสี โดยผลวิจัยพบว่า การจดอย่างมีสีสัน ช่วยเพิ่มความจำได้ถึง 78%
- แก่นกลางหน้ากระดาษ ให้ลูกจินตนาการหัวเรื่อง หรือหัวข้อที่เป็นปัญหา ในที่นี้คือ การส่งงานให้ครบตรงเวลา ก็วาดภาพสัญลักษณ์ไว้กลางหน้ากระดาษ เลือกใช้สีปากกาตามใจชอบได้เลย
- จากนั้นแตกกิ่งแก้ว หรือประเด็นสำคัญเป็นเส้นโค้งเรียวออกมารอบ ๆ และเชื่อมกับแก่นกลาง โดยให้คำอยู่บนเส้น ไม่ล้อมกรอบ และกิ่งแก้วควรเป็นกิ่งละสี เช่น มีงานใดบ้างที่ครูสั่ง เรียงลำดับงานที่ส่งก่อนหลัง เป็นต้น
- นอกจากกิ่งแก้วแล้ว ยังสามารถช่วยลูกแตกกิ่งก้อยออกไปได้อีกด้วย ซึ่งเป็นการต่อเติม หรือแตกประเด็นรองในแต่ละกิ่งแก้ว ใช้สีเดียวกับกิ่งแก้ว และเส้นต้องเชื่อมต่อกันเสมอ เช่น ขั้นต่อจากการเรียงลำดับก่อนหลังของงานแต่ละชิ้นที่จะส่งครู ในแต่ละงานนั้นก็สามารถแตกย่อยออกเป็นขั้นตอนการทำงานนั้น เริ่มจากไหนทีละขั้นไปจนเสร็จงาน
- ต่อมาเป็นการแตกกิ่ง สำรวจปลายกิ่งก้อย และกิ่งแก้วทุกกิ่งว่าสามารถต่อเติมอะไรได้อีกบ้าง เพราะเมื่อเห็นภาพรวมเป็นรูปภาพที่วาดแสดงออกมาแล้ว ลูกจะสามารถเห็นได้ว่าขั้นตอนไหนสามารถทำร่วมกันไปทั้งสองงาน หรือหลายงานได้เลย เช่น ขั้นตอนการเข้าห้องสมุดหาข้อมูล ก็อาจรวบรวมหาข้อมูลทีเดียวสองงานเลยได้ ไม่ต้องเสียเวลามาใหม่ เป็นต้น
- เข้าสู่การแต่งสีเติมภาพ ซึ่งนอกจากสีแล้ว ภาพก็ช่วยในการจำด้วย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ช่วยฝึกให้ลูกเติมแต่งภาพให้กับคำตามกิ่งต่าง ๆ ตัดสีแต่งเส้นให้เด่นขึ้น โดยใช้ปากกาเน้นสีทำให้กิ่งสำคัญเด่นขึ้น เป็นอันเสร็จสิ้นการทำMind Mapร่วมกับลูก
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก Pobpad /หมอแมวน้ำเล่าเรื่อง /
ศิริพรรณ ชาญสุกิจเมธี งานพัฒนาคุณภาพการพยาบาล มหิดล /อาจารย์ ขวัญฤดี ผลอนันต์ วิทยากรฝึกอบรม หลักสูตร Mind Mapping
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ส่งลูก เรียนอนุบาล แต่พ่อแม่ไม่อยากให้รร. “เร่งอ่านเขียน” จะทำอย่างไรดี?