คุณพ่อคุณแม่ต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือด้วยคำแนะนำเหล่านี้แล้วละ
– ฝึกให้ลูกมองเห็นข้อดีของตัวเอง หากระดาษมาหนึ่งแผ่น ให้เขาเขียนข้อดีของตัวเองลงไป เช่น เล่นฟุตบอลเก่ง วาดรูปสวย หรือว่าคุยสนุก พอลูกเขียนเสร็จแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยเพิ่มเติมบ้าง เช่น น้องแทมมี่เป็นคนยิ้มง่าย น้องภัทรชอบแบ่งของเล่นให้เพื่อน ฯลฯ เอากระดาษแผ่นนั้นติดไว้บนผนังห้องนอนเป็นการเรียกกำลังใจให้ลูกรู้ว่าเขาไม่ใช่คนไร้ค่านะ
– ทำตัวให้ร่าเริง สร้างบรรยากาศภายในบ้านให้สดใสและมีเสียงหัวเราะ นอกจากช่วยลดความเครียดจากการปรับตัวของลูกแล้ว ยังทำให้ลูกมีใบหน้าเปื้อนยิ้มติดไปถึงโรงเรียนและทำให้เขาดูเป็นคนน่าคบ ไม่แน่ ลูกอาจจะได้มุกสนุกๆ ไปเล่าต่อให้เพื่อนใหม่ฟังด้วย
– ใช้กิจกรรมให้เป็นประโยชน์ โอกาสที่ลูกจะได้พูดคุยทำความรู้จักกับคนอื่นๆ ได้ง่ายคือช่วงที่ต้องทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม เช่น การเข้ากลุ่มงานประดิษฐ์หรือกิจกรรมลูกเสือ แรกๆ เขาอาจเป็นส่วนเกินที่ถูกจับเข้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่เขาไม่รู้จักใครเลย บอกลูกว่านี่แหละเป็นโอกาสดีที่จะเริ่มสร้างมิตรภาพด้วยคำถามง่ายๆ เช่น เรามีกรรไกรตัดกระดาษแบบซิกแซ็กด้วย เธออยากลองใช้ดูไหม
– เป็นผู้ฟังที่ดี สำคัญมากนะ…ถ้าบทสนทนาเริ่มดำเนินไป นอกจากจะพูดคุยถึงตัวเองแล้ว อย่าลืมเปิดโอกาสให้เพื่อนใหม่ได้พูดบ้าง หากว่าลูกวัยทวีนของคุณเป็นนักจ้อมือหนึ่งในบ้าน คุณพ่อคุณแม่อาจสอนเขาทางอ้อมด้วยการหาเรื่องสนุกๆ ในที่ทำงานวันนี้มาผลัดกันเล่า เพื่อให้ลูกเห็นว่าบทสนทนาที่ดีต้องผลัดกันเป็นคนพูดและคนฟัง
– ที่สำคัญที่สุด ถ้าได้เพื่อนใหม่มาแล้วต้องรักษาไว้ให้ดีๆ ล่ะ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง