4 วิธีช่วยพี่โตดูแลตัวเอง - Amarin Baby & Kids
การดูแลเด็กประถมวัย

4 วิธีช่วยพี่โตดูแลตัวเอง

Alternative Textaccount_circle
event
การดูแลเด็กประถมวัย
การดูแลเด็กประถมวัย

เดี๋ยวก็ดูเหมือนโตแล้ว พูดจากันรู้เรื่อง ทำอะไรเองได้เรียบร้อย แต่ผ่านไปแว้บเดียว ลูกคนเดิมของเรานี่แหละกลับไปเถียงกับน้องแย่งของเล่นกันกระจองอแงอีกจนได้…แล้วอย่างนี้พ่อแม่จะมั่นใจได้อย่างไรว่าลูกโตพอจะดูแลตัวเองในสังคมที่กว้างขึ้นได้

 พญ.ดร.แครอน ฟาร์เรลล์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งสถาบัน The Seton Mind Institute ในออสติน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา อธิบายว่า เด็กในวัยกำลังโตมักจะสับสน จากความต้องการเลียนแบบพฤติกรรมของเด็กที่โตกว่าหรือผู้ใหญ่ แต่ก็ยังไม่สามารถทำตามนั้นไปได้นาน จึงเกิดพฤติกรรมที่มีความผันผวน ซึ่งพ่อแม่สามารถช่วยจัดระเบียบพฤติกรรมของลูกวัยนี้ได้ด้วย…

 

1 เพิ่มหน้าที่รับผิดชอบ เพื่อเพิ่มพูนทักษะของลูกในด้านต่างๆ ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจ ควรเป็นงานที่พ่อแม่คิดว่าลูกสามารถทำได้ เช่น พับเสื้อผ้า, เช็ดโต๊ะ, จัดตู้  โดยไม่คาดหวังผลงานเลอเลิศ เพราะเราหวังผลแค่เพียงการฝึกทักษะ เสร็จแล้วอย่าลืมเอ่ยชมความตั้งใจทำงานของลูกด้วย แต่ถ้าลูกร้องอยากลองทำอะไรเองที่ยากหรือท้าทายขึ้นอย่าง เปิดเตาแก๊สทำอาหารกินเอง หรือเดินไปสนามเด็กเล่นเองตามลำพัง ก็อย่าเพิ่งปฏิเสธแบบตัดรอนทันที แต่ควรจะบอกลูกว่ามันเป็นกิจกรรมที่ยังไม่ปลอดภัยพอที่ลูกจะทำเองคนเดียวได้ และกำหนดเวลาคร่าวๆว่าเมื่อไรจึงจะมาคุยกันถึงเรื่องนี้อีกที

2  ช่วยจัดระเบียบ บางครั้งพ่อแม่อาจจะคิดว่าลูกโตพอที่จะปล่อยให้ทำอะไรเอง เช่น จัดกระเป๋าไปโรงเรียนเอง หรือเตรียมตัวเข้านอนได้เอง ซึ่งจะว่าไปแล้ว ลูกก็อาจจะทำได้อยู่ แต่ทว่า ยังทำได้ไม่ดีนัก เพราะยังคงขาดทักษะการจัดอันดับว่าอะไรควรทำก่อน-หลัง วิธีหนึ่งที่ช่วยให้ลูกจัดการธุระได้ถูกต้องตามขั้นตอนก็คือ ให้ลูกเขียนขั้นตอนการเตรียมตัวต่างๆไว้เป็นข้อๆ แล้วติดไว้ในห้องนอน หรือแปะบนตู้เย็น เช่น เก็บการบ้าน เก็บเครื่องเขียนใส่กล่องดินสอ จัดตารางสอน ปิดกระเป๋า เป็นต้น

3 กระตุ้นความมีแก่ใจ คุณหมอฟาร์เรลล์แนะนำว่าเด็กวัยนี้มักจะมองและยึดตัวเองเป็นสำคัญ พ่อแม่จึงควรหาโอกาสสนับสนุน และกระตุ้นพฤติกรรมเชิงบวกให้กับลูก เช่นการแสดงน้ำใจต่อผู้อื่น เป็นต้นว่า ช่วยยกกระเป๋าให้น้อง คัดเลือกเสื้อผ้าไปบริจาค หรือเจียดเงินค่าขนมไปบริจาคทำบุญบ้าง

4 เล่นด้วยกัน แม้ลูกวัยนี้จะไม่ชอบให้พ่อแม่ตามติดวุ่นวายยามอยู่นอกบ้าน แต่เวลาที่อยู่ในบ้านก็ยังสนุกด้วยกันได้เหมือนเดิม เพียงแต่ปรับรูปแบบให้โตขึ้นตามวัย เช่น เปลี่ยนจากการเล่นขายของเป็นเล่นเกมเศรษฐี หรือเล่นโดมิโนด้วยกัน

 

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up