6 ข้อสอนลูกเป็น คนดี มีภูมิคุ้มกัน ชีวิตพบแต่ความสุข - Amarin Baby & Kids
สอนลูกใฝ่เรียนรู้

6 ข้อสอนลูกเป็น คนดี มีภูมิคุ้มกัน ชีวิตพบแต่ความสุข

Alternative Textaccount_circle
event
สอนลูกใฝ่เรียนรู้
สอนลูกใฝ่เรียนรู้

ทุกคนอยากเห็นลูกเป็นคนเก่ง คนดี วิธีสร้างเด็กเก่งนั้นไม่ยาก แต่ทักษะความดีที่เด็กมีศักยภาพมาตั้งแต่เกิดนั้น เราจะดึงมันออกมาให้เขามีพร้อมทั้งสองด้านอย่างไร

6 ข้อสอนลูกเป็น คนดี มีภูมิคุ้มกัน ชีวิตพบแต่ความสุข

ในชีวิตคนเราเป้าหมายสูงสุดในการดำรงชีวิต คือ การทำชีวิตของตนให้มีความสุข แต่หนทางที่จะนำพาเราไปสู่ความสูขในชีวิตนั้นได้ ต้องมีทักษะในการดำรงชีพที่พร้อมเสียก่อน การจะได้มาซึ่งปัจจัยนำพาความสุขมาให้ในสังคมปัจจุบันนั้น เราคงต้องเริ่มต้นจากการทำตัวให้พร้อมเป็น “คนเก่ง” เพื่อที่จะได้ใช้ความรู้ ความสามารถนั้นมาทำประโยชน์ให้เกิดแก่ตน

นิยามคำว่า “คนเก่ง”

คนที่มีความสามารถสูงในการดำเนินชีวิต โดยมีความสามารถในด้านใดด้านหนึ่งหรือรอบด้าน อาจมีความสามารถพิเศษเฉพาะทาง เช่น ความสามารถทางคณิตศาสตร์ ความสามารถด้านภาษา ศิลปะ ดนตรี กีฬา การทำอาหาร การดีไซน์ เป็นต้น

การเป็นคนเก่งมักจะมาพร้อมกับการมีภาวะผู้นำ รู้จักตนเอง ควบคุมตนเองได้ มีทักษะในการแก้ปัญหาดี มีวิสัยทัศน์ สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ

เก่งอย่างเดียวเดินถึงเป้าหมาย แต่อาจขาดความสุข

คุณพ่อคุณแม่คงเคยเห็นตัวอย่าง บุคคลในชีวิตจริงมากมายที่เขาประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีอาชีพที่ดี ตำแหน่งใหญ่โต ฐานะร่ำรวย แต่บางคนอาจล้มเหลวในชีวิตครอบครัว ลูกไม่สามารถเจริญรอยตามความสามารถทางหน้าที่การงานของพ่อแม่ได้ เพราะว่าลูกไม่เคยได้รับเวลา คำสั่งสอน ความใกล้ชิด และมีความสัมพันธ์ที่ดีจากพ่อแม่ที่เอาแต่ทำงาน จึงไม่สามารถเรียกได้เต็มปากว่า เขาเป็นคนประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นเพียงคนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเท่านั้น

ดังนั้นคนมีความสุข จึงหมายถึง คนที่มีสุขภาพดีทั้งกายและจิตใจ เป็นคนร่าเริงแจ่มใส ร่างกายแข็งแรง มีมนุษยสัมพันธ์ มีความรอบรู้ต่อทุกสรรพสิ่ง มีอิสระภาพรอดพ้นจากการตกเป็นทาสของอบายมุข และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างพอเพียงแก่อัตภาพ

จากคำนิยามความสุข คุณพ่อคุณแม่ก็จะเห็นได้แล้วว่า นอกจากการที่เราต้องช่วยลูกพัฒนาทักษะด้านความรู้ ความสามารถ เพื่อนำไปใช้หาเลี้ยงชีพในอนาคตแล้ว ยังมีอีกทักษะหนึ่งที่จำเป็นไม่แพ้กันในการที่ต้องเสริมเพิ่มให้แก่ลูก เพื่อให้เขามีชีวิตที่มีความสุขอีกด้วย นั่นคือ การพัฒนาให้ลูกเป็นคนจิตใจดี มองโลกในแง่ดี มีหลักธรรมะในการดำเนินชีวิต หลักธรรมที่มุ่งสอนให้คนเรามีความรักต่อกัน ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน และดำเนินชีวิตด้วยทางสายกลาง

ครอบครัวมีสุข
ครอบครัวมีสุข

ศักยภาพของคนดี มีอยู่ในตัวเด็กทุกคน

นิยามคำว่า “คนดี” 

ก่อนอื่นเราต้องมาให้คำจำกัดความของคำว่าคนดีกันเสียก่อน เพื่อความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งก็หมายถึง คนที่ดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีจิตใจที่ดีงาม มีคุณธรรมจริยธรรม มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ทั้งด้านจิตใจและพฤติกรรมที่แสดงออก เช่น มีวินัย มีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล มีเหตุผล รู้หน้าที่ ซื่อสัตย์ พากเพียร ขยัน ประหยัด มีจิตใจเป็นประชาธิปไตย เคารพความคิดเห็นและสิทธิของผู้อื่น มีความเสียสละ รักษาสิ่งแวดล้อม สามารถอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นอย่างสันติสุข

สิ่งต่าง ๆ ที่มาประกอบกันจนทำให้คนที่มีทักษะต่าง ๆ เหล่านั้นถูกเรียกว่า คนดี คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่ว่าลูกของเราทุกคนต่างเกิดมาพร้อมกับทักษะแห่งความดีเหล่านั้นอยู่แล้ว จะเห็นได้จากคำพูดที่ว่า “เด็กเป็นผ้าขาว” จึงเป็นเรื่องที่พ่อแม่อย่างเราต่างหากที่จะสามารถดึงศักยภาพความดีของลูกออกมาได้มากน้อยแค่ไหน การที่เราดึงศักยภาพออกมาได้เต็ม 100% ลูกก็จะกลายเป็นเด็กที่มีแต่ความสุขได้อย่างแน่นอน

6 ข้อง่าย ๆ ดึงศักยภาพความเป็นคนดีให้ลูกพร้อมมีความสุข

นักจิตวิทยา และงานวิจัยมากมายที่ได้กล่าวไว้ว่า การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้กับคน ๆ หนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ต้องเริ่มตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เมื่อลูกได้รับการเรียนรู้ถึงการฝึกจิตของตนให้ตั้งมั่นอยู่ในหลักธรรมที่ดีงาม เป็นที่ยอมรับของคนในสังคมแล้ว การเป็นคนดีของลูกก็ย่อมเป็นภูมิคุ้มกันชั้นเยี่ยมให้แก่เขาในอนาคต

เป็น คนดี มีความสุข
เป็น คนดี มีความสุข

ข้อที่ 1 ยิ่งให้ยิ่งได้รับ (ความสุข)

การรู้จักให้ หรือทาน เป็นหลักธรรมเบื้องต้น เป็นหลักธรรมแรกเริ่มของความดีทั้งหมด ช่วยให้เราไม่คิดจะเอาแต่ได้อยู่ฝ่ายเดียว ชีวิตที่คิดแต่จะเป็นฝ่ายได้รับเป็นชีวิตที่ไม่สมดุล เป็นจิตที่คับแคบ เห็นแก่ตัว ทำให้เป็นคนไม่น่ารัก และมีความสุขยาก

เด็ก ๆ เติบโตขึ้นมาได้เพราะเป็นฝ่ายรับจากผู้อื่นมาตั้งแต่เกิด ทั้งน้ำนม อาหาร ความอบอุ่น ตลอดจนความรู้ อาจทำให้เขาเกิดความเข้าใจที่ผิด เคยชินว่าเขาต้องเป็นฝ่ายได้สิ่งที่ต้องการ เป็นผู้รับฝ่ายเดียวเท่านั้น ซึ่งความคิดเช่นนี้ถ้าติดมาจนโต อาจเป็นปัญหาได้ ดังจะเห็นได้จาก เมื่อเด็กเข้าสู่วัยเข้าโรงเรียน เด็กบางคนที่ไม่ได้รับการสั่งสอนในเรื่องนี้มักมีปัญหาในการเข้าสังคมกับเพื่อน เพื่อนไม่รักเพราะไม่เคยมีน้ำใจต่อผู้อื่น

การสอนเด็กให้รู้จักให้ คือการสอนบทเรียนชีวิตข้อแรกว่า เมื่อรับแล้วต้องรู้จักให้ ต้นไม้ทุกต้นเติบโตเพราะได้รับน้ำ และอาหารจากพื้นดิน แต่เวลาเดียวกัน เขาก็รู้จักคายน้ำและทิ้งกิ่งใบให้เป็นปุ๋ยคืนแก่ดินด้วย เป็นการตอบแทนผืนดินที่หล่อเลี้ยงเขามา อีกทั้งยังให้อาหารและที่พักพิงแก่เพื่อนร่วมโลก เช่น นก กระรอก รวมทั้งมนุษย์

แต่การให้มิได้หมายถึงการตอบแทน หรือเป็นเพียงหน้าที่เท่านั้น พ่อแม่ควรสอนลูกถึงการให้ให้ลึกลงไปถึง การให้ที่ไม่ได้หวังผลตอบแทนอีกด้วย เราให้ผู้อื่น เพียงเพราะว่าเรารู้สึกมีความสุขที่เห็นเขาได้รับ จึงกล่าวได้ว่า “ผู้ให้ความสุขย่อมได้ความสุข” นั่นเอง

ตัวอย่างแนวทางการสอน

  • พาลูกไปใส่บาตรในตอนเช้า เริ่มจากการให้เขาได้เห็นแบบอย่างที่ดีจากพ่อแม่
  • ให้เขาเลือกของเล่นของตนเองนำไปบริจาคแก่เด็กผู้ยากไร้
  • พาลูกไปเล่นที่สนามเด็กเล่น ได้เจอเพื่อน เด็กคนอื่นการเล่นร่วมกันเป็นการสอนให้เขารู้จักให้ และแบ่งปันได้ดี

ข้อที่ 2 น้ำใจทำให้โลกน่าอยู่

คำว่า “น้ำใจ” อาจกล่าวได้ว่าเป็นความรู้สึกที่เกิดพร้อม ๆ กับการให้ เมื่อเรามีน้ำใจเราจึงให้ทาน เมื่อเราให้ทาน คนรับจึงเกิดความรู้สึกว่าเรามีน้ำใจต่อเขา เพียงแต่ว่าคำว่าน้ำใจจะมีความหมายกว้างกว่า เพราะไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของ จะให้อะไร ราคาเท่าไหร่ ไม่สำคัญ บางทีแค่เพียงความช่วยเหลือ การลงแรงเก็บขยะ งานอาสาก็เท่ากับมีน้ำใจที่คิดจะให้

ดังนั้นการแสดงน้ำใจต่อผู้อื่นจึงเป็นการง่ายสำหรับเด็กในการปฎิบัติได้จริง หากเขามีน้ำใจคุณค่าของคนเรามิได้อยู่ที่วัยหรือชื่อเสียงเงินทอง แต่อยู่ที่คุณภาพของใจต่างหาก ถึงจะไม่มีเงินให้ แต่ถ้ามีน้ำใจเสียแล้ว ก็สามารถให้สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเงิน

ตัวอย่างแนวทางการสอน

  • ปลูกฝังได้ด้วยการสอนให้ลูกรู้จักช่วยงานบ้าน แม้จะมีคนใช้ก็ตาม สอนการช่วยแบ่งเบาภาระงานของเขาในส่วนที่เป็นของตนเอง เช่น หลังกินข้าว ช่วยรวบจาน เทเศษอาหารในจานตนก่อนไปวางไว้ที่ล้างจาน เป็นต้น
  • หางานจิตอาสามาร่วมทำกับลูก เช่น อาสาเก็บขยะในชุมชน
ธรรมะสอนให้เป็น คนดี
ธรรมะสอนให้เป็น คนดี

ข้อที่ 3 รักษาศีล อยู่อย่างไม่เบียดเบียน

การช่วยเหลือผู้อื่นจะเป็นไปได้ ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการรู้จักรักษาตนไม่ให้ก่อความเดือนร้อนแก่ใคร หรือเอาเปรียบส่วนรวม เช่น การฆ่าสัตว์ ลักขโมย ฉ้อโกง ล่วงละเมิดของรักของสงวนของผู้อื่น โกหก หรือเข้าหาสิ่งเสพติด หรือเรียกให้เข้าใจง่ายคือการปฎิบัติตามหลัก “ศีล”นั่นเอง

พ่อแม่ที่สอนลูกไม่ให้เบียดเบียนใคร ไม่ว่าบุคคลหรือส่วนรวม เท่ากับสร้างรั้วป้องกันไม่ให้ความเดือดเนื้อร้อนใจเข้ามาใกล้ตัว ดังนั้นพ่อแม่จึงไม่ควรนิ่งดูดายหากลูกขโมยปากกาของเพื่อน ลอกการบ้าน ทุจริตในห้องสอบ หรือรังแก ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เพราะเมื่อเราเมินเฉยจนลูกเคยชินจนเป็นนิสัย เมื่อโตขึ้นเขาก็จะเห็นพฤติกรรมไม่ดีเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ ธรรมดา เมื่อเราทำผิดกฎของการอยู่ร่วมกัน ความเดือดเนื้อร้อนใจ การถูกลงโทษก็จะตามมา ทำให้ชีวิตของลูกย่อมไม่ได้รับความสุข ความเจริญเป็นแน่แท้

ตัวอย่างแนวทางการสอน

  • การสอนลูกยับยั้งชั่งใจ เมื่อลูกอยากได้ของเล่นพ่อแม่ควรวางกฎกติกาในการได้มาซึ่งของเล่นนั้น ไม่ใช่ตามใจซื้อให้ทุกครั้งที่ลูกร้องขอ เมื่อวันใดที่เขาอยากได้ในสิ่งที่ไม่ใช่ของเขา ก็อาจเกิดปัญหาการขโมยได้ ในเด็กเล็กอาจไม่เข้าใจความหมายของคำว่าขโมย เราจึงไม่ทำโทษลูกเมื่อลูกมีพฤติกรรมดังกล่าว แต่เราจสอนให้เขาเห็นถึงใจเขาใจเรา ถ้าของเราหายไปเราก็ไม่ชอบเช่นกัน
  • การให้ลูกได้มีโอกาสดูแลสัตว์เลี้ยง มอบหน้าที่ให้เขาเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการดูแล เพื่อให้ลูกเข้าใจถึงความแตกต่างของแต่ละคน แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้ พึ่งพากันและกัน เมื่อเขาเห็นถึงข้อนี้ ลูกก็จะไม่อยากไปรังแกใคร หรือสัตว์ตัวใด

ข้อที่ 4 สอนให้ลูกชื่นชม ยินดีผู้อื่นด้วยใจคือการสร้างนิสัยใฝ่ดี

การทำดี การทำบุญ ทำทาน หรือการมีน้ำใจ นอกจากจะสอนลูกให้มีพฤติกรรมเหล่านี้แล้ว พ่อแม่ควรสอนให้ลูกเห็นถึงเจตนาที่ดีในการทำมากกว่าการตัดสินจากวัตถุที่ให้ หรือจะเรียกให้ง่ายก็คือ การทำบุญด้วยใจ เราทำสิ่งที่ดี ๆ ต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ใช่เพราะหวังผลตอบแทน แต่เป็นการทำด้วยใจ และเมื่อลูกเข้าใจหลักการข้อนี้ เวลาเขาเห็นคนอื่นทำดี หรือแบ่งปันเขาจะรู้สึกชื่นชม ยินดีในเจตนาที่ดีของเขา มิใช่ตัดสินที่มูลค่าสิ่งของ และจะเลยไปถึงการยินดี ชื่นชมเมื่อเห็นคนอื่นได้ดีด้วย

การทำบุญด้วยใจ ทำให้เป็นกุศล และมีความสุข ตรงกันข้าม การอิจฉาคนอื่นที่ทำดีกว่าตน หรือถือตัวถือตน ทำให้จิตใจเร่าร้อนและเครียดง่าย แต่ถ้าอยากให้ลูกมีสุขภาพใจที่สมบูรณ์ พ่อแม่ควรสอนลูกให้รู้จักฝึกจิตใจให้มีภูมิคุ้มกันความทุกข์ ฉลาดในการจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบใจด้วย

ตัวอย่างแนวทางการสอน

  • สอนลูกให้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ถือตัวถือตนหรือดูถูกผู้อื่น เพราะเห็นว่าเขามีอายุน้อยกว่าเรียนมาน้อยกว่า หรือมีฐานะต่ำกว่า แม้กับคนงานหรือคนรับใช้ในบ้านก็ไม่ใช้อำนาจบาตรใหญ่กับเขา ข้อนี้รวมถึงการไม่ดูถูกคนที่นับถือศาสนาอื่นด้วย
  • เป็นตัวอย่างที่ดีในการพูดถึงคนอื่นในแง่ดี ไม่นินทาว่าร้ายผู้อื่น
เล่นดนตรี ฝึกสมาธิ
เล่นดนตรี ฝึกสมาธิ

ข้อที่ 5 สมาธิ..ฝึกใจให้สงบเบาสบาย

การฝึกสมาธิช่วยให้ใจสงบง่าย ดับความโกรธความเร่าร้อนได้ดี เวลาลูกโมโห ควรแนะให้ลูกหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ สัก 4-5 ครั้งเป็นอย่างน้อย แต่สมาธิจะได้ผลดี ต้องฝึกเป็นประจำแม้ในยามปกติ วิธีฝึกสมาธิสำหรับเด็ก ไม่จำเป็นต้องนั่งนิ่ง ๆ เหมือนผู้ใหญ่เสมอไป การให้เขารับรู้ความรู้สึกของตนเอง ณ ขณะนั้น การนั่งนับตัวเลข 1-10 จนครบเพื่อให้จิตใจสงบก็เป็นเสมือนการฝึกสมาธิสำหรับเด็กแล้ว

ตัวอย่างแนวทางในการสอน

  • พ่อแม่อาจใช้เกมช่วยให้เด็กมีสมาธิได้ เช่น ให้เด็กเคลื่อนไหวช้าๆ โดยเคลื่อนอวัยวะทีละส่วน เหมือนกับเป็นตุ๊กตาหุ่นยนต์ โดยมีกติกาให้เด็กสังเกตความรู้สึกทุกส่วนที่เคลื่อนไหววิธีนี้จะทำให้เด็กสนุกกับการจดจ่อทำให้เกิดสมาธิ
  • ไม่อนุญาตให้ลูกทำอะไรหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน เพราะเป็นการสร้างนิสัยจับจด ไม่มีสมาธิ เป็นนิสัยที่ไม่ทำให้ลูกสร้างจิตที่สงบได้ เวลาเกิดปัญหาเขาจะทำอะไรไม่ถูก แก้ปัญหาไม่ได้ ความสุขในชีวิตก็ไม่บังเกิด

ข้อที่ 6 ไม่ยึดถือตัวตน ใช้ปัญญาแก้ปัญหา

ปัญญาไม่ใช่เพียงแค่การเรียนเก่งเท่านั้น แต่เป็นการสร้างปัญญาให้ตนเอง ด้วยการคิดถูกคิดชอบ ไม่ยึดเอาความถูกใจของตนเองเป็นที่ตั้ง ซึ่งก่อนที่เราจะเกิดปัญญาได้ ต้องเริ่มจากการไม่ยึดถือตัวตน ความคิดของตนเท่านั้นที่ถูกต้อง หากเรายอมรับในเรื่องนี้ได้แล้ว เมื่อประสบกับปัญหาใดก็ตาม ลูกก็จะเอาความถูกต้องเป็นหลัก ยอมรับฟังคำตักเตือน เพื่อมาใคร่ครวญว่าที่เขาพูดนั้นถูกต้องไหม ท่าทีแบบนี้นอกจากจะทำให้ไม่ทุกข์เวลาถูกตักเตือนแล้ว ยังจะได้ประโยชน์ ช่วยพัฒนาตนเองอีกด้วย

ตัวอย่างแนวทางในการสอน

  • ฝึกให้ลูกทานอาหารในจานให้หมด ไม่เลือกรับประทานแต่ที่ชอบ เพราะทุกอย่างล้วนมีประโยชน์ต่อร่างกาย

เทคนิคง่าย ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปใช้เตรียมพร้อม สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ลูกได้พบแต่สิ่งที่ดีงาม เพราะว่าไม่มีสิ่งใดจะทำให้คนเป็นพ่อเป็นแม่อย่างเราดีใจไปกว่าการที่ได้เห็นลูกมีความสุข ความเจริญในชีวิต

ข้อมูลอ้างอิงจาก kroobannok.com / wsc.ac.th

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

“สอนลูกทำบุญ” อย่างฉลาด! ด้วย 6 วิธีสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูก

10 วิธีฝึกลูกให้ “กล้าแสดงออก” อย่างเหมาะสม ไม่ก้าวร้าว

10 ทักษะสอนลูกให้เป็นคนดี มีศีลธรรม!

เลี้ยงลูกอย่างไร? ให้ลูกมี พัฒนาการด้านอารมณ์ ที่ดี

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up