ส่วนใหญ่คุณแม่ให้เงินค่าขนม ลูกวัยประถม (8-10 ปี) ไปบริหารจัดการเองกันแล้วใช่ไหมคะ … แต่ปัญหาคือ ให้ไปเท่าไหร่ก็ไม่เคยเหลือเก็บ แถมยังมาขอเงินเพิ่มอีกด้วย ได้เวลาฝึกทักษะบริหารจัดการขั้นก้าวหน้าจากคำแนะนำของเราค่ะ
- ซื้อได้แต่ออกคนละครึ่งนะ “เพื่อให้ฉุกคิดก่อนซื้อ”
หากลูกออดอ้อนขอให้ซื้อของราคาแพงและดูแล้วว่าลูกอยากได้จริงๆ คุณแม่ก็ตกลงกับลูกได้ค่ะแต่คุณให้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น อีกครึ่งลูกต้องเก็บเงินเอง วิธีนี้นอกจากจะไม่เป็นการทำลายความหวังของลูกให้เขาเกิดอาการงอนสะบัดแล้ว ยังฝึกให้เขาได้คิดก่อนซื้อด้วยค่ะ เพราะต้องใช้เงินของตัวเองด้วยครึ่งหนึ่งนั่นเอง
- พาลูกเปิดบัญชี
การเปิดบัญชีเงินฝากถือเป็นการเตรียมอนาคตที่ดีให้ลูกในทางหนึ่ง แนะนำว่า ควรให้ลูกได้มีบัญชีเงินฝากที่เขาเก็บออมด้วยตัวเอง เพราะเมื่อได้ออม เขาจะได้เห็นจำนวนเงินในบัญชีที่เพิ่มมากขึ้นและได้รู้จักดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมาเป็นรางวัลจากความพยายามของตัวเองแม้จะเป็นเงินจำนวนเล็กน้อยแต่คุณให้กำลังใจลูกได้ว่า เงินจำนวนนี้จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อเขามีเงินออมมากกว่านี้ (ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง)ความภาคภูมิใจจะทำให้ลูกพากเพียรอดออมต่อไปนั่นเอง
- ถึงไม่ใช่เงินก็ออมได้นะ
มีของมากมายให้ลูกฝึกออมเช่น เก็บถุงพลาสติกไว้ใช้ซ้ำ ออมน้ำออมไฟ ใช้พลังงานแต่น้อย แม้จะไม่ใช่การออมเงิน แต่การออมสิ่งเหล่านี้ก็ช่วยครอบครัวประหยัดค่าใช้จ่ายในบ้านและยังถือเป็นการออมเพื่อส่วนรวมและสิ่งแวดล้อมของโลกด้วย ภารกิจการออมนี้แสนยิ่งใหญ่คุณแม่สามารถบอกเล่าให้ลูกรู้สึกภูมิใจได้เลยค่ะ
- รู้จักเก็บเพื่อให้
หรือที่เรียกง่ายๆ ว่าการบริจาคนั่นเองค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเสื้อผ้าข้าวของที่ไม่ใช้แล้ว หรือการบริจาคเงินออมบางส่วน การบริจาคเป็นการปลูกฝังนิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้ลูกน้อย แถมยังฝึกให้ลูกน้อยรู้จักวางแผนจัดการทั้งเงินและของใช้ของตัวเองไปในตัวด้วย
- แบ่งปันเพื่อความคุ้มค่า
การแบ่งปันบางครั้งทำให้เราได้บางสิ่งตอบแทนกลับมา เช่น หากคุณแม่แนะนำให้ลูกและเพื่อนๆ ซื้อขนมคนละชนิดมาแบ่งกันกิน ทุกคนก็จะได้กินขนมหลากหลายโดยไม่ต้องซื้อขนมมากมายให้เปลืองสตางค์ หรือแบ่งเสื้อผ้าใส่ระหว่างพี่น้อง เขาก็จะได้เสื้อผ้าสวยๆ ใส่ไม่ซ้ำโดยไม่ต้องซื้อเพิ่มมากมายเลย
บทความโดย : กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง