เด็กประถมราวครึ่งหนึ่งล้วนเคยถูกเพื่อนรังแกกันทั้งนั้น ขั้นตอนแรกในการช่วยลูกคือต้องใส่ใจปัญหานี้อย่างจริงจัง สอนวิธีให้เขารู้จักจัดการกับเพื่อนจอมเกเรด้วยตัวเอง โดยแนะนำให้ลูกปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้
1. หลีกเลี่ยงการระราน
ย้ำให้ลูกเข้าใจว่า เขาไม่ได้ทำอะไรผิดจนเป็นเหตุให้เด็กคนอื่นตามรังควาน แล้วอธิบายว่า การเดินหลบไปอีกทางหรือเปลี่ยนที่นั่งในโรงอาหารอาจช่วยหลีกเลี่ยงเพื่อนเกเรพวกนั้นได้
2. ทำใจดีสู้เสือ
เด็กเกเรมักชอบเห็นเหยื่อที่ถูกรังแกแสดงอาการหงุดหงิด โมโห หรือเกรงกลัว คุณจึงต้องช่วยลูกวัยประถมคิดหาวิธีโต้ตอบแบบสุขุมและเยือกเย็น เช่น เดินหนีไปเฉยๆ และถามกลับในทำนองว่า แล้วไง หรือเลิกตอแยได้แล้วนะ! และแนะนำลูกว่า ไม่ควรโต้กลับด้วยคำพูดแบบเดียวกับฝ่ายตรงข้าม เพราะจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่าเดิม
3. เกาะกลุ่มเพื่อน
เพราะเขาจะปลอดภัยถ้าแวดล้อมด้วยเพื่อนหลายๆ คน แต่ถ้าลูกไม่มีเพื่อนที่พอจะพึ่งพาได้ คุณก็พาเขาไปสมัครเข้าคลาสอะไรสักอย่างที่จะทำให้มีโอกาสได้พบเพื่อนที่มีความสนใจคล้ายๆ กัน
ถ้าลูกไม่อาจหยุดยั้งการกระทำของเพื่อนจอมวายร้ายด้วยตัวของเขาเอง คุณคงต้องเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสถานการณ์เริ่มรุนแรงมากขึ้นโดยขอให้ทางโรงเรียนรับรองว่าจะมีคุณครูคอยสอดส่องดูแลในบริเวณสนามเด็กเล่นหรือโรงอาหารตลอดเวลา และขอให้หานโยบายจัดการกับนักเรียนจอมเกเรอย่างจริงจัง เพราะวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยลูกได้คือการร่วมมือกับบุคลากรของทางโรงเรียน จะได้เป็นตัวอย่างการแก้ไขปัญหาที่ดีสำหรับลูก แถมเขายังได้รับความคุ้มครองจากคุณครูอีกต่างหาก
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง