ฟังกันได้ทั้งวี่ทั้งวัน แถมเปิดเสียงดังสุดๆ อีกต่างหาก หารู้ไม่ว่า เสียงแสบแก้วหูที่ดังต่อเนื่องจากหูฟังของเครื่องเล่นไฮเทคเหล่านั้น คือตัวทำลายประสาทรับเสียงชั้นดี เพราะเสียงที่ดังเกินพิกัดอาจทำให้เส้นประสาทหูฉีกขาดหรือเกิดบาดแผลจนทำให้เกิดอาการหูตึงก่อนวัยได้ง่ายๆ
หลายคนอาจสงสัยว่า วอล์คแมนและซาวนด์อะเบ๊าท์ซึ่งนิยมกันมานานก็ใช้หูฟังเหมือนกัน ทำไมเครื่องเล่น MP3 ถึงน่ากลัวกว่า นั่นก็เพราะ เครื่องเล่นที่ใช้ซีดีหรือเทปคาสเส็ทนั้นมีระยะเวลาจำกัด (ซีดี 1 แผ่นจุเพลงได้อย่างมากแค่ 20 – 30 เพลงเท่านั้น) พอเพลงหมด เด็กๆ ก็ต้องเปลี่ยนแผ่นหรือเลิกฟัง แล้วไปทำอย่างอื่น ขณะที่เครื่องเล่นแบบ MP3 จุเพลงได้เป็นพันๆ เพลง แถมเล่นต่อเนื่องได้นานกว่า 6 ชั่วโมงแล้วประสาทหูใครจะทนไหว
ความจริงผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ระยะเวลาที่เหมาะสมกับการฟังเพลงใน MP3 มากที่สุดคือไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง และควรเปิดเสียงในระดับที่เบาที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วย แต่ถ้าขืนยึดตามคำแนะนำเป๊ะๆ ทำใจไว้เลยว่า คุณต้องเปิดศึกกับบรรดาขาโจ๋มือใหม่ทั้งหลายที่ใส่หูฟังทั้งตอนนั่งรถ ทำการบ้าน หรือแม้แต่ตอนออกไปเดินเที่ยวแน่ๆ
ทางออกที่ดีที่สุดคือพบกันครึ่งทาง คือลดเวลาฟังเพลงลงอีกนิด บวกกับหรี่เสียงลงให้เบาที่สุดเท่าที่เจ้าวัยวุ่นจะยอม นอกจากนี้การทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น เช่น เล่นกีฬา ดูโทรทัศน์ หรือแม้แต่นั่งคุยกับคนในครอบครัว ก็อาจช่วยดึงเขาออกมาจากโลกส่วนตัวอันแสนอึกทึกได้บ้าง ดีกว่าฟังเพลงจาก MP3 ต่อเนื่องกันนานๆ ตั้งเยอะสัญญาณบ่งบอกว่าประสาทหูเริ่มถูกทำลาย
1. คุณได้ยินเสียงเพลงดังจากเครื่องเล่นของลูก ทั้งที่ลูกใส่หูฟังอยู่
2. ลูกฟังคนอื่นพูดไม่ค่อยได้ยิน หรือมักถามว่า อะไรนะ อยู่บ่อยๆ
3. เด็กๆ เร่งเสียงโทรทัศน์ให้ดังขึ้น ทั้งที่คนอื่นๆ ซึ่งนั่งอยู่ด้วยรู้สึกว่าเสียงดังพอแล้ว
4. ลูกออกปากถามเองเลยว่า ทำไมหนูไม่ค่อยได้ยินอะไรเลยอะแม่
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง