การให้ลูกทำงานพิเศษมีข้อดีหลายอย่าง ยิ่งถ้าเขาขอทำเองล่ะก็ ยิ่งดีใหญ่! เดฟ รีเลย์ ผู้ช่วยคณบดี คณะสังคมวิทยาความสัมพันธ์มนุษย์ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ให้คำแนะนำว่า หากเด็กๆ เกิดฮึดอยากหางานพิเศษทำละก็ ขั้นแรกให้พ่อแม่ลองสำรวจก่อนว่าลูกพร้อมแล้วจริงๆ ด้วยการตอบคำถาม 3 ข้อนี้
1. การรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้า
ลูกจะรับมือปัญหาเฉพาะหน้าได้ไหมถ้าเจอเรื่องยากๆ หรือมีอุปสรรคในการทำงาน อย่างตอนที่ทำถังล้มคว่ำน้ำหกเปียกพื้น เขาสามารถจัดการกับปัญหาเหล่านั้นได้ด้วยตนเองหรือเปล่า ก็เวลาทำงานจะวิ่งกลับมาตามให้พ่อแม่ไปช่วยทุกครั้งไม่ได้นี่นา
2. ความมุ่งมั่นของลูก
เขาจะมุ่งมั่นทำงานไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือเปล่า งานที่ต้องทำเป็นประจำ อย่างเช่น รดน้ำต้นไม้ หรืออาบน้ำให้เจ้าตูบของคุณน้าข้างบ้าน ลูกจะไม่เบื่อแล้วเลิกล้มความตั้งใจไปก่อนแน่หรือ คำใบ้อยู่ที่ ลูกเคยงอแงตอนที่ทำกิจกรรมนอกเวลาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นว่ายน้ำหรือคอร์สดนตรีหรือเปล่า เพราะกรณีนี้ก็คงไม่ต่างกันสักเท่าไร
3. ลูกกระตือรือร้นแค่ไหน
ถ้าหากว่าถูกปฏิเสธสักครั้งเวลาผลงานไม่เป็นที่พอใจเขาจะยอมแพ้หรือว่าสู้ต่อ
ถ้าหากว่าลูกผ่านแบบทดสอบเบื้องต้นทั้งหมดแล้ว ทีนี้ก็ถึงเวลามาช่วยผลักดันคนขยันเบอร์หนึ่งกันแล้ว
- เริ่มต้นจากงานบ้าน
งานในบ้านเป็นงานที่ปลอดภัยและเหมาะกับก้าวแรกของการเรียนรู้เรื่องความรับผิดชอบมากที่สุด มอบหมายภารกิจพิเศษนอกเหนือจากงานบ้านที่เขาต้องทำประจำ และมีค่าตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ ให้ อย่างเช่น ช่วยคุณแม่ช้อนลูกน้ำออกจากกระถางบัวหน้าบ้าน หรือช่วยนวดคลายปวดเมื่อยให้คุณพ่อหลังกลับจากทำงาน อย่าลืมชี้ให้เด็กๆ เห็นจุดที่บกพร่องและเอ่ยชมเวลาที่เขาทำภารกิจนั้นๆ ได้ดี ลูกจะได้เริ่มเข้าใจความคาดหวังของนายจ้าง (ที่ต้องจ่ายเงินให้งานที่เขาทำ) มากขึ้น
- บอกต่อกับเพื่อนๆ หรือเพื่อนบ้าน
เรื่องที่ลูกของคุณลองทำงานหารายได้ดูบ้างไม่แน่ อาจมีงานแปลกๆ ที่น่าสนใจให้ลูกได้เรียนรู้
- ช่วยลูกมองหางานใหม่ๆ
อาจเริ่มต้นจากความสนใจหรือความสามารถพิเศษของเขา เช่น ทำงานฝีมือง่ายๆ ออกขายหรือรับเล่นดนตรีในงานเลี้ยงเล็กๆ
- อย่าลืมเรื่องความปลอดภัย
ถึงอย่างไรลูกก็ยังเป็นเด็ก ทางที่ดีเลือกทำงานกับคนที่รู้จักนิสัยใจคอกันดี และไม่ใช่งานที่ไกลหูไกลตาพ่อแม่มากเกินไป ที่สำคัญต้องสอนลูกให้รู้จักระมัดระวังตัวด้วยนะ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง