“ไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงที่อวัยวะพัฒนาครบแล้ว แต่บางส่วนอาจยังไม่ทำงานหรือทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงเป็นช่วงที่เริ่มกระตุ้นพัฒนาการบางส่วน ควบคู่ไปกับการกินอาหารที่เหมาะสมได้ค่ะ”
กินเสริมดีกับลูกน้อย
“แม้ในช่วงไตรมาสที่ 2 อาหารจะไม่มีผลในเรื่องของความพิการแต่กำเนิด เพราะอวัยวะพัฒนามาครบแล้ว แต่อาจมีผลในเรื่องของการเจริญเติบโต คุณแม่จึงควรกินอาหารหลักให้ครบ 5 หมู่เหมือนเดิม เพื่อให้เด็กได้สารอาหารครบถ้วน อาหารที่ควรเลี่ยงก็ยังคงต้องเลี่ยงต่อไป และเสริมสารอาหารบางตัวเพื่อให้คุณแม่แข็งแรงและลูกน้อยพัฒนาสมองได้สมวัยค่ะ”
• ยาเสริมธาตุเหล็กและแคลเซียม
“เป็นยาที่หมอให้เพื่อร่างกายของคุณแม่โดยตรง เนื่องจากลูกน้อยจะดึงธาตุเหล็กและแคลเซียมจากคุณแม่ไปใช้เป็นจำนวนมาก อาจทำให้คุณแม่ขาดธาตุเหล็กและแคลเซียมได้ ดังนั้นสารอาหารสองตัวนี้จึงไม่ได้มีผลต่อพัฒนาการทางสมองโดยตรง แต่มีผลในการสร้างเม็ดเลือดและอวัยวะ รวมถึงเอนไซม์ในร่างกายของเด็กให้สมบูรณ์แข็งแรงค่ะ”
• โอเมกา 3 และดีเอชเอ
“สารอาหารทั้งโอเมกา 3 และดีเอชเอเสริมความสามารถของเซลล์ประสาทและเส้นใยในการสื่อประสาท ช่วยเสริมการทำงานของกล้ามเนื้อ การทำงานประสานกันระหว่างมือกับสายตา และมีส่วนเสริมสร้างทักษะการสื่อสาร สารอาหารทั้งสองชนิดหากินไม่ยากเพราะมีอยู่ในอาหารตามธรรมชาติ เช่น ปลาทะเลน้ำลึก ธัญพืชต่างๆ ซึ่งถ้าคุณแม่คิดว่าเพียงพอก็ไม่จำเป็นต้องซื้อยามากินเสริมค่ะ หมอแนะนำให้กินดีเอชเอบริสุทธิ์หรือดีเอชเอที่เสริมโอเมกา 3 เพื่อป้องกันการรับสารอาหารที่เกินจำเป็น แล้วดูปริมาณดีเอชเอให้ได้เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวันก็เพียงพอแล้วค่ะ”
กระตุ้นพัฒนาการ เริ่มได้ในไตรมาส 2
• กระตุ้นการได้ยินด้วยเสียงพ่อแม่และเสียงเพลง
“การพูดคุยกับลูกและเปิดเพลงให้ลูกฟังตั้งแต่เขาอยู่ในท้องมีส่วนกระตุ้นเซลล์ประสาทการได้ยินได้ค่ะ เพราะเสียงเหล่านี้จะช่วยให้ลูกน้อยคุ้นชินกับการเปลี่ยนแปลงระดับหรือความสูงต่ำของเสียง จะเลือกฟังเพลงบรรเลงสบายๆ หรือเสียงธรรมชาติที่ช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายก็ได้ค่ะ และระดับเสียงก็ไม่จำเป็นต้องดัง เอาเท่าที่คุณแม่ได้ยินก็เพียงพอ จะฟังเพลงสักวันละ 10-15 นาทีหลังอาหารก็ถือเป็นช่วงระยะเวลาที่สามารถกระตุ้นได้เหมาะสมแล้วค่ะ”
• กระตุ้นลูกด้วยสัมผัสจากพ่อแม่
“การลูบบริเวณท้องของคุณแม่ จะลูบขึ้นลง วนซ้าย วนขวาก็ได้ เพียงแต่ลูบด้วยความแผ่วเบา มีกระตุ้นลงน้ำหนักบ้างในบางช่วง หรือจะลองตบเคาะท้องคุณแม่เบาๆ ก็ได้ เพื่อให้ลูกน้อยรู้สึกถึงสัมผัสที่แตกต่าง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเซลล์ประสาทของลูกน้อยได้ค่ะ”
• เคลื่อนไหวเพื่อพัฒนาเซลล์ประสาทกับการทรงตัว
“การให้เด็กได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าการลอยอยู่ในน้ำคร่ำธรรมดา เช่น การเอียงซ้ายเอียงขวา การออกกำลังกายเบาๆ หรือการนั่งเก้าอี้โยก จะช่วยกระตุ้นเซลล์ประสาทที่เกี่ยวกับการทรงตัวให้ทำงานเพื่อปรับสมดุลของลูกได้ค่ะ แต่คุณแม่ควรปรึกษาหมอก่อนว่าสามารถออกกำลังกายได้หรือไม่ และทำได้มากน้อยแค่ไหน หากคุณแม่มีภาวะเสี่ยงต่อการเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนดหรือมีโรคประจำตัวบางกลุ่ม หมออาจขอให้งดออกกำลังกายเพื่อความปลอดภัยค่ะ”
อ่านเพิ่มเติม ไตรมาส 1 | ไตรมาส 3
ขอบคุณข้อมูลจาก : พญ. จิตรนพิน ดุลยเกษม สูตินรีแพทย์ เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลเวชธานี และที่ปรึกษา About Us Advanced Maternity Center
บทความโดย : กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง
ภาพ : Shutterstock