พัฒนาการทารก 1 เดือน และวิธีกระตุ้นพัฒนาการรอบด้าน! - Amarin Baby & Kids
พัฒนาการทารก 1 เดือน

พัฒนาการทารก 1 เดือน และวิธีกระตุ้นพัฒนาการรอบด้าน!

Alternative Textaccount_circle
event
พัฒนาการทารก 1 เดือน
พัฒนาการทารก 1 เดือน

เด็กแรกเกิด – 1 เดือน มีพัฒนาการทางด้านต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย มาดูกันว่า พัฒนาการทารก 1 เดือน มีอะไรบ้าง? และมีวิธีการกระตุ้นพัฒนาการได้อย่างไร? กันค่ะ

พัฒนาการทารก 1 เดือน และวิธีกระตุ้นพัฒนาการรอบด้าน!

ในเด็กแรกเกิดที่เพิ่งได้ลืมตาออกมาดูโลกกว้าง ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวล้วนเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับลูก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องเอาใจใส่ เข้าใจ ลูกน้อยให้มาก เพราะสิ่งที่ลูกสื่อสารออกมาจะทำได้แค่เพียงร้องไห้ ให้คุณพ่อคุณแม่เดากันเอาเองว่าลูกต้องการอะไร ดังนั้น มาดูกันว่า พัฒนาการทารก 1 เดือน มีอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้ดูแลลูกน้อยในเรื่องการกิน การนอน พร้อมทั้ง กระตุ้นพัฒนาการทารก กันได้อย่างถูกวิธีอีกด้วย

พัฒนาการทารก 1 เดือน เป็นอย่างไร?

เด็กทารกในช่วงเดือนแรกนั้น จะมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว แต่ยังคงทำได้เพียงกิน นอน ร้องไห้ และขับถ่าย จึงต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่ของผู้ปกครอง โดยเด็กทารกวัย 1 เดือน มีการเจริญเติบโตในแต่ละด้าน ดังนี้

การเจริญเติบโตของร่างกาย

เด็กจะมีน้ำหนักตัวลดลงในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ โดยหลังจากนั้นน้ำหนักจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเอง ซึ่งในช่วงเดือนแรกหลังคลอด เด็กอาจตัวยาวขึ้นถึง 3.8 เซนติเมตร และอาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นถึง 900 กรัมจากแรกเกิด แต่การเจริญเติบโตของเด็กแต่ละคนอาจไม่เท่ากันเพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วย

การใช้กล้ามเนื้อ

เมื่ออายุได้ 1 เดือน เด็กทารกจะสามารถยกหัวขึ้นเองได้บ้างแล้วในขณะนอนคว่ำ แต่ก็ยังคงต้องประคองหัวของเด็กไว้ตอนอุ้มเด็กขึ้นมา เพราะคอยังไม่แข็งแรงมากนัก

อ่านต่อ : พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ของทารกวัยแรกเกิด ถึง 3 ปี

การกิน

ปุ่มรับรสที่อยู่บนลิ้นของเด็กวัยนี้จะยังทำงานได้ไม่ค่อยดีนัก โดยลิ้นของเด็กจะรับรสหวานได้ดีที่สุด แต่ยังไม่สามารถแยกแยะรสเปรี้ยวหรือรสขมได้ ส่วนเรื่องอาหาร เด็กควรดื่มแค่นมแม่หรือนมผงสำหรับทารกแรกเกิดก็เพียงพอแล้ว

อ่านต่อ : ทารกกินกล้วย เสียชีวิต! ด้วยวัยเพียง 7 วัน

การนอน

เด็กทารกในช่วงเดือนแรกนั้นควรนอนวันละประมาณ 15 – 16 ชั่วโมง แบ่งเป็นนอนกลางวันประมาณ 3 ครั้ง รวมแล้วประมาณ 7 ชั่วโมง และนอนตอนกลางคืนเป็นช่วง ๆ อีกประมาณ 8.5 ชั่วโมง แต่อาจจะแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน

อ่านต่อ ตารางการนอนของทารก นอน/ตื่นกี่ครั้ง นอนนานแค่ไหน?

พัฒนาการทารก
พัฒนาการทารก

การมองเห็นและการจดจำ

เด็กทารกวัย 1 เดือนจะมองเห็นได้ชัดที่สุดในระยะ 20-30 เซนติเมตร และจะมองเห็นสีตัดกันอย่างสีขาวดำและสีที่ชัดเจนได้ดีกว่าสีทั่วไป โดยเด็กแรกเกิดอาจมีอาการตาเหล่ด้วย ซึ่งอาการจะหายไปเองหลังจากผ่านไป 3 – 4 เดือน นอกจากนี้ เด็กจะสามารถจดจำใบหน้า เสียง และกลิ่นที่คุ้นเคยได้ อย่างหน้าตาของแม่ เสียงของแม่ และกลิ่นของน้ำนมแม่ อีกทั้งเด็กอาจจำเสียงของแม่หรือคนในครอบครัวได้และอาจหันไปหาเสียงที่คุ้นเคยด้วย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรเล่นกับเด็กบ่อย ๆ เพื่อให้เด็กเกิดการจดจำ

อ่านต่อ นี่คือสายตาของเด็กทารกที่มองเห็นพ่อแม่ในแต่ละเดือน จนถึงอายุ 1 ขวบ

การสื่อสาร

เด็กทารกในวัยนี้ทำได้แต่ร้องไห้เพียงอย่างเดียว ยังไม่สามารถพูดเป็นภาษาเพื่อสื่อสารกับคนอื่นได้ จึงต้องอาศัยความเอาใจใส่ของผู้ปกครองในการสังเกตลักษณะและอาการต่าง ๆ เพราะอาจพอทราบได้ว่าการร้องไห้แบบไหนสื่อถึงอะไรบ้าง เมื่อรู้ความต้องการแล้วอาจช่วยให้หาทางรับมือได้อย่างถูกวิธี เช่น ให้เด็กกินนม หรืออุ้มเด็กเดินไปมาพร้อมร้องเพลงกล่อม เป็นต้น แต่หากเด็กร้องไห้นานหรือบ่อยผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณของอาการโคลิคหรือโรคอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กได้ ซึ่งพ่อแม่ควรไปปรึกษาแพทย์หรือพาเด็กไปรับการตรวจอย่างเหมาะสม

อ่านต่อ ถอดรหัส 18 ภาษาทารก ลูกร้องแบบนี้..แปลว่าอะไรนะ?

เมื่อทราบถึง พัฒนาการทารก กันแล้ว การส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการที่ตามวัยก็สำคัญเช่นเดียวกัน เพื่อให้ลูกได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสม ทั้งด้านการเคลื่อนไหว การเข้าใจภาษา ด้านการช่วยเหลือตัวเอง และด้านสังคม มาดูเคล็ด (ไม่) ลับ ในการกระตุ้นพัฒนาการทารก 1 เดือนกันค่ะ

การกระตุ้นพัฒนาการทารก 1 เดือน

ด้านการเคลื่อนไหว (กล้ามเนื้อ)

ทักษะ : ท่านอนควํ่า เด็กสามารถยกศีรษะและหันศีรษะไปข้างใดข้างหนึ่งได้

อุปกรณ์ : กรุ๋งกริ๋ง

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ

  1. จัดให้เด็กอยู่ในท่านอนควํ่า ผู้ปกครองเขย่าของเล่นที่มีเสียงตรงหน้าเด็ก ระยะห่างประมาณ 30 ซม. (1 ไม้บรรทัด) เมื่อเด็กมองที่ของเล่นแล้วค่อย ๆ เคลื่อนของเล่นมาทางด้านซ้าย เพื่อให้เด็กหันศีรษะมองตาม
  2. ค่อย ๆ เคลื่อนของเล่นกลับมาอยู่ที่เดิม
  3. ทําซํ้าอีกครั้งโดยเปลี่ยนให้เคลื่อนของเล่นมาทางด้านขวา

ด้านการเข้าใจภาษา

ทักษะ : เด็กมีการสะดุ้งหรือเคลื่อนไหวร่างกายเมื่อได้ยินเสียงพูดระดับปกติ

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ

  1. จัดเด็กอยู่ในท่านอนหงาย ผู้ปกครองเรียกชื่อหรือพูดคุยกับเด็กจากด้านข้างทั้งข้างซ้ายและขวา โดยพูดเสียงดังปกติ
  2. หากเด็กสะดุ้งหรือขยับตัวเมื่อผู้ปกครองพูดคุยเสียงดังปกติ ให้ผู้ปกครองยิ้มและสัมผัสตัวเด็ก
  3. ถ้าเด็กไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ ให้พูดเสียงดังเพิ่มขึ้น โดยจัดท่าเด็กเช่นเดียวกับข้อ 1 หากเด็กสะดุ้ง หรือขยับตัวให้ลดเสียงลงอยู่ในระดับดังปกติ พร้อมกับสัมผัสตัวเด็ก
กระตุ้นพัฒนาการทารก
กระตุ้นพัฒนาการทารก

ด้านการช่วยเหลือตนเองและสังคม

ทักษะ : เด็กสามารถมองจ้องหน้าได้นาน 1-2 วินาที

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ

  1. จัดเด็กอยู่ในท่านอนหงาย หรืออุ้มเด็กให้หน้าผู้ปกครองห่างจากเด็กประมาณ 30 ซม. (1 ไม้บรรทัด)
  2. สบตาและทําตาลักษณะต่าง ๆ เช่น ตาโต กระพริบตา เพื่อให้เด็กสนใจ
  3. พูดคุย ยิ้มเพื่อให้เด็กมองที่ปากแทนสลับกันไป

หมายเหตุ อาจทําขณะอาบนํ้าหรือแต่งตัวเด็ก หรืออุ้มเด็กให้เด็กหันหน้ามาทางผู้ปกครอง แล้วทาหน้าตาหรือส่งเสียง ให้เด็กสนใจ เมื่อเด็กมองตาให้พูดคุยและยิ้มด้วย

เทคนิคต่าง ๆ ในการดูแลเด็กทารก

สำหรับเด็กทารกในวัยนี้มีกิจกรรมที่ทำอยู่ไม่กี่อย่างเท่านั้น หากเด็กทำกิจกรรมใดน้อยกว่าหรือมากกว่าปกติ นั่นอาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติที่เกิดขึ้น

โดยเรื่องที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการดูแลเด็กวัยนี้ ได้แก่

  • ดูแลเรื่องการกินนม หากเป็นนมมารดา เด็กจะดูดนมประมาณ 8 ครั้งต่อวัน แต่ละครั้งเป็นเวลาอย่างน้อยประมาณ 10 – 15 นาที หรือเมื่อสังเกตได้ว่าเด็กอิ่ม แต่หากเป็นนมผง เด็กอาจดื่มถึงครั้งละประมาณ 120 มิลลิลิตร หรือ 4 ออนซ์ ในทุก ๆ 3 – 4 ชั่วโมง
  • สังเกตการขับถ่าย เด็กทารกวัยนี้ควรต้องขับถ่ายและใช้ผ้าอ้อม 4 – 6 ผืนต่อวัน แต่เด็กอาจอุจจาระวันละครั้ง หรือไม่อุจจาระเลยเป็นเวลา 1 – 2 วันก็ได้หากลักษณะอุจจาระปกติดี ซึ่งอุจจาระของเด็กที่กินนมมารดาจะค่อนข้างเหลว แต่หากเด็กกินนมผง อุจจาระจะยังเหลวอยู่แต่ดูเป็นก้อนกว่าอุจจาระของเด็กที่ดื่มนมมารดา แต่ก็ไม่ควรมีลักษณะแข็งจนเกินไป

ได้ทราบถึงการเจริญเติบโต และพัฒนาการต่าง ๆ ของทารกในวัยแรกเกิด – 1 เดือน กันแล้ว คราวนี้คุณพ่อคุณแม่ก็จะสามารถเดาใจลูกน้อยได้ว่าต้องการอะไรกันแล้ว และยังสามารถกระตุ้นพัฒนาการทารกให้เหมาะสมตามวัยกันอีกด้วย

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ถอดรหัส เสริมพัฒนาการ 11 กระบวนท่าของทารกที่พ่อแม่มือใหม่ควรรู้!

20 อาการปกติของ ทารกแรกเกิด ที่พ่อแม่ควรรู้มีอะไรบ้าง?

10 พัฒนาการทารก (วัยแรกเกิด-12 เดือน) ที่บอกว่ารักคุณ

ศีรษะทารกแรกเกิด มีแผลอย่ารีบโวยอาจไม่ใช่จากการทำคลอด

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.pobpad.com, สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up