4. ความรู้สึกมีหลายระดับ การจัดการแต่ละระดับอาจจะไม่เหมือนกัน
โดยทั่วไปแล้วหากเป็นเพียงความรู้สึกโกรธ กังวล เศร้า แค่เพียงเล็กน้อย การจัดการแบบง่ายๆ เช่น นับ 1-10 หรือ พยายามมองโลกในแง่ดีอะไรทำนองนี้ก็มักจะเพียงพอที่จะทำให้อารมณ์ของลูกสงบลงได้ แต่หากความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นมันมาก ท่วมท้น และรุนแรง คุณพ่อคุณแม่จะรับรู้ได้ก็ด้วยการสังเกตการแสดงออกของลูก หรือ การตั้งคำถาม เช่น “ที่หนูกลัวโดนคุณครูดุนี่ หนูกลัวแค่ไหนลูก กลัวนิดหน่อย กลัวปานกลาง หรือกลัวมาก”
ในกรณีที่ลูกอยู่ในวัยประถม เราอาจจะถามเป็นตัวเลขก็ได้เช่น “สมมุติ เลข 0 คือไม่เศร้าเลย ส่วนเลข 10 คือ เศร้าที่สุดในโลก จาก 0 ถึง 10 ตอนนี้หนูเศร้าประมาณเท่าไหร่ลูก” และหากคำตอบที่ได้คือ กลัวมากมาก หรือ เศร้าแบบ 10 เต็ม 10 สิ่งที่ดีกว่าการสอนให้เขาลองคิดแบบนั้นทำแบบนี้ อาจจะเป็นการปลอบประโลมให้อารมณ์ของเขาสงบลงเสียก่อน ซึ่งจะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไป
5. บางครั้งอารมณ์ก็ต้องการเวลาและการปลอบใจ
ในช่วงแรกเราอาจจะทำอะไรกับมันได้ไม่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราประสบเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความรู้สึก โกรธ กลัว หรือ เสียใจแบบสุดขีด เมื่ออารมณ์นั้นกำลังเกิดขึ้นแบบสดๆร้อนๆ ในช่วงแรกลูกอาจต้องการเพียงแค่การปลอบประโลม เช่น การกอด ลูบหัวเบาๆ หรือ คำพูดที่แสดงความเห็นใจ เช่น “โถ หนูคงกลัวมากเลยใช่มั้ยเนี่ย ไม่เป็นไร แม่อยู่นี่แล้วลูก แม่อยู่นี่แล้ว” จนเมื่ออารมณ์ของเขาค่อยๆสงบลง (ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการปลอบของคุณ) หลังจากนั้นก็จะเป็นเวลาที่เหมาะมากที่คุณจะสอนเขาว่า ในคราวต่อไปเขาควรที่จะทำอย่างไรกับทั้งความรู้สึกของตัวเอง และ วิธีจัดการกับปัญหาต่างๆที่เขาจะต้องเจอ
6. ความเชื่อเปลี่ยน ความรู้สึกเปลี่ยน
เพราะความคิด ความเชื่อ หรือ การมองโลกของคนเรานั้น มักจะมีผลต่อความรู้สึก เช่น หากลูกของคุณเชื่อว่าคุณรักน้องของเขามากกว่าตัวเขาเอง หรือ หากลูกของคุณเชื่อว่า ที่คุณครูไม่เลือกเขาให้เป็นตัวเอกของละครเวที เพราะว่าคุณครูไม่ชอบเขา คุณก็คงจะพอเดาได้ว่าเด็กๆที่มีความเชื่อแบบนี้ เขาน่าจะรู้สึกอย่างไร และจากตัวอย่างที่ได้ยกมาข้างต้น คุณก็คงจะพอมองเห็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ นั่นก็คือขึ้นชื่อว่า “ความเชื่อ” แล้วมันอาจจะเป็นเรื่องจริง หรือ อาจจะไม่จริง หรือ อาจจะจริงแต่ไม่ทั้งหมดก็ได้ และก็บ่อยมากทีเดียวที่เด็กๆของเราจะรู้สึกทุกข์ใจ จากความเชื่อที่มันไม่จริง หรือ จริงแต่ไม่ทั้งหมด จึงทำให้วิธีจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกวิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยม ก็คือการชวนลูกให้ทบทวนความเชื่อของตัวเองว่ามันจริงรึเปล่าโดยการตั้งคำถาม เช่น “ลูกว่ามีเหตุผลอื่นอีกมั้ยที่ทำให้เพื่อนของลูกเค้าพูดกับลูกแบบนั้น” หรือในกรณีที่ความเชื่อของลูกนั้นเป็นเรื่องจริง เช่น เพื่อนของเขาอาจจะไม่ชอบเขาจริงๆ คุณก็ยังสามารถที่จะชวนเขาพูดคุยต่อไปได้ว่า แล้วเขาสามารถที่จะทำอะไรกับเรื่องที่เกิดขึ้นได้บ้าง ซึ่งหากสุดท้ายแล้วมันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขหรือทำอะไรได้ คุณก็ยังสามารถที่จะปลอบใจเขา เข้าใจความรู้สึกของเขา หรืออาจจะชวนเขาปรับตัว หรือ ปล่อยวางกับเรื่องเหล่านั้นก็ยังได้
7. อารมณ์ที่รุนแรงอาจเกิดจากการสะสม
โดยทั่วไปแล้ว เมื่อมีเหตุการณ์ อะไรก็ตามมากระทบจิตใจของคนเราจนมีความรู้สึกเกิดขึ้น หากไม่ใช่ความรู้สึกอะไรที่รุนแรงมากนัก คนเราก็มักจะใช้วิธีจัดการแบบง่ายๆที่เราเรียกว่า “เก็บความรู้สึก” หรือถ้าจะเรียกว่า” ก็ทนๆเอา” ก็คงจะประมาณนั้น ซึ่งคนเรานั้นก็จะมีความสามารถในการเก็บอารมณ์ได้ประมาณนึง โดยจะเก็บสะสมเอาไว้ในใจเหมือนเวลาที่เราเก็บน้ำเอาไว้ในเขื่อน
ยกตัวอย่าง เช่น หากมีคนๆหนึ่งชอบมาพูดจาล้อเลียนเราในทุกๆเรื่อง สีผิวบ้าง น้ำหนักตัวบ้าง เรื่องรสนิยมบ้าง ถึงคำพูดอาจจะดูเหมือนทีเล่นทีจริง แต่บางครั้งก็อาจทำให้เราเกิดความรู้สึก ที่อาจจะเลือกเก็บมันเอาไว้ในใจทุกวันๆ จนเมื่อ “เขื่อนอารมณ์” ใกล้จะเต็มคุณก็อาจจะพบว่าเมื่อได้ยินคำพูดแบบเดิมๆ จากคนเดิมๆ แต่ในคราวนี้ คุณอาจจะทนมันได้น้อยลง และ อาจจะตอบโต้หรือแสดงความรู้สึกออกมาอย่างรุนแรงราวกับภูเขาไฟระเบิดจนทำให้คนรอบข้างงงว่า คุณเป็นอะไร นั่นก็เป็นเพราะว่า ความรู้สึกที่สะสมมานานนั้น มันพรั่งพรูออกมาโดยมีเรื่องอะไรเล็กๆน้อยๆในวันนี้มาสะกิดนั่นเอง
ดังนั้น เมื่อคุณสังเกตเห็นว่าลูกนั้นมีปฏิกริยารุนแรงอย่างไม่สมเหตุสมผลกับเรื่องอะไรเล็กๆน้อยๆ นอกจากการสอนให้เขาควบคุมความรู้สึก ณ ตอนนั้นแล้ว คุณก็อาจจะต้องคอยมองหาด้วยว่า เขามีเรื่องอื่นๆที่ทำให้ทุกข์ใจค้างอยู๋ในเขื่อนอารมณ์ของเขาบ้างรึเปล่า
อ่านต่อ >> “ทักษะสร้างหลักคิดเพื่อพัฒนาอารมณ์ EQ ของลูกน้อย ที่พ่อแม่ควรรู้” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่