สอนลูกให้เป็นคนดี ง่ายๆ เพียงพ่อแม่เตรียมพร้อมลูกน้อย เติบโตอย่างมีคุณภาพ เข้มแข็งและมีความสุขด้วยหลักธรรมะ
ด้วยสภาพสังคมอันวุ่นวายและซับซ้อนในปัจจุบันคงทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายครอบครัวกลับมาตั้งคำถามว่า ‘เราจะเลี้ยงลูกให้เติบโตขึ้นไปอย่างเข้มแข็งและมีความสุขได้อย่างไร?’ เพราะการเลี้ยงลูกในยุคนี้ ดูเหมือนจะใช้ความรักเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องมี ‘ธรรมะ’ เป็นหลักปฏิบัติ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้ลูกพร้อมรับมือกับทุกความเปลี่ยนแปลงของชีวิตและปรับตัวเข้ากับสังคมรอบด้าน
Amarin Baby&Kids จึงขอรวบรวม 10 ทักษะเด็กดีที่พ่อแม่ควรปลูกฝังให้ลูก เพื่อให้ลูกน้อยเติบโตขึ้นไปเป็นคนดีที่ถึงพร้อมด้วยปัญญาและมีความสุขอย่างแท้จริง
10 ทักษะ สอนลูกให้เป็นคนดี มีศีลธรรม
สอนลูกให้เป็นคนดี ทักษะที่ 1 ทางสายกลาง จัดสมดุล
“ปัจจุบันหลายครอบครัวประสบปัญหา ‘การทำหน้าที่อย่างไม่สมดุล’ มีทั้งที่เกิดจากความขาดบกพร่อง ละเลย, ให้มากเกิน หรือเข้มงวดเกินไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อเด็กโดยตรง”
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อํานวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดลให้ความเห็น พร้อมเสริมว่า ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์นั้นมีอยู่ 3 ข้อ ได้แก่ ความต้องการทางกายภาพ คือปัจจัยสี่และความปลอดภัย , ความต้องการทางจิตใจ คือการได้ความรัก การเอาใจใส่ การสนับสนุน, และความต้องการทางสังคม คือการมีปฏิสัมพันธ์ภายในบ้านและสังคมภายนอก
ความต้องการเหล่านี้หากได้รับการตอบสนองอย่างพอดี เด็กก็จะเป็นสุข แต่หากได้รับอย่างไม่สมดุล บางอย่างมากเกินไป หรือบางอย่างน้อยเกินไป ก็ย่อมทำให้เกิดปัญหา ยกตัวอย่างเช่น หากพ่อแม่มุ่งให้แต่ความต้องการทางกายภาพ แต่ไม่มีเวลาให้ความรักความเอาใจใส่ ก็อาจทำให้ลูกกลายเป็นคนที่สนใจในวัตถุ ขาดพร่องเรื่องของความอบอุ่น แต่ถ้าทุ่มเทความรักมากแบบเข้มข้นจนกลายเป็นตามใจและปกป้องลูกมากเกินไป เด็กก็จะอ่อนแอ ไม่สามารถอดทนต่อความยากลำบากใดๆ ได้ หรืออีกกรณีหนึ่ง มีการดูแลอย่างเข้มงวดกวดขัน ทุกอย่างต้องเป็นตามกฎระเบียบ ไม่มีความยืดหยุ่น ลูกก็จะกลายเป็นคนเคร่งเครียด กดดัน และขาดอิสระในการตัดสินใจจนกลายเป็นคนไม่กล้าคิดนอกกรอบ
ทางสายกลาง จึงเป็นทางออกที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงลูกในทุกยุคสมัย และเป็นคุณธรรมที่ควรปลูกผังให้ลูกติดตัวไปจนเติบโต
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ แนะนำว่า การเลี้ยงลูกแบบสายกลางจะต้องอิงความเป็นธรรมชาติ ผสมผสานหลายวิธี มากบ้างน้อยบ้างตามสถานการณ์ บางครั้งต้องเข้มงวดและคาดหวัง บางครั้งต้องปล่อย บางครั้งต้องปกป้องภยันตรายให้ และบางครั้งก็ต้องทําไม่รู้ไม่เห็นบ้าง เพื่อให้ลูกเติบโตได้ด้วยตนเอง
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ให้คำแนะนำเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า พ่อแม่ควรประพฤติตนเป็นตัวอย่าง ใช้สติพิจารณาว่าในเวลานี้เด็กควรได้รับความรักและการอบรมแบบใดจึงเหมาะสม สร้างวินัยให้ลูกโดยตั้งอยู่บนฐานเมตตาธรรม หรือที่รู้จักกันดีว่า วินัยเชิงบวก ไม่ต้องเลี้ยงลูกอวดใคร ไม่ต้องเลี้ยงให้สมบูรณ์แบบ ขาดตกบกพร่องไม่ได้ หรือขาดจนลูกโหยหา
♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠
สอนลูกให้เป็นคนดี ทักษะที่ 2 รู้จักตนเอง
ความตระหนักในตน (Self-Awareness) นั้นถือเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของความฉลาดทางอารมณ์ของมนุษย์ หมายถึงความสามารถในการรับรู้อารมณ์ ความรู้สึกของตนเอง มีความเชื่อมั่นในตนเอง และตัดสินใจได้ตามวัย พ่อแม่ควรฝึกฝนให้ลูกรู้จักตนเอง เห็นคุณค่าและเชื่อมั่นในตัวเอง หมั่นสังเกตว่าลูกมีความสนใจด้านไหนหรือทำสิ่งใดได้ดีและสนับสนุนให้ลูกทำสิ่งที่ตนถนัด โดยไม่คาดหวังหรือผลักดันมากจนเกินไป
กำลังใจและคำพูดเชิงบวก เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างภาคภูมิใจในตัวเองให้กับลูก พ่อแม่ต้องหลีกเลี่ยงคำพูดซ้ำเติม รวมถึงคำพูดและความคิดเห็นด้านลบ ชื่นชมความพยายามของลูกมากกว่าผลสำเร็จของสิ่งที่ลูกทำ ขณะเดียวกันก็ต้องปล่อยให้ลูกพบกับความผิดหวังบ้าง เพื่อให้ลูกรู้ข้อด้อยของตนเองและปรับปรุงพัฒนา
♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠
สอนลูกให้เป็นคนดี ทักษะที่ 3 เข้าใจโลก เข้าใจความจริงของชีวิต
ทุกสิ่งในโลกล้วนเกิดมาจากธรรมชาติและสุดท้ายก็ต้องกลับคืนสู่ธรรมชาติ ไม่มีสิ่งใดยั่งยืน เป็นความเที่ยงแท้ของชีวิต มนุษย์ทุกคนมีเกิดแล้วก็ต้องมีดับ ท้ายสุดไม่สามารถนำสิ่งใดติดตัวไปได้ พ่อแม่อาจคิดว่าเรื่องนี้เป็นธรรมะขั้นสูง แต่ความจริงแล้วเป็นสิ่งที่เด็กสามารถพบเจอได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปลูกผังให้ลูกพร้อมรับกับความจริงของชีวิตและเผชิญหน้าความเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มแข็ง
ทั้งนี้ศาสนาพุทธมีคำสอนเรื่องของ อริยสัจ 4 หรือ ความจริงแห่งชีวิต 4 ประการ ได้แก่
- ทุกข์ คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ความไม่สมหวังทั้งปวง รวมไปถึงความสูญเสีย เมื่อลูกรู้สึกโกรธ ผิดหวัง เศร้าเสียใจ พ่อแม่ไม่ควรลงโทษ หรือใช้อารมณ์รุนแรงตอบโต้ แต่ให้ลูกได้มีเวลาพิจารณาอารมณ์เหล่านั้น เช่น การลงโทษด้วยการ time out ให้ลูกได้สงบสติอารมณ์ เมื่ออารมณ์เย็นลงแล้ว จึงค่อยพูดคุยกับลูกว่า อารมณ์แง่ลบที่ลูกแสดงออกนั้น เกิดจากความรู้สึกอย่างไร
- สมุทัย คือ เหตุแห่งทุกข์ พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้ว่า เมื่อมีความทุกข์แล้ว ความทุกข์นั้นเกิดจากอะไร ให้ลูกลองพิจารณาด้วยเหตุผล เช่น หากลูกผิดหวังเพราะทำคะแนนสอบได้ไม่ดี ควรมาช่วยกันแก้ไขว่าที่ทำข้อสอบไม่ได้นั้นเกิดจากอะไร
- นิโรธ คือ ความดับทุกข์ เมื่อรู้ต้นเหตุของความทุกข์แล้วก็ต้องหาทางกำจัดเสีย ทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้นอีกหรือเกิดก็น้อยลง โดยการทำความเข้าใจ หากเป็นทุกข์ที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลง เช่น การสูญเสียสิ่งที่รักที่ผูกพัน ก็ต้องทำใจและยอมรับความจริงของชีวิต
- มรรค คือ ทางดับทุกข์ หนทางนำไปสู่ความดับทุกข์ คือการใช้ชีวิตอย่างมีสติ เพื่อให้เกิดปัญญา ที่จะชี้นำไปสู่หนทางของการพ้นทุกข์
อ่านต่อ >> “ทักษะสอนลูกให้เป็นคนดี มีศีลธรรม” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่