“ พ่อที่ดีของลูก ต้องปฏิบัติหรือเลี้ยงดูลูกให้ดีตั้งแต่เกิด พ่อต้องทำตัวให้ลูกไว้วางใจ เชื่อมั่น และรักใคร่ ยิ่งเล็กเท่าไรยิ่งต้องใส่ใจ เพราะเป็นช่วงสำคัญของการพัฒนาอารมณ์และทางกายที่จะอยู่กับลูกตลอดชีวิต
ที่สำคัญบทบาทของคนเป็นพ่อไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้เป็นแม่เลย หลายคนมองข้ามความสำคัญของพ่อไป แต่ที่จริงแล้ว พ่อให้ความรู้สึกที่สมหวังและพึงใจได้มากมาย พ่อมีอิทธิพลต่อพัฒนาการของเด็กแรกเกิดอย่างที่เรานึกไม่ถึง พ่อควรจะมีบทบาทในการเลี้ยงลูกโดยตรงมากขึ้น โดยไม่ใช่มีหน้าที่เพียง “หาเงิน” มาซื้อนมให้ลูกกินเพียงอย่างเดียว ปล่อยให้ภาระการเลี้ยงลูกอ่อนเป็นของแม่
การที่พ่อสัมผัสถูกเนื้อต้องตัวลูกอย่างรักใคร่ทะนุถนอม มักจะช่วยให้ลูกมีความรู้สึกผูกพันกับพ่ออย่างลึกซึ้งเมื่อโตขึ้น และไม่ควรมีเหตุผลหรือข้ออ้างใด ๆ ที่พ่อจะเอาใจใส่ และเลี้ยงลูกอย่างที่แม่ทำไม่ได้ เพราะทุกวันนี้ พ่อและแม่ต่างก็หาเงินมาเลี้ยงลูกด้วยกัน ทั้งสองคนก็น่าจะช่วยกันเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน ดูแลทุกข์สุขให้กับลูกเท่า ๆ กัน
หน้าที่ของพ่อที่ควรปฏิบัติมีดังนี้
1. ช่วยภรรยาเลี้ยงลูก
ในอดีตภาระหน้าที่การเลี้ยงดูลูกเป็นความรับผิดชอบของแม่แต่เพียงผู้เดียว แต่ปัจจุบันเมื่อสังคมเปลี่ยนไป แม่มิได้ทำหน้าที่เป็นแม่บ้านเท่านั้น แต่ยังเป็นหญิงทำงานอีกด้วย พ่อจึงต้องแสดงบทบาทของความเป็นพ่อในการดูแลและพัฒนาลูกไปพร้อม ๆ กับแม่ คุณพ่อยุคใหม่จึงต้องชงนม ป้อนข้าว ป้อนน้ำ อาบน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม กล่อมลูกนอน เล่นกับลูกได้
2. อบรมสั่งสอนลูก
โดยความเป็นเพศชายพ่อโดยทั่วไปคือตัวแทนของอำนาจในบ้าน มีลักษณะเด็ดขาด จึงเป็นบุคคลที่จะสร้างวินัยแก่ลูกได้ดีที่สุด และคอยดูแลให้ลูกปฏิบัติตามกฎอย่างสม่ำเสมอ เมื่อลูกเติบโตขึ้น เขาจะเป็นคนที่มีวินัย สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ดี การอบรมสั่งสอนของพ่อที่ดีที่สุดคือพ่อต้องทำเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น เพราะเด็ก ๆ นั้นจะไม่ทำตามที่ผู้ใหญ่พูด แต่จะทำตามตัวอย่างที่เห็นนั่นเอง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
3. เป็นหลักประกันความมั่นคงปลอดภัย
ด้วยสรีระของพ่อที่แข็งแรง ลูก ๆ จะรู้สึกว่า มีผู้ที่มีความสามารถเก่งกล้าอยู่ในบ้าน ทำหน้าที่ให้ความคุ้มครองป้องกันภัยอันตราย ทำให้ลูกมีความอบอุ่นมั่นคง
4. เป็นหัวหน้าครอบครัว
พ่อมีหน้าที่หลักในการรับผิดชอบเลี้ยงดูภรรยาและลูกให้มีความสุขตามอัตภาพ พ่อจึงต้องขวนขวายทำงานหารายได้ไว้จับจ่ายใช้สอยในครอบครัวและยามฉุกเฉิน
5. เป็นผู้สร้างความเข้มแข็งในจิตใจของลูก
หากลูกได้มีเวลาได้อยู่ใกล้ชิดกับพ่อ ได้รับการกอดสัมผัสจากพ่อตั้งแต่วัยเยาว์ ลูกจะมีความรู้สึกประทับใจในตัวพ่อ และยึดพ่อไว้เป็นแกน แต่ถ้าชีวิตของพ่อขาดแก่นสาร ขาดความเป็นผู้นำ ไม่มั่นคง ครอบครัวก็ระส่ำระสายรวนเร จิตใจของลูกก็ขาดที่ยึดเหนี่ยว จึงอ่อนแอและเปราะบางง่าย
6. เป็นแบบอย่างของความเป็นชาย
ให้ลูกได้ลอกเลียนแบบในช่วงอายุ 3 – 6 ปีในการเลียนแบบความเป็นชายพัฒนามาจากการที่เด็กชายได้สัมผัสใกล้ชิดกับพ่อ เห็นบทบาทความเป็นชายของพ่อที่ถูกต้อง เด็กชายจะเกิดการอยากเอาอย่างพ่อ มีความประพฤติทางเพศที่เหมาะสม ดังนั้นพ่อจึงต้องให้ความเป็นเพื่อน เป็นที่พึ่งพาของลูกชาย
ถ้าพ่อกับลูกชายห่างเหินกัน ขาดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ชอบดุด่าเฆี่ยนตี อีกทั้งไม่เอาใจใส่รับผิดชอบครอบครัว ก็จะทำให้ลูกชายไม่ศรัทธาในตัวพ่อ ไม่อยากเอาอย่างพ่อ เติบโตขึ้นมาด้วยความรู้สึกเกลียดพ่อ รักแม่เลียนแบบแม่ จึงมีความประพฤติทางเพศที่ไม่เหมาะสม มีพฤติกรรมบางอย่างคล้ายผู้หญิง หรือมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ
ในขณะเดียวกัน พ่อก็เป็นผู้สร้างทัศนคติที่ดีต่อผู้ชายให้กับลูกสาวด้วย โดยพัฒนาจากความสัมพันธ์ที่ดี ความอบอุ่นที่ได้รับจากพ่อ เมื่อโตขึ้น ลูกสาวจะไม่นึกรังเกียจเพศตรงข้ามที่จะมาแต่งงานด้วย แต่ถ้าพ่อห่างเหินลูกสาว และมีลักษณะก้าวร้าวทารุณต่อแม่และลูกสาว เมื่อโตขึ้น ลูกสาวอาจเกลียดผู้ชาย และกลัวการแต่งงานได้
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.islammore.com , www.jw.org