ทารก ขาโก่ง …สามารถพบได้ในเด็กแรกเกิดทุกคน ซึ่งภาวะนี้ทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลใจไม่น้อยว่า ลูกจะขาโก่งเมื่อโตขึ้น บางคนก็จะได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่ให้ดัดขา ทีมงานมีคำแนะนำจากป้าหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ มาฝากค่ะ
คลิปป้าหมอสอน “ทารก ขาโก่ง” ดูอย่างไร? ต้องดัดขาไหม?
ทำไม “ทารก ขาโก่ง” ?
ภาวะโก่งแบบปกติ พบในเด็กแรกเกิดทุกคนเกิดจากการที่เขาอยู่ในท้องแม่ซึ่งเป็นที่แคบ ๆ จึงต้องงอแขนงอขาให้มากที่สุด ทำให้กล้ามเนื้อบางมัด เส้นเอ็นบางเส้น ตึงมากกว่าอีกด้านหนึ่ง ลักษณะของกระดูกจึงไม่ตรง แต่เมื่อคลอดออกมาแล้ว แขนขาจะเหยียดออกมากขึ้น กระดูกจะดูตรงมากขึ้นเองเมื่ออายุ 2 ขวบ หากบางคนยังอาจดูโค้งเหมือนโก่งนิด ๆ จนโต อาจพบได้ในครอบครัวเดียวกัน เป็นลักษณะกรรมพันธุ์ ไม่ต้องรักษา เนื่องจากไม่ส่งผลทำให้การเดิน การวิ่งผิดปกติ
ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบที่พบลักษณะขาโก่ง ส่วนใหญ่เป็นภาวะปกติ ไม่ต้องการการรักษา มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่ผิดปกติเนื่องจากเป็นโรคกระดูก เช่น ขาดวิตามินซี วิตามินดี หรือเป็นโรคพันธุกรรมที่พบได้ยาก ซึ่งหากเป็นความผิดปกติจริง เด็กต้องมีอาการผิดปกติของแขนหรือกระดูกส่วนอื่นๆ ของร่างกายด้วย หรือเป็นการโก่งที่มีการบิดของปลายเท้าชี้เข้าด้านใน (In Toeing) หรือพบขาโก่งร่วมกับตัวเตี้ยผิดปกติ ความผิดปกติเหล่านี้ต้องรักษาโดยวิธีผ่าตัดแก้ไขรูปทรง หรือการตัดรองเท้าพิเศษโดยศัลยแพทย์โรคกระดูกเฉพาะทางสำหรับเด็ก
ภาวะขาโก่งในเด็ก มีหลายรูปแบบ ทั้งโก่งออกด้านนอก โก่งเข้าด้านใน โก่งมาด้านหน้า หรือด้านหลัง แต่โดยส่วนใหญ่วัยหัดเดิน หรือมากกว่า 95% จะเป็นขาโก่งออกด้านนอก คือโก่งแบบเดินขาถ่าง ๆ เข่าห่างจากกัน เท้าอาจจะบิดหมุนเข้าด้านใน แต่ถ้าไม่ใช่ขาโก่งแบบออกด้านนอกถือว่าผิดธรรมชาติ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่