พ่อแม่อ่านด่วน! … หากคุณไม่อยากให้ลูกมีเรื่องดราม่า เป็นที่เป็นที่โจษจันของสังคมหรือในโรงเรียน นี่คือ 9 วิธีสอนลูกไม่ให้แกล้งเพื่อน หรือมี พฤติกรรมเกเร ชอบรังแก ทำร้ายคนอื่น
วิธีสอนลูกไม่ให้แกล้งเพื่อน หรือทำร้ายคนอื่น
บ่อยครั้งที่เรามักได้ยินข่าว เด็กถูกแกล้ง ที่โรงเรียน และพ่อแม่ต่างก็สรรหาวิธีรับมือหรือวิธีแก้ปัญหาเมื่อ ลูกถูกเพื่อนแกล้ง แต่แท้ที่จริงแล้ว เราควรมองถึงสาเหตุและแก้ปัญหาที่ต้นเรื่องจะดีกว่า ซึ่งการแก้ปัญหาที่ถูก คือ ต้องเริ่มจากการให้พ่อแม่ได้รู้ถึง วิธีสอนลูกไม่ให้แกล้งเพื่อน หรือ การสอนไม่ให้ลูกมี พฤติกรรมเกเร ไปรังแกคนอื่น จะเป็นการดีที่สุด
สาเหตุที่ ลูกชอบแกล้งเพื่อน
สำหรับต้นเหตุที่ เด็กชอบรังแกกัน อาจเป็นเพราะเมื่อถึงวัยที่เขาเริ่มออกไปเรียนรู้โลกภายนอกบ้าน เช่น การเข้าโรงเรียน เด็กบางคนอาจจะเริ่มมีพฤติกรรมใหม่ ๆ หรือมีพฤติกรรมบางอย่างที่เปลี่ยนไป ซึ่งเกิดขึ้นจากการเรียนรู้จากสิ่งรอบตัวที่มากระทบจิตใจ เช่น การอยากเป็นที่รัก การอยากเป็นที่สนใจของใครบางคน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคุณพ่อคุณแม่ คนในครอบครัว หรือคุณครู
บางครั้งเด็กไม่ตั้งใจจะแกล้งเพื่อน แต่การกระทำบางอย่างของเด็กอาจได้รับความสนใจจากครู ซึ่งการกระทำนั้น ๆ อาจเป็นได้ทั้งแง่ลบและแง่บวก เด็กอาจได้เรียนรู้ว่าเมื่อตีเพื่อน หรือกัดเพื่อน แล้วได้รับความสนใจจากคุณครู (โดนคุณครูดุก็ถือว่าเป็นความสนใจ) เด็กก็เลยทำซ้ำอีก
หรือในบางกรณีเด็กบางคน ใช้การกลั่นแกล้งคนอื่นเป็นเครื่องสร้างความสบายใจ หรือเป็นที่ระบายความคับข้องใจของตัวเอง เช่น ถูกพี่ที่โตกว่าแกล้งมา หรือถูกพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูลงโทษด้วยวิธีรุนแรงจนเกิดความเครียด จึงทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมรุนแรงกับผู้อื่น
ซึ่งหากปล่อยให้ ลูกชอบแกล้งเพื่อน หรือ ลูกรังแกเพื่อน ชอบทำร้ายคนอื่นไปจนโต ก็มีโอกาสเป็นอย่างมากที่ลูกจะเพิ่มขีดความสามารถในการกลั่นแกล้งไปสู่การข่มขู่ ข่มเหงน้ำใจ หรือล่วงละเมิดคนอื่นได้รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ และคุณครู ต้องรีบแก้ไขปัญหาและปรับพฤติกรรมของเด็กอย่างจริงจัง
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ได้ยินหรือแอบสังเกตเห็นว่าลูกของเรามีพฤติกรรมชอบแกล้งเพื่อนละก็ ทางทีมงาน Amarin Baby & Kids มี วิธีสอนลูกไม่ให้แกล้งเพื่อน มาแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ทำตามดังนี้ค่ะ
หาต้นตอของปัญหาด้วยการสอบถาม
ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะทราบถึง วิธีสอนลูกไม่ให้แกล้งเพื่อน อันดับแรกให้ลองหาที่มาหรือต้นตอของปัญหาด้วยการสอบถามลูกดูก่อน
โดยการสืบหาต้นตอของปัญหานั้น คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งดุด่าว่ากล่าวเมื่อ ลูกแกล้งเพื่อน ให้ลองพูดคุยกับลูก ถามลูกว่าทำไมถึงทำพฤติกรรมแบบนี้ โดยใช้การสังเกตสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปร่วมด้วย
- ลูกตั้งใจที่จะทำให้คนอื่น ๆ ไม่สบายใจหรือเสียใจหรือเปล่า
- ลูกรู้ตัวหรือเปล่าในขณะที่กำลังรังแกคนอื่น
- ลูกมีปัญหาที่บ้านหรือโรงเรียนไหม เช่น มีใครกำลังรังแกเด็กอยู่หรือเปล่า
- เวลาอยู่ที่โรงเรียน ลูกรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง หรือทำให้เหงาไหม
- ลูกรังแกใครบางคนแบบเฉพาะเจาะจงไหม
- ลูกคบเพื่อนที่เป็นอันธพาล ชอบรังแกคนอื่นหรือเปล่า
- ลูกรู้สึกตื่นเต้นหรือสนุกกับการได้ทำร้ายคนอื่นหรือไม่
- ลูกเคยเป็นคนที่ถูกรังแกมาก่อนหรือเปล่า
เมื่อลูกเปิดใจอธิบายถึงปัญหา จึงค่อยหาทางแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ซึ่ง วิธีสอนลูกไม่ให้แกล้งเพื่อน ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถเลี้ยงและสั่งสอนลูกได้ตั้งแต่ยังเล็กๆ ในตอนที่ลูกยังไม่มีพฤติกรรมแกล้งเพื่อน หรือรังแกคนอื่น มีด้วยกัน 9 ข้อดังนี้
1. สอนให้เด็กรู้ว่าการรังแกผู้อื่นเป็นพฤติกรรมรุนแรงที่ไม่ได้รับการยอมรับ
ทั้งจากทุกคนในบ้านและในสังคมภายนอก ตั้งกฎที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กจะถูกลงโทษหากรังแกเพื่อนและเข้มงวดกับกฎนั้น อาจลงโทษเด็กโดยการจำกัดสิทธิ์ในกิจกรรมที่เด็กชอบทำ เช่น งดใช้คอมพิวเตอร์ หรือ งดขนมที่เด็กชอบ
2. สอนให้เด็กเคารพสิทธิของผู้อื่น
และปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสม ตลอดจนสนับสนุนให้เด็กได้มีกิจกรรมร่วมกับเด็กที่มีความแตกต่างกับตัวเอง
3. สอนให้ลูกรู้จักควบคุมอารมณ์
หากเด็กแกล้งเพื่อน หรือแสดงความรุนแรงกับเพื่อน เพราะความโกรธ หรือมีปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์ ต้องสอนให้เด็กรู้จักวิธีควบคุมความโกรธด้วยวิธีอื่นโดยไม่ไปทำร้ายคนอื่น เช่น นับ 1-10 หรือให้เด็กมาบอกคุณครูว่ากำลังโกรธ เพื่อให้คุณครูเป็นผู้แก้ปัญหาให้
4. การใช้นิทานเข้าช่วย
สมัยนี้มีนิทานต่าง ๆ มากมาย ที่จะสอนให้เด็กเป็นคนที่มีจิตใจดี ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่มีเวลา ลองไปร้านหนังสือ ดูหนังสือนิทานเด็กสักเล่มสองเล่มนะคะ แล้วมาเล่าให้ลูกฟังก่อนนอน ค่อย ๆ ปลูกฝังพวกเขาไปวันละนิดละหน่อย อีกไม่นาน ลูก ๆ ก็จะมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นเองค่ะ
5. เป็นที่ปรึกษาที่ดี
หากลูกบอกถึงสาเหตุแล้วว่า ที่ลูกทำไปนั้น เพราะอยากเรียกร้องความสนใจจากเพื่อน หรือว่ากลัวลูกไม่รัก คุณพ่อคุณแม่อย่ารอช้านะคะ รีบอาศัยจังหวะนั้น ค่อย ๆ แนะนำพวกเขาว่า มีหลากหลายวิธีมากที่จะทำให้เพื่อนรักเรา ยกตัวอย่างเช่น การรู้จักแบ่งปัน การเสียสละ และการให้เกียรติซึ่งกันและกัน เป็นต้น
6. ลองเสนอทางเลือกเพื่อแก้ไขสถานการณ์
การเริ่มต้นรังแกเพื่อนไม่ควรเป็นชนวนให้ลูกเป็นอันธพาล มิตรภาพต่อกันติดได้ เพียงให้ลูกนำของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ไปให้เด็กที่เขารังแก หรือชวนกันเล่นเกมเพื่อกู้มิตรภาพกลับมา
7. หลีกเลี่ยงการลงโทษเด็กด้วยวิธีรุนแรง
คุณพ่อคุณแม่อาจจะใช้วิธีบอกให้เด็กรู้ถึงผลเสียที่จะตามมาเวลาแกล้งผู้อื่น เช่น ไม่เป็นที่รัก ไม่ได้ดาวจากคุณครู หรือลงโทษด้วยการตัดสิทธิ์บางอย่าง เช่น ให้ขนมน้อยกว่าคนอื่น ให้ออกจากห้องเป็นคนสุดท้าย
8. สนใจเฉพาะพฤติกรรมที่ดี
หากเด็กแกล้งเพื่อน เพราะอยากเรียกร้องความสนใจจากคุณครูมีวิธีแก้ คือ คุณครูจะต้องปรับพฤติกรรมการแสดงออกต่อเด็กใหม่ โดยเมื่อเด็กทำพฤติกรรมที่ดี ให้รีบให้ความสนใจ หรือกล่าวชมเชย และเมื่อเด็กมีพฤติกรรมด้านลบให้เพิกเฉยกับเด็กในระยะหนึ่ง โดยให้ความสนใจกับเด็กที่ถูกแกล้งมากกว่า เมื่อโดนเพิกเฉยบ่อยครั้ง เขาจะเรียนรู้ว่าพฤติกรรมนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ และจะเลิกแกล้งเพื่อนได้ในที่สุด
9. ลองปรึกษาคุณหมอ
ข้อสุดท้ายของวิธีสอนลูกไม่ให้แกล้งเพื่อน หากคุณพ่อคุณแม่พยายามสอนและบอกลูกแล้ว แต่ลูกยังไม่เลิกพฤติกรรมนี้ ก็อาจจะพาลูกไปปรึกษากับคุณหมอ เพื่อให้ช่วยตรวจดูว่าลูกมีปัญหาพัฒนาการการเข้าสังคมหรือไม่ อย่างไร
เพียงเท่านี้กับวิธีการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ที่วิธีการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนของพ่อแม่ หรือที่ปัญหาพฤติกรรมของลูกน้อยตั้งแต่ต้น ก็จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์เด็กแกล้ง หรือรังแก ทำร้ายกันได้แน่นอนค่ะ
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :
- จิตแพทย์เด็กเผย! วิธีรับมือเมื่อ ลูกโดนเพื่อนแกล้ง (Bullying)
- 5 วิธีสังเกต ลูกโดนแกล้งที่โรงเรียน หรือไม่
- แพทย์เผย! เด็กไทย ชอบแกล้งเพื่อน ติดอันดับ 2 ของโลก!
- อุทาหรณ์ เด็กถูกเพื่อนแกล้งที่โรงเรียน จนฆ่าตัวตาย
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.trueplookpanya.com , www.thaihealth.or.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่