ลูกติดโทรศัพท์ ก่อน 2 ขวบ รู้ไหมมีผลเสียอย่างไร มาชวนดูกันให้ชัดจากภาพ MRI สมองของเด็กที่อ่านหนังสือ และดูที่จอว่าแตกต่างกันอย่างไร ใส่ใจลูกสักนิดก่อนสาย
ภาพ MRIสมองเด็กชี้ชัดอันตรายเมื่อ ลูกติดโทรศัพท์ ก่อน 2ขวบ
เป็นที่รู้กันว่าพัฒนาการในด้านต่าง ๆ จะมีความสำคัญมากในช่วงวัยเด็ก เพราะเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ และพัฒนาด้านต่าง ๆ ในเจริญสมบูรณ์ ซึ่งจะมีพัฒนาการดีมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ องค์ประกอบ ส่วนหนึ่ง และเป็นส่วนที่สำคัญ นั่นคือ ปัจจัยด้านการเลี้ยงดู
ทฤษฎีการเรียนรู้ : ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์ (Piaget)
ทฤษฎีของเพียเจต์ตั้งอยู่บนรากฐานของทั้งองค์ประกอบที่เป็นพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม เขาอธิบายว่า การเรียนรู้ของเด็กเป็นไปตามพัฒนาการทางสติปัญญา ซึ่งจะมีพัฒนาการไปตามวัยต่าง ๆ เป็นลำดับขั้น พัฒนาการเป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ควรที่จะเร่งเด็กให้ข้ามจากพัฒนาการจากขั้นหนึ่งไปสู่อีกขั้นหนึ่ง เพราะจะทำให้เกิดผลเสียแก่เด็ก แต่การจัดประสบการณ์ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในช่วงที่เด็กกำลังจะพัฒนาไปสู่ขั้นที่สูงกว่า สามารถช่วยให้เด็กพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
ลำดับขั้นการเรียนรู้ของเด็กวัยก่อน 2 ขวบ : ขั้นประสาทรับรู้และการเคลื่อนไหว (Sensori-Motor Stage)
ขั้นนี้เริ่มตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 2 ปี พฤติกรรมของเด็กในวัยนี้ขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวเป็นส่วนใหญ่ เช่น การไขว่คว้า การเคลื่อนไหว การมอง การดู ในวัยนี้เด็กแสดงออกทางด้านร่างกายให้เห็นว่ามีสติปัญญาด้วยการกระทำ เด็กสามารถแก้ปัญหาได้ แม้ว่าจะไม่สามารถอธิบายได้ด้วยคำพูด เด็กจะต้องมีโอกาสที่จะปะทะกับสิ่งแวดล้อมด้วยตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพัฒนาการด้านสติปัญญา
ความคิดความเข้าใจของเด็กในขั้นนี้ จะก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เช่น สามารถประสานงานระหว่างกล้ามเนื้อมือ และสายตา เด็กในวัยนี้มักจะทำอะไรซ้ำบ่อย ๆ เป็นการเลียนแบบ พยายามแก้ปัญหาแบบลองผิดลองถูก เมื่อสิ้นสุดระยะนี้เด็กจะมีการแสดงออกของพฤติกรรมอย่างมีจุดมุ่งหมาย และสามารถแก้ปัญหาโดยการเปลี่ยนวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการแต่กิจกรรมการคิดของเด็กวัยนี้ส่วนใหญ่ยังคงอยู่เฉพาะสิ่งที่สามารถสัมผัสได้เท่านั้น
ข้อมูลอ้างอิงจาก จิตวิทยาสำหรับครู รศ.มัณฑรา ธรรมบุศย์
ภาพ MRI สมอง : ทำไมเด็กก่อน 2 ปี ไม่ควรดูจอ??
สามารถติดตามเนื้อหาฉบับเต็ม และเรื่องราวดี ๆ ต่อได้จากเฟสบุ๊คเพจของ Doctor MM Family เมาท์เรื่องลูกกับหมอมะเหมี่ยว
ผลเสียของการให้ลูกเล่นโทรศัพท์ ติดจอ
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ทุกวันนี้หลาย ๆ ครอบครัวมักจะนำเทคโนโลยีเข้ามาเลี้ยงลูกกันมากขึ้น หรือปล่อยให้เด็กอยู่กับสื่อเทคโนโลยี เช่น มือถือ แท็บเล็ต หรือให้ดูทีวีทั้งวัน เพื่อให้เด็กสงบนิ่ง หรือหยุดร้องไห้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะในเด็กวัยต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรเล่นหรือดูสื่อเหล่านี้เด็ดขาด เพราะมีผลทำให้พัฒนาการล่าช้า และในเด็กแรกเกิดถึง 3 ปี เป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุด ในการเรียนรู้ เนื่องจากสมองของเด็กจะพัฒนาสูงสุด ซึ่งมีสิ่งแวดล้อมโดยรอบจะเป็นตัวกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสมองในช่วงต้น หากปล่อยให้เด็กใกล้ชิดสื่อเหล่านี้มากเกินไปโดยไม่กำหนดเวลาดูหรือเลือกสื่อ ที่ไม่เหมาะสม
ผลเสียต่อพัฒนาการเมื่อ ลูกติดโทรศัพท์
- ด้านการสื่อสาร : พูดช้า พูดไม่ชัด ขาดความคิดสร้างสรรค์ และการจ้องมองจอภาพเป็นเวลานานจะส่งผลเสียกับดวงตาได้ เช่น ทำให้สายตาสั้น ดวงตาแห้ง เป็นต้น
- ด้านร่างกาย : ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง เหนื่อยง่าย เพราะขาดการเคลื่อนไหวออกกำลังกายตามที่วัยที่ควรจะเป็น
- ด้านอารมณ์ :ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ เพราะเด็กแยกแยะโลกของออนไลน์ กับความเป็นจริงไม่ได้ ทำให้หงุดหงิดง่าย ใจร้อน รอคอยไม่เป็น ขาดสมาธิไม่จดจ่อ หรือตั้งใจทำกิจกรรมใด ๆ
- ด้านพฤติกรรม : ก้าวร้าว ซน สมาธิสั้น โลกส่วนตัวสูง มีพฤติกรรมคล้ายออทิสติก (ออทิสติกเทียม)ภาวะออทิซึม หรือคนทั่วไปมักเรียกว่าออทิสติก เป็นกลุ่มโรคที่มีความบกพร่องของพัฒนาการด้านสังคมและภาษา เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ทำให้มีความบกพร่องของระบบประสาท ส่วน “พฤติกรรมคล้ายออทิสติก” หรือที่หลายคนเข้าใจและมักเรียกว่า “ออทิสติกเทียม” นั้น ไม่ได้เป็นการวินิจฉัยโรคทางการแพทย์ เกิดจากเด็กขาดการกระตุ้นให้มีการพูดคุย สื่อสาร หรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น การที่เด็กจดจ่อหน้าจอโทรทัศน์ จอโทรศัพท์มือถือ หรือใช้สื่อผ่านจออื่นๆ มากเกินไป ซึ่งจะทำให้เด็กขาดการเรียนรู้ด้านปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และทำให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านภาษาล่าช้าไม่สมวัยอาการของเด็กที่มีพฤติกรรมคล้ายออทิสติก เมื่อเทียบกับพฤติกรรมของเด็กในวัยเดียวกัน เช่น ไม่สื่อสารด้วยการพูด ไม่เลียนแบบผู้ใหญ่ ไม่สนใจสิ่งรอบตัว เล่นกับใครไม่เป็น ไม่สนใจผู้อื่น ร้องไห้งอแงเมื่อไม่ได้ดูสื่อผ่านจอ ติดที่จะเล่นอุปกรณ์สื่อผ่านจอโดยไม่สนใจว่าคุณพ่อคุณแม่จะกอดหรือหอม หากปล่อยไว้แบบนี้ต่อไป จะทำให้เด็กมีพัฒนาการช้ากว่าเด็กคนอื่นๆ ในวัยเดียวกัน
10 ประโยชน์จากการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง
- เด็ก ๆ จะเรียนรู้คำศัพท์ที่เพิ่ม และกว้างมากขึ้น แม้สำหรับเด็กทารก หรือเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถอ่านออก เขียนได้ แต่การที่พ่อแม่อ่านหนังสือที่มีภาพประกอบให้ลูกฟัง พวกเขาก็สามารถเชื่อมโยงคำพูดกับการมองคำศัพท์นั้น ๆ ได้
- เพิ่มระดับสติปัญญาของลูกได้ จากงานวิจัยมากมาย รวมทั้งภาพ MRI ที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเด็กที่อ่านหนังสือ กับดูจอ ก็ชี้ให้เห็นแล้วว่าการอ่านหนังสือ ช่วยเพิ่มระดับสติปัญญาของเด็ก
- ช่วยเสริมสร้างจินตนาการของเด็ก ๆ ผ่านตัวละครในหนังสือนิทาน
- พัฒนาทักษะในด้านความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ๆ ให้ดีขึ้น
- เด็ก ๆ เกิดการพัฒนาในเรื่องการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น (หากหนังสือที่อ่านสอดแทรกเรื่องพวกนี้เอาไว้ จะทำให้เด็กๆเห็นภาพและจำเป็นใช้ในชีวิตจริงได้)
- ช่วยให้เด็กเข้าใจความแตกต่าง หลากหลายของโลก
- ฝึกสมาธิ ระดับสมาธิของเด็ก ๆ ที่ดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
- เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว การอ่านหนังสือด้วยกัน จะช่วยเสริมสร้างความผูกพันของพ่อแม่และลูกได้ดีขึ้น
- เด็ก ๆ จะได้รับการสนับสนุนในเรื่องของการกระทำ หรือกระบวนการทางสมองเพื่อนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจโดยจะผ่านทางความคิด ประสบการณ์ และประสาทสัมผัสของพวกเขา
- ช่วยเสริมสร้างทักษะของเด็ก ๆ ทางสังคม และปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น
เคล็ดลับอ่านนิทานให้ลูกฟังง่ายนิดเดียว แม้ไม่เคยอ่านมาก่อนก็ตาม
- ให้ลูกเลือกนิทานเอง
ก่อนอ่านนิทานเราควรมีหนังสือที่เหมาะกับวัย และนิสัยของลูกไว้ที่บ้าน เพื่อเขาจะได้เลือกว่าเขาอยากจะอ่านเล่มไหน เช่น หนังสือลอยน้ำ เหมาะสำหรับเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ขวบ เพราะว่าจะไม่ขาดหรือเปียก และมีเนื้อหาที่กระชับ เข้าใจง่าย หรือ บอร์ดบุ๊คสำหรับเด็ก ๆ ที่ชอบฉีกหรือโยนหนังสือ เป็นต้น เมื่อเรามีหนังสือที่เหมาะกับวัย เราสามารถเปิดโอกาสให้ลูกได้ตัดสินใจเลือกเรื่องที่เขาชอบได้ เมื่อเขาได้เลือกเอง เขาจะยิ่งสนใจ และสนุกไปด้วยกัน
- ควรพร้อมเมื่อเริ่มอ่าน
หาช่วงเวลาที่ทุกคนว่าง และพร้อมที่จะนั่งฟังนิทาน เช่น ก่อนนอน หรือวันหยุด เป็นต้น จัดให้ลูกอยู่ในท่าที่สบายตัว หากมีลูกหลายคน ก็ให้ทุกคนนั่งในจุดที่จะเห็นหนังสือได้ชัดเจน เราอาจจะรอสักครู่ให้ลูกพร้อมก่อนแล้วค่อยเริ่ม ก่อนเริ่มเราสามารถให้สัญญาณกับเขา เช่น บอกเขาว่า “พ่อจะอ่านนิทานแล้วนะครับ” เพื่อเด็ก ๆ จะได้รู้ว่านี่คือเวลาที่เราจะอ่านนิทาน ไม่ใช่เวลาเล่น หรือกินข้าว
- พ่อแม่สนุก ลูกสนุก
เทคนิคที่พ่อแม่สามารถนำมาใช้ในการอ่าน คือ ให้ตัวเราเองรู้สึกสนุก ถ้าเรารู้สึกสนุก ลูกก็จะสนุก และถ้าเราตื่นเต้น หรือขำ ลูกก็จะรู้สึกแบบเดียวกัน เด็ก ๆ ชอบให้มีเสียงสูง เสียงต่ำ เวลาเล่าเรื่อง ถ้ามีเสียงประกอบหรือคำกลอนที่มีคำคล้องจองหรือคำซ้ำจะทำให้เด็ก ๆ สนุกมากยิ่งขึ้น และเมื่อถึงช่วงตื่นเต้น เราอาจจะเล่าช้าลงให้เด็ก ๆ ได้ลุ้นว่าจะเกิดอะไรขึ้น
- ทบทวนนิทาน
เมื่ออ่านเสร็จเราสามารถคุยกับลูกเรื่องนิทานได้ อาจทวนเนื้อเรื่อง และเชื่อมเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับในชีวิตจริงของลูก เช่น เพราะอะไร ชิโรสะถึงไม่กล้าคุยกับคุณยาย และถามต่อว่า เราเคยไม่อยากคุยกับผู้ใหญ่บ้างไหม เพราะอะไร เป็นต้น การทำเช่นนี้ ทำให้พ่แม่ได้มีโอกาสเข้าใจลูกมากขึ้น และเขาก็จะได้เรียนรู้ และเข้าใจตัวเองผ่านนิทานเหล่านี้ด้วย
ข้อมูลอ้างอิงจาก CNN Health/ รพ.สินแพทย์ /amarinbooks.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ผลเสียของการให้ลูกเล่นโทรศัพท์ ทารกดูมือถือนานกระทบต่อความฉลาด!
พ่อแม่สำรวจตัวเองด่วน เป็นพ่อแม่สำเร็จรูป…สาเหตุลูกพัฒนาการช้า
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่