เป้อุ้มทารก อุปกรณ์ช่วยผ่อนแรงในการอุ้มลูก แต่รู้หรือไม่หากใช้ไม่ถูกวิธีมีอันตรายแฝง มาดูวิธีเลือกซื้อ และวิธีใช้งานที่ถูกต้องป้องกันสันหลัง และข้อสะโพกหลุด
ระวัง เป้อุ้มทารก เลือกไม่ดีเด็กอาจสันหลังเคลื่อนข้อสะโพกหลุด!!
Baby carrier เป้อุ้มทารก ลักษณะคล้ายกระเป๋า เป็นอุปกรณ์ช่วยทุ่นแรงของคุณพ่อคุณแม่ในการอุ้มลูกเวลาออกไปข้างนอก หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้เราทำกิจกรรมได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น
ประโยชน์ของเป้อุ้มเด็ก
- ทุ่นแรง สะดวกสบาย คล่องตัว ลดความเมื่อยล้า และแรงในการอุ้ม
- ลดการงอแงของลูกน้อย โดยเฉพาะเด็กทารกมักต้องการอ้อมกอด และความอบอุ่นจากคุณพ่อคุณแม่อยู่ตลอดเวลา การสัมผัส อุ้มกอดจะช่วยให้ทารกรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ จึงไม่ร้องงอแง สาเหตุก็มาจากระดับของสารออกซิโทซิน (Oxytocin) ที่เพิ่มขึ้น สารนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นฮอร์โมนอีกชนิดที่ช่วยให้ร่างกายมีความสุข สารออกซิโทซินยังอาจช่วยเพิ่มสายสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับคุณพ่อคุณแม่ได้ด้วย แต่การอุ้มตลอดเวลาด้วยมือ ทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความเมื่อยล้าได้มากกว่าการใช้เป้อุ้มทารก
เป้อุ้มเด็กมีหลากหลายแบบให้เลือกใช้งานตามความเหมาะสม การรู้จักชนิด และวิธีการเลือกเป้อุ้มก่อนซื้อมาใช้จริง นอกจากจะช่วยให้เราเลือกซื้อได้ตรงตามจุดประสงค์ที่ต้องการแล้ว ยังทำให้การลงทุนในการซื้อเป้อุ้มทารกนี้คุ้มค่ายิ่งขึ้น
ชนิดของเป้อุ้มเด็ก
เป้อุ้มเด็กแบบมีโครง (Structured Baby Carrier)
เป็นเป้ที่มีลักษณะคล้ายกระเป๋าสำหรับสะพายเด็ก สามารถสะพายได้ทั้งด้านหน้า และด้านหลัง โดยมีสายรัดเอวรัดตัวผู้อุ้ม เพื่อให้ร่างกายของผู้อุ้มรองรับน้ำหนักตัวของเด็กได้ดีขึ้น ช่วยลดแรงกดบริเวณไหล่จากน้ำหนักตัวของเด็ก พยุงหลังทำให้ผู้อุ้มไม่เกิดอาการเมื่อยล้า และปวดหลังเหมาะกับเด็กหลากหลายวัย ใช้ได้หลายโอกาส เพราะมีโครงที่ช่วยประคองหลัง และศีรษะเด็กให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
เป้อุ้มเด็กแบบมีโครงสามารถแบ่งออกได้อีกตามการใช้งานที่เฉพาะมากขึ้น อย่าง Frame Baby Carrier ที่เป้อุ้มเด็กที่มีโครงขนาดใหญ่ที่ช่วยรองรับร่างกายของผู้อุ้มมากขึ้น ส่วนใหญ่มักใช้สำหรับการเดินที่ใช้เวลานานหรือต้องเดินไกล ๆ อย่างการพาเด็กเล็กไปเที่ยวหรือไปเดินป่า แต่เป้อุ้มเด็กชนิดนี้เหมาะสำหรับเด็กเล็กที่โตในระดับหนึ่ง สามารถยืนหรือนั่งได้แล้ว และไม่ควรใช้ในเด็กทารกแรกเกิดเพราะอาจเป็นอันตรายได้
ผ้าอุ้มเด็ก (Baby Wrap/ Baby Sling)
เป็นการใช้ผ้าที่มีความยืดหยุ่นสูงผืนยาวมาพันตัวเด็กกับผู้อุ้ม ซึ่งมีเทคนิค และวิธีพันหลายแบบ เหมาะกับทารกที่น้ำหนักตัวไม่มาก แต่อาจเสี่ยงต่ออุบัติเหตุได้หากไม่มีทักษะในการพันผ้า หรือพันไม่คล่อง ข้อดีคือน้ำหนักเบา และพกพาได้สะดวก
การเลือกซื้อเป้อุ้มเด็ก
ก่อนเลือกซื้อเป้อุ้ม พ่อแม่ควรคำนึงถึงเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ความปลอดภัย
ของใช้สำหรับเด็ก เด็กทารกนั้นไม่ว่าจะเป็นสิ่งใด ข้อที่เราควรคำนึงเป็นอันดับแรกคือเรื่องของ ความปลอดภัย เป้อุ้มทารกก็เช่นกัน ควรเลือกเป้อุ้มให้เหมาะสมกับขนาดของตัวเด็ก และช่วงวัย โดยเฉพาะทารกแรกเกิด ข้อสำคัญเรื่องความปลอดภัยที่ควรคำนึงถึง คือ ควรเลือกเป้อุ้มทารกที่สามารถประคองศีรษะ และคอของทารกได้
- ความสบาย
อันดับต่อมาของการเลือกซื้อของใช้เด็ก นั่นคือ ความสบายตัวของเด็กนั่นเอง เพราะเมื่อเด็กรู้สึกไม่สบายตัวเวลาใช้งาน ก็จะร้องไห้งอแง และไม่ยอมใช้เป้อุ้ม ดังนั้น ควรเลือกเป้อุ้มเด็ก ที่ทำจากผ้าเนื้อนิ่ม ไม่ระคายผิว และระบายอากาศได้ดี
- รูปแบบการใช้งาน
ปัจจุบันเป้อุ้มเด็กมีหลากหลายแบบ ซึ่งอาจช่วยตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันไป เช่น เป้อุ้มเด็กที่สามารถปรับรูปทรงเพื่อรองรับการให้นม Frame-Structured Carrier สำหรับพาเด็กออกไปทำกิจกรรมเป็นเวลานาน และเป้อุ้มเด็กที่มีสายปรับเพื่อรองรับเมื่อเด็กเริ่มตัวโตขึ้น เป็นต้น
กระดูกสันหลังเลื่อน กับ เป้อุ้มทารก
ความกังวลใจกับการใช้เป้อุ้มทารก ในเด็กเล็ก ว่ากันว่าเมื่อให้เด็กมาอยู่ในท่านั่งนาน จะเกิดภาวะกระดูกสันหลังเลื่อน(spondylolisthesis)ได้ เนื่องจากท่านั่งนั้นจะมีน้ำหนักกดลงที่กระดูกสันหลังมากกว่าท่านอน โดยอ้างอิงจากการพบว่าในชาวเอสกิโมที่มีวัฒนธรรมในการห่อตัวเด็ก และอุ้มขึ้นหลังคล้ายการใช้เป้อุ้มมีอัตราการเกิดกระดูกสันหลังเลื่อนได้มากกว่าชนชาติอื่น แต่ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าสาเหตุมาจากสิ่งนี้จริงหรือไม่ เพราะอาจมีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ได้เช่นกัน ซึ่งต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมมากกว่านี้
ดังนั้นหากจะกล่าวถึง เป้อุ้มเด็กมีโอกาสทำให้เกิดภาวะกระดูกสันหลังเลื่อนนั้น คงเป็นการระมัดระวังในเรื่องการใช้เป้อุ้มกับเด็กเล็กมาก ๆ เวลาใช้ต้องให้ความสำคัญกับส่วนคอ ควรมีที่พยุงคอ และแนะนำให้หันหน้าเด็กเข้าหาตัวคนอุ้ม เพราะจะมีการพยุงคอ และบริเวณเชิงกรานได้ดีกว่าหันออกจากตัวผู้อุ้ม ถ้าจะให้ดีควรใช้เป้อุ้มกับเด็กที่มีอายุประมาณ 3 เดือนขึ้นไปจะเหมาะสมกว่า
โรคข้อสะโพกหลุด กับเป้อุ้มทารก
โรค DDH (Developmental dysplasia of hip) ข้อสะโพกหลุด เป็นภาวะที่ข้อต่อกระดูกสะโพกเคลื่อนจากเบ้าสะโพก แต่ทารกไม่มีอาการเจ็บปวดจึงเป็นสาเหตุให้ยากที่จะตรวจพบ จนกว่าเด็กจะเริ่มเดิน ดังนั้นเราจึงใช้การตรวจร่างกายที่เป็นมาตราฐานในทารกแรกเกิด จนถึงอายุประมาณ 6 เดือน ตรวจด้วยวิธีการดันสะโพกไปด้านหลังว่าหลุดหรือไม่ หรือกางขาว่าสะโพกที่หลุดเข้าที่หรือไม่ อาจพบมีรอยย่นของผิวหนังที่ขอบในของต้นขาไม่เท่ากัน ในรายที่ข้อสะโพกหลุดข้างเดียว ข้างที่หลุด ข้อสะโพกจะกางได้น้อยลง ทำให้ใส่ผ้าอ้อมลำบาก อาจสังเกตเห็นขายาวไม่เท่ากัน
วิธีตรวจง่าย ๆ คือ ในขณะที่เด็กนอนหงาย จับงอข้อสะโพกและชันเข่าขึ้น ๒ ข้างพร้อม ๆ กัน ถ้าเข่าด้านใดด้านหนึ่งต่ำกว่า ให้สงสัยว่า อาจมีข้อสะโพกเคลื่อนหลุดได้ เมื่ออายุเกิน ๖ เดือน หากดูจากภาพรังสีก็จะเห็นหัวกระดูกสะโพกได้ชัดเจน และเห็นได้ว่าหลุด ในเด็กโตที่กำลังหัดเดินหรือเดินได้แล้ว จะพบว่าเดินกะเผลก ซึ่งในกรณีนี้ต้องแยกกับภาวะที่มีขายาวไม่เท่ากัน
สาเหตุของโรคข้อสะโพกหลุดยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจมีสาเหตุได้ดังต่อไปนี้
- กรรมพันธ์ุ ทารกที่มีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคข้อสะโพกหลุด มีโอกาสพบได้มากขึ้นถึง 12 เท่า
- ลักษณะของข้อต่อสะโพกของทารก เบ้าสะโพกของทารกเป็นกระดูกอ่อนที่มีความอ่อนนุ่ม และยืดหยุ่นง่ายต่อการเคลื่อนหลุด
- ท่าทางของทารกขณะอยู่ในครรภ์ ทารกที่คลอดในท่าก้นมีแนวโน้มที่สะโพกเคลื่อนมากกว่าทารกที่คลอดในท่าปกติ
- ท่าทางของเด็กในช่วงขวบปีแรก ท่าทางของเด็กที่เราจัดให้เขาในช่วงเวลาขวบปีแรกนั้นสำคัญต่อการเกิดข้อสะโพกหลุด เนื่องจากในช่วงนี้ส่วนบนของกระดูกต้นขาจะมีลักษณะคล้ายลูกบอลเคลื่อนไปมาได้อยู่ภายในเบ้าสะโพก หากเด็กถูกบังคับให้อยู่ในท่าที่ยืดออกไปเร็ว ไม่ว่าจะจาก การใช้ผ้าห่อตัวเด็กที่รัดแน่นเกินไป หรือเป้อุ้มเด็กที่ไม่ได้มาตรฐานก็จะทำให้ลูกบอลเคลื่อนหลุดออกจากเบ้าสะโพกได้
ปัจจัยเสี่ยงต่อข้อสะโพกหลุด
การห่อตัวเด็ก (Swaddling) เป็นการห่อตัวเด็กที่ใช้การรวบขาเด็กชิดกัน และเหยียดออก จากนั้นก็ห่อตัวเด็กด้วยผ้า ท่านี้จะทำให้สะโพกขยับได้น้อย และหลุดได้ง่าย ซึ่งมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ รวมถึงการทดลองในสัตว์ที่ยืนยันได้ว่าการห่อตัวแบบนี้ทำให้สะโพกหลุดได้
การใช้เป้อุ้มที่ดี ที่จะช่วยป้องกันการเกิดข้อสะโพกหลุด คือ เป้อุ้มที่ทำให้ท่าทางของสอดรับกับข้อสะโพกเด็ก เมื่อเด็กอยู่ในเป้อุ้มแล้วสะโพกจะต้องกางออกมาก แยกออกด้านข้างตามธรรมชาติ หากมีเบาะรองที่กว้างยาวครอบคลุมจากบริเวณเชิงกรานไปถึงหลังเข่าจะยิ่งดี ซึ่งท่านี้สะโพกจะพัฒนาได้ดีกว่า และลดการเกิดข้อสะโพกหลุดได้ เพราะต้นขาจะกางออกให้สะโพก และการงอเข่าสามารถทำได้ไม่ติด ไม่ควรใช้เป้อุ้มที่เด็กอยู่ในท่าเหยียดสะโพก เข่ายืด ขาห้อยเข้ามาใกล้กัน
การห่อตัวลูก การมัดลูกกับอู่ และท่านอนของลูก มีความสำคัญต่อพัฒนาการของเบ้าสะโพกอย่างมาก พบว่า ชนเผ่าอินเดียนแดงและชนเผ่าไอนุของญี่ปุ่น ห่อลำตัวส่วนขาของลูกอย่างแน่นหนาในท่าเหยียดตรง ทำให้ขาของลูกขยับไม่ได้ ซึ่งท่าเหยียดตรงเป็นท่าที่เอื้ออำนวยให้ข้อสะโพกหลุดออกจากเบ้า ในทางกลับกันพบว่า ในประเทศจีนที่มัดลูกไว้กับหลังและสะโพกกางออก พบอุบัติการณ์ของโรคข้อสะโพกเคลื่อนน้อยมาก เพราะท่าที่สะโพกกางออกจะช่วยให้หัวสะโพกกลับเข้าสู่เบ้าและมีพัฒนาการของข้อจนเป็นปกติ ในบ้านเราที่อุ้มลูกไว้ข้างเอวก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้ข้อสะโพกเข้าที่ในเบ้าสะโพกได้ดีกว่า
5 อันตรายของการใช้เป้อุ้มเด็กแบบไม่ระวัง!!
1. การอุ้มทารก เป็นตัวซี การนำเด็กเข้าเป้อุ้ม ให้คอยสังเกต และระวังตำแหน่งของคางเด็กกับหน้าอกของผู้อุ้มไม่ให้ชิดกันจนเกินไป ทำให้เด็กไม่สามารถขยับหน้าขึ้นลงได้อย่างอิสระ เป็นการไปขัดขวางการหายใจ ซึ่งเป็นอันตรายต่อเด็กได้
2.รัดแน่นเกินไป บางครั้งการรัดเป้อุ้มให้แน่นเพื่อป้องกันอุบัติเหตุพลัดหล่น โดยเฉพาะหากคุณใช้แบบผ้าอุ้มเด็ก จะเป็นอันตรายทำให้เด็กหายใจไม่ออกได้ พ่อแม่จึงควรหมั่นมองลงมา สังเกตเมื่อลูกดิ้นผิดปกติ
3.คำนึงถึงอุณหภูมิ อากาศข้างนอก การพาเด็กเล็กกระเตงโดยใช้เป้อุ้มเด็ก เราอาจสะดวกสบายในการอุ้มจนไม่ได้สังเกตว่า เด็กตากแดดมากไป มีอุณหภูมิร่างกายที่สูง ประกอบกับการระบายอากาศของเป้อุ้มนั้นดีเพียงใด จึงไม่ควรนำลูกใส่เป้อุ้มนานเกินไปในวันที่อากาศร้อน
4.อย่าปล่อยให้ขาเด็กห้อยตรง อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้าแล้วว่า เป้อุ้มเด็กที่ดีต้องมีลักษณะทำให้ขาเด็กกางออก ลักษณะสะโพกยกขึ้นใกล้เอว ในรูปแบบ W shape แม้จะดูเหมือนผิดธรรมชาติ แต่ความจริงแล้วการที่เด็กอยู่ในท่านั้น จะไม่เสี่ยงต่อการเกิดข้อสะโพกหลุดได้
5.อย่าละเลยแขนลูก ขณะเด็กอยู่ในเป้อุ้ม ควรสังเกตแขนของเขาว่ามีอิสระในการงอเข้าออกหรือไม่ เพราะอาจทำให้เกิดข้อไหล่หลุดได้
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.fatherly.com/bangkokinternationalhospital.com/www.saranukromthai.or.th
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่