ไขบนศีรษะลูก เกิดจากอะไร ไขบนหัวทารก ดูแลอย่างไร - Amarin Baby & Kids
ไขบนศีรษะลูก เกิดจากอะไร

ไขบนศีรษะลูก เกิดจากอะไร ไขบนหัวทารก ดูแลอย่างไรให้หาย

Alternative Textaccount_circle
event
ไขบนศีรษะลูก เกิดจากอะไร
ไขบนศีรษะลูก เกิดจากอะไร

ทารกหลังคลอดอาจจะมีไข หรือผื่น  เกาะเป็นสะเก็ดเต็มบนศีรษะ   บางครั้งก็หลุดลอกออกมาเป็นแผ่นๆ   จนทำให้แม่มือใหม่หลายบ้านกังวลว่า  ไขบนศีรษะลูก เกิดจากอะไร   จะแกะ หรือเช็ดออกได้ไหม  หรือต้องพาลูกไปหาหมอ?

#ทีมแม่ABK  มีข้อคำตอบมาให้หายกังวลค่ะ

ไขบนศีรษะลูก เกิดจากอะไร

ก่อนอื่นขอแยกไขที่เกิดขึ้นกับตัวทารกแรกคลอด ออกจากเรื่องไขบนศีรษะลูกเสียก่อน  เพื่อไม่ให้คุณพ่อคุณแม่สับสนกันนะคะ

Vernix Caseosa หรือไขหุ้มทารกแรกเกิด

ไขทารกหรือไขที่เคลือบตัวทารกแรกเกิด เรียกว่า Vernix Caseosa ซึ่งร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์จะผลิตไขสีขาวชนิดนี้ขึ้นมา ในช่วงสัปดาห์ที่ 18 และไขจะเริ่มหุ้มตัวทารกตอนท้องได้ราว ๆ 5 เดือน ไขชนิดนี้จะเริ่มที่ลำคอ หน้าอก และก้นของลูกน้อย ขณะเดียวกันร่างกายของทารกจะสร้างเส้นขนขึ้นตามร่างกาย เพื่อช่วยยึดเกาะกับไข ช่วยควบคุมอุณหภูมิในร่างกายอีกส่วนหนึ่ง

หน้าที่ของไขหุ้มทารกแรกเกิด

  • ช่วยรักษาระดับอุณหภูมิ ลดการสูญเสียความอบอุ่นของร่างกาย ปกป้องผิวหนังของทารกที่ต้องแช่ตัวอยู่ในน้ำคร่ำ
  • หากทารกมีไขปกคลุมจะช่วยทำให้คลอดผ่านช่องคลอดได้ง่าย ไหลลื่นออกมาเร็วขึ้น ลดความเจ็บปวดจากการเบ่งของแม่ ไขยังช่วยปกป้องทารกน้อยจากเชื้อโรคหรือจุลินทรีย์ต่าง ๆ รอบตัวได้ด้วย
  • เมื่อลูกคลอดออกมา ไขจะช่วยให้ทารกปรับตัวกับอุณหภูมิภายนอกที่เย็นกว่าในร่างกายของแม่
  • ภายหลังจากที่คลอดออกมา ไขหุ้มทารกจะค่อย ๆ หลุดออกไปในช่วง 2-3 วันหลังคลอด หรือใช้น้ำมันมะกอกเช็ดทำความสะอาดบนผิวพรรณทารกอย่างเบามือก่อนอาบน้ำ แล้วค่อยล้างทำความสะอาดร่างกายทารก
ไขบนศีรษะลูก เกิดจากอะไร
ไขบนศีรษะลูก เกิดจากอะไร

Cradle cap ไขบนศีรษะลูก

ทารกน้อยอายุ 2-3 สัปดาห์ มักจะมีไขสีเหลือง ๆ เกิดขึ้นบนหนังศีรษะ ทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความกังวลว่า ไขบนหัวทารกจะทำให้ลูกเป็นโรคอะไรหรือไม่

สาเหตุของไขบนศีรษะลูก

ยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุได้อย่างแน่ชัด แต่ไม่ได้เป็นเพราะตัวลูกไม่สะอาด

  1. อาจเกิดจากฮอร์โมนของแม่ ซึ่งฮอร์โมนที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ทำให้ต่อมไขมันของทารกทำงานผิดปกติ เมื่อต่อมนี้ผลิตไขมันออกมามากก็จะอุดตันได้
  2. สภาพอากาศ ก็มีผลทำให้เกิดไขบนศีรษะลูกได้เช่นกัน
  3. เชื้อราต่าง หรือเชื้อราประจำถิ่นมีปริมาณมากกว่าปกติ

พื้นที่ที่เกิดมักจะเป็นบริเวณของผิวหนังที่มีต่อมไขมัน จึงอาจเกิดได้จากภาวะต่อมไขมันอักเสบ (Seborrheic Dermatitis) หรือ Cradle cap ที่ตั้งชื่อตามลักษณะของผื่น ส่วนใหญ่จะหายได้เองเมื่ออายุได้ราว ๆ 6 เดือนหรือเร็วกว่านั้น แต่ถ้าลูกมีอาการนานกว่า 6 เดือน ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียด

ผื่นที่เกิดขึ้นมักจะเกิดบนหนังศีรษะของทารกเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีเกิดขึ้นตามที่ต่าง ๆ เช่น

  • คิ้ว
  • ใบหู
  • หนังตา
  • จมูก
  • คอ
  • รักแร้
  • ขาหนีบ

ลักษณะของไขบนศีรษะลูก

  1. เกิดเป็นผื่นตามผิวหนังที่มีต่อมไขมัน หรืออาจเกิดเป็นตุ่มแดง ๆ คล้ายสิว แต่เล็กกว่า
  2. มีสะเก็ดบาง ๆ เป็นแผ่นสีขาว หรือเป็นสะเก็ดสีเหลือง/น้ำตาลเข้ม
  3. ผิวหนังบริเวณที่เกิดไขอาจเป็นสีแดง หรือเกิดบนผิวหนังสีปกติก็ได้
  4. บริเวณที่เป็นอาจมีขนหลุด หรือผมร่วงได้หากเกิดบนศีรษะ

วิธีดูแลไขบนศีรษะลูกอย่างไรให้หาย

พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด แนะนำให้ใช้เบบี้ออยล์หรือน้ำมันมะกอกทาบริเวณที่เกิดไข หรือผื่นที่ศีรษะทิ้งไว้ข้ามคืน ตอนเช้าให้สระผมด้วยแชมพูยาที่มีส่วนผสมของ Selenium sulfide, Ketoconazole ,Tar หรือ Zinc โดยนวดแชมพูหรือใช้แปรงสำหรับทารกแปรงเบา ๆ ราว 2 นาที สามารถใช้แชมพูยาสระได้ทุกวันหรือวันเว้นวัน วันที่ไม่ได้ใช้ให้ใช้แชมพูอ่อน ๆ และช่วงที่ไม่เป็นแล้ว ให้ลดการสระแชมพูยาลงเหลือเพียงสองครั้งต่อสัปดาห์ สำหรับผื่นแดง รักษาโดยยาสเตียรอยด์อ่อนๆ เช่น 0.02% TA cream หรือ ครีมต้านเชื้อรา เช่น nizoral cream ทาเช้า/เย็น จนไขค่อยๆ หาย

อย่างไรก็ตาม หากไขบนศีรษะของทารกเกิดจากภาวะต่อมไขมันอักเสบ หรือเป็นโรคต่อมไขมันอักเสบ และได้รับการดูแลรักษาจนกลับมาปกติดีแล้ว แต่ภายหลังจากที่อาการไขบนศีรษะทารกหายไป ก็เป็นไปได้ว่าอาจกลับมาเกิดผื่นหรือขึ้นเป็นสะเก็ดในลักษณะคล้าย ๆ กันนี้ได้อีกในช่วงวัยรุ่น หรือผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป เพราะภาวะต่อมไขมันอักเสบในบางรายไม่หายขาด จึงเป็น ๆ หาย ๆ โดยอาการดังกล่าวมักจะเกิดในช่วงที่มีอากาศหนาว โรคนี้ยังเป็นโรคเรื้อรังที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนร่างกาย พันธุกรรม การรับประทานอาหารไม่ถูกสัดส่วน และความเครียด จึงต้องสังเกตร่างกายอยู่เสมอ

แม้ว่าไขบนศีรษะลูกจะหายไปแล้ว แต่พ่อแม่ก็ยังต้องคอยสังเกตอาการของลูกอยู่เสมอ เพราะโรคนี้อาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีก

อ้างอิงข้อมูล : skinhospital และ facebook.com/SuthiRaXeuxPhirocnKic

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

ผักสวนครัว ผักเรียกน้ำนม ปลูกง่ายเมนูกระตุ้นน้ำนมสุดเจ๋ง!

ลูกเป็นผดร้อน หรือ ผื่นภูมิแพ้ แม่จะรู้ได้อย่างไร วิธีสังเกตความต่าง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up