พัฒนาการทารก เริ่มต้นตั้งแต่แรกเกิด ทั้งนี้การเติบโตของลูกน้อยในวัยก่อน 1 ขวบ ทำให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่มีความรู้สึก ทั้งชื่นชมยินดี และเวียนหัวสลับกันไป
พัฒนาการทารก แรกเกิด – 1 ขวบ หนูทำอะไรได้บ้างนะ?
การเลี้ยงลูกในวัยก่อน 1 ขวบ เป็นเรื่องที่ท้าทายคุณพ่อคุณแม่มือใหม่เป็นอย่างมาก ทั้งเรื่อง การป้อนนม การเปลี่ยนผ้าอ้อม การอาบน้ำ การกล่อมนอน และการร้องไห้ ทีมแม่ ABK จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ พัฒนาการทารก เพื่อเป็นแนวทางให้คุณพ่อคุณแม่ได้เตรียมพร้อมรับมือ และคลายความกังวลต่างๆลง
ตารางพัฒนาการทารก จากแรกเกิด – 1 ขวบ
เดือน |
พัฒนาการตามวัย |
การส่งเสริมพัฒนาการเด็ก |
1 เดือน | – มองหน้า สบตา | – เอียงหน้าไปมาช้าๆ ให้ลูกมองตาม |
– เอียงหน้าไปมา | – ยิ้มแย้ม มองสบตาเล่น และพูดกับลูก | |
2 เดือน | – ชันคอในท่าคว่ำ | – ให้ลูกนอนเล่นบนเบาะในท่าคว่ำ |
– ทำเสียงได้อ้อแอ้ | – พูดคุย ทำเสียงต่างๆ และร้องเพลงให้ฟัง | |
– ยิ้ม มองตามสิ่งเคลื่อนไหว | – แขวนของสีสดห่างราว 1 ศอกให้ลูกมองตาม | |
3 เดือน | – ส่งเสียงโต้ตอบ | – อุ้มท่านั่ง |
– ชันคอได้ตรงเมื่ออุ้มนั่ง | – พูดคุยทำเสียงโต้ตอบ | |
4 เดือน | – หัวเราะส่งเสียงดัง | – ให้ลูกนอนเล่นบนเบาะในท่าคว่ำ |
– เริ่มไขว่คว้าสิ่งของ | – ให้กำลังใจเมื่อลูกทำได้ | |
– ชูคอตั้งขึ้นในท่าคว่ำ | ||
5 เดือน | – คืบ พลิกคว่ำ พลิกหงาย | – จัดที่ปลอดภัยให้เด็กหัดพลิกคว่ำ |
– พูดถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่กับเด็ก เช่น อาบน้ำ กินข้าว | ||
– หาของเล่นสีสดชิ้นใหญ่ที่ปลอดภัยให้หยิบจับ และให้คืบไปหา | ||
6 เดือน | – ส่งเสียงโต้ตอบ | – หาของให้จับ |
– คว้าของมือเดียว | – เล่นโยกเยกกับเด็ก | |
– หันหาเสียงเรียกชื่อ และเสียงต่างๆ | – พูดคุยและเล่นเรียกชื่อลูก | |
7 เดือน | – คว้าของ | – อุ้มให้น้อยลง ให้เด็กได้คืบและนั่งเล่นเอง |
– นั่งทรงตัวได้เอง | – หาของเล่นที่สี พื้นผิว และขนาดต่างกัน เช่น ผิวเรียบ หยาบ อ่อน แข็ง ให้หยิบจับ | |
– เปลี่ยนสลับมือถือของได้ | ||
8 เดือน | – มองตามของตก | – กลิ้งของให้มองตาม |
– สังเกตสิ่งของใกล้ตัว | – พูดและทำท่าทางเล่นกับเด็ก เช่น จ๊ะเอ๋ จับปูดำ จ้ำจี้ ตบมือ | |
9 เดือน | – คลาน | – หัดให้คลาน |
-เล่นตบมือ จ๊ะเอ๋ | – ห้ามให้อาหารที่อาจทำให้ติดคอได้ เช่น เมล็ดถั่ว | |
– เข้าใจเสียงคำสั่ง | – หัดให้เด็กหยิบของกินชิ้นเล็กเข้าปาก เช่น ข้าวสุก มะละกอหั่น ฟักทองต้ม | |
– ใช้นิ้ว และหัวแม่มือจับของ | ||
10 เดือน | – เหนี่ยวตัวและเกาะยืน เกาะเดิน | – หัดให้เกาะยืน และเกาะเดินอย่างปลอดภัย |
– ส่งเสียงมีความหมาย เช่น หม่ำ จ๋า จ๊ะ | – เรียกชื่อ และชูของเล่นให้เด็กสนใจเพื่อลุกขึ้นจับ | |
11 เดือน | – เริ่มตั้งไข่ | – พูดคุยกับเด็กบ่อยๆ |
– เลียนเสียงพูด และท่าทาง | – ให้เด็กมีอิสระ แต่ต้องอยู่ในสายตาของพ่อแม่ | |
12 เดือน | – ก้าวเดิน 1-2 ก้าว | – ให้เรียนรู้การแปรงฟัน |
– เลียนเสียงพูด และท่าทาง | – สอนให้เรียกอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย | |
– พูดเป็นคำที่มีความหมาย เช่น พ่อ แม่ | – พูดคุยกับเด็ก เน้นสบตา มองหน้า มองปาก ให้เด็กพูดตาม |
ขอบคุณข้อมูล พญ.พริม สุธรรมรติ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก
ศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนทเวช
พัฒนาการทางสังคม
ทารกอายุ 1 – 3 เดือน
- มีการโต้ตอบ โดยทารกอาจยิ้ม เป่าน้ำลายเป็นฟอง หรือพูดเสียงอ้อแอ้ เมื่อพ่อแม่พูดคุยหรือเล่นด้วย
- มีการเลียนแบบสีหน้าของพ่อแม่ และโผเข้าไปหาพ่อแม่หรือผู้เลี้ยง เมื่อต้องการความปลอดภัย ความรัก และการปลอบโยน
ทารกอายุ 4 – 6 เดือน
- รู้สึกสนุกเมื่อได้เล่น และจะร้องไห้เมื่อหยุดเล่น
- เลียนแบบการเล่นทำเสียงได้
- มักโผเข้าหาแม่หรือพ่อ และจะร้องไห้ทุกครั้งเมื่อไม่เห็นพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงอยู่ใกล้ ๆ
- จดจำใบหน้าพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดได้ รวมทั้งรู้จักชื่อของตัวเอง
ทารกอายุ 7 – 9 เดือน
- เล่นเกมที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น เล่นจ๊ะเอ๋
- เด็กจะรู้สึกกังวลเมื่อต้องอยู่กับคนแปลกหน้า ไม่อยากอยู่กับคนอื่นนอกจากแม่ หรือจะหาทางหนีไปที่อื่น หากรู้สึกหงุดหงิดรำคาญเมื่อพ่อแม่ไม่อยู่ใกล้ ๆ
- มีปฏิกิริยาต่ออารมณ์ความรู้สึกที่พ่อแม่แสดงออกมา
ทารกอายุ 10 – 12 เดือน
- รู้จักแสดงความรู้สึกว่าชอบหรือไม่ชอบกินอะไร เช่น ทิ้งช้อนไม่กินข้าวต่อ หรือเลื่อนจานอาหารที่ไม่ชอบออกไป
- ชอบเล่นเลียนแบบผู้ใหญ่ เช่น เลียนแบบการคุยโทรศัพท์
- รู้ความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุและผลลัพธ์ เช่น เด็กจะรู้ได้ว่าหากร้องไห้ แม่จะมาหา
ความผิดปกติทางด้านพัฒนาการ
หากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยง สังเกตุเห็นความผิดปกติทางด้านพัฒนาการของลูก ตามช่วงอายุของทารกดังต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว
ทารกอายุ 1 – 3 เดือน
- ไม่ปรากฏพัฒนาการด้านการควบคุมหรือเคลื่อนไหวศีรษะ
- ไม่ตอบสนองต่อเสียงหรือภาพใด ๆ
- ไม่ยิ้มตอบผู้คนหรือเมื่อได้ยินเสียงของพ่อแม่
- ไม่มองตามสิ่งของที่เคลื่อนไหวไปมา
- ไม่สังเกตมือของตัวเอง
- ไม่หยิบฉวยหรือถือสิ่งของใด ๆ
ทารกอายุ 4 – 6 เดือน
- กล้ามเนื้อแข็งตึง
- ตัวอ่อนปวกเปียกอย่างเห็นได้ชัด
- เอื้อมมือไปแตะสิ่งของได้แค่ข้างเดียว
- ไม่ปรากฏสัญญาณของการเคลื่อนไหวหรือควบคุมศีรษะ
- ไม่ตอบสนองต่อแสงหรือภาพต่าง ๆ
- ไม่จับสิ่งของ หรือหยิบสิ่งของใส่ปากตัวเอง
- ไม่พยายามกลิ้งตัวหรือนั่ง
- ตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างเขเข้าหรือเขออก
- ไม่หัวเราะหรือร้องออกมา
ทารกอายุ 7 – 9 เดือน
- ไม่กลิ้งตัวหมุน หรือไม่ลุกขึ้นนั่ง
- ไม่เอื้อมไปหยิบสิ่งของ หรือไม่หยิบสิ่งของเข้าปาก
- ไม่ตอบสนองต่อเสียงหรือภาพใดๆ
- ไม่ส่งเสียงอ้อแอ้ หรือเลียนแบบเสียงใด ๆ
ทารกอายุ 10 – 12 เดือน
- ไม่คลานหรือใช้ลำตัวด้านใดด้านหนึ่งไถไปขณะคลาน
- ไม่ยืนแม้พ่อแม่จะช่วยก็ตาม
- ไม่แสดงท่าทางต่าง ๆ เช่น ไม่โบกมือหรือส่ายศีรษะ
- ไม่ส่งเสียงอ้อแอ้ หรือพยายามพูดคำว่า “มามา” หรือ “ปาปา”
- ไม่สนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว
- ไม่ประสานสายตาด้วย
การดูแลทารกอย่างปลอดภัย
พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงช่วยเสริมพัฒนาการของทารก และดูแลทารกได้อย่างปลอดภัย ดังต่อไปนี้
- ไม่เขย่าตัวทารก เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อสมองหรือเป็นอันตรายถึงชีวิต
- ควรให้เด็กนอนหลับในท่านอนหงาย เพื่อป้องกันภาวะเสียชีวิตเฉียบพลันในเด็กทารก (Sudden Infant Death Syndrome: SIDS)
- ไม่ควรให้เด็กได้รับอันตรายจากควันบุหรี่จากคนที่สูบบุหรี่
- ควรให้เด็กนั่งเบาะหลังโดยใช้ที่นั่งสำหรับเด็กทารกโดยเฉพาะ เมื่อต้องโดยสารรถยนต์
- ควรตัดอาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ และเลี่ยงให้เด็กกินผลไม้ที่มีเมล็ด หรือถั่วต่าง ๆ เพื่อป้องกันอาหารติดคอ รวมทั้งไม่ให้เด็กเล่นของเล่นที่มีชิ้นส่วนเล็ก ๆ เพื่อป้องกันเด็กเอาเข้าปาก และกลืนลงคอ
- ไม่ถือของร้อนเข้าใกล้เด็ก
- ควรพาเด็กไปรับวัคซีนป้องกันโรคให้ครบอย่างสม่ำเสมอ
หวังว่าบทความนี้ที่ ทีมแม่ ABK รวบรวมข้อมูลมาฝาก คงเป็นคู่มือช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของลูกในแต่ละช่วงเวลาได้บ้างไม่มากก็น้อยนะคะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.nonthavej.co.th, https://www.pobpad.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่