ลักษณะสำคัญของอาการร้องไห้มาก ได้แก่
- ร้องและหยุดร้องเองโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน ขณะที่ร้องมีหน้าตาเหยเกคล้ายเจ็บปวด ทั้งที่ไม่เจ็บปวดอะไร ร้องนานต่อเนื่อง 2-3 ชั่วโมง บางคนนาน 5-6 ชั่วโมง มักจะเริ่มร้องช่วงเย็นๆ ถึงหัวค่ำ
- ร้องไห้มากขึ้นเรื่อยๆ และมากที่สุดประมาณเดือนที่ 2 หลังจากนั้นจะร้องน้อยลง
- คุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถทำให้หยุดร้องได้ทันที แต่สามารถทำให้ร้องน้อยลงได้ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรพยายามค่อยๆ ปลอบลูกค่ะ
♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦
อันตรายของเด็กที่ร้องไห้มากใน 3 เดือนคือผู้ปกครองหรือผู้ดูแลหมดความอดทนหรือเหน็ดเหนื่อยจากการที่ลูกร้องไห้มาก แล้วเผลอจับเด็กเขย่า เพื่อให้หยุดร้อง การเขย่าอาจก่อให้เกิดอันตรายที่รุนแรงได้ เพราะศีรษะเด็กจะเคลื่อนไปมาหน้าและหลัง ศีรษะเด็กมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับลำตัว อาจทำให้หลอดเลือดในสมองฉีกขาด ลูกอาจพิการหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ควรทำเมื่อลุกเริ่มร้องไห้คือ
- อุ้ม ปลอบ พูด หรือเดินค่ะ ส่วนใหญ่จะทำให้การร้องไห้ลดลง
- ในกรณีที่ลูกร้องไห้นานมาก เมื่อพ่อแม่หรือผู้ดูแลเกิดความเครียด ให้วางลูกไว้ในที่ๆ สงบและปลอดภัย เช่นในเตียงของลูก และหลบออกไปผ่อนคลายสักพัก เมื่อรู้สึกดีขึ้นค่อยกลับมาดูลูกค่ะ ที่สำคัญอย่าจับลูกเขย่าหรือทำร้ายลูกเป็นอันขาด
⇒ Must read : อันตราย !! จากการ อุ้ม เขย่าทารก “Shaken baby syndrome”
บางครั้งอาจต้องให้แพทย์ประจำตัวตรวจร่างกายลูกรัก เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้มีสาเหตุอื่นที่ทำให้ลูกร้องไห้มาก อย่าลืมว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องอธิบายให้ทุกคนที่ดูแลลูกเข้าใจและไม่ปล่อยลูกไว้กับเพื่อนหรือญาติในช่วงเวลาที่ลูกมักจะร้องไห้มากค่ะ
ปรับตนเองอย่างไรไม่ให้หัวเสียเมื่อลูกร้องไห้ ?
เด็กที่ร้องไห้งอแงอาจทำให้พ่อแม่หลายคนฟิวส์ขาดเอาได้ง่าย ๆ เพราะไม่รู้ต้องทำอย่างไรให้เด็กหยุดร้อง พ่อแม่จำเป็นต้องรู้จักควบคุมตนเองเช่นกัน เพื่อให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น หากเริ่มรู้สึกหงุดหงิด คุณแม่อาจขอความช่วยเหลือให้คุณพ่อหรือญาติพี่น้องช่วยดูแลแทนให้ชั่วครู่ เพื่อจะได้พักก่อนกลับมารับมือกับปัญหาได้ดียิ่งขึ้น พยายามใจเย็นและเข้าใจถึงสถานการณ์ว่าการร้องไห้เป็นเพียงช่วงเวลาหนึ่งของเด็ก เมื่อเด็กโตขึ้นจะเริ่มร้องไห้น้อยลง นอกจากนี้การดูแลตนเองให้อยู่ในสภาพพร้อมก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เช่น ไม่ปล่อยให้ตนเองหิวหรือนอนหลับไม่เพียงพอจนอาจโมโหลูกได้ง่าย
⇒ Must read : วิจัยเผย! แม่เลี้ยงลูกลำพังเสี่ยงเป็น โรคซึมเศร้าหลังคลอด!
ในปัจจุบันมีศูนย์ให้คำปรึกษาด้านการเลี้ยงลูกมากมายที่คอยให้คำแนะนำเมื่อเกิดปัญหากับลูกน้อย โดยเฉพาะโรงพยาบาลทั้งของรัฐบาลและเอกชน รวมไปถึงสายด่วนขององค์กร โรงพยาบาล หรือมูลนิธิ เช่น สายด่วนกรมสุขภาพจิต โทร. 1323 หรือสายด่วนโรงพยาบาลเด็ก โทร. 1415
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- ทารกร้องไห้มีน้ำตาตอนกี่เดือน
- พ่อแม่มือใหม่รับมือกับทารกร้องไห้มาก 3 เดือนแรก
- 8 เทคนิครับมือเมื่อลูกทารกร้องไห้อย่าง “ไม่มีเหตุผล”
เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการ Amarin Baby & Kids
ข้อมูลจาก: ภาควิชากุมารเวชศาสตร์และงานพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล