วิจัยชี้!! ลูก นอนกลางวัน ช่วยให้ความจำดี เรียนรู้เร็ว! - Amarin Baby & Kids
นอนกลางวัน

วิจัยชี้!! ลูก นอนกลางวัน ช่วยให้ความจำดี เรียนรู้เร็ว!

Alternative Textaccount_circle
event
นอนกลางวัน
นอนกลางวัน

การ นอนกลางวัน เป็นสิ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาสมองของเด็กทารกจนถึงเด็กเล็ก อยากรู้ว่าทารกและเด็กเล็ก ควรนอนกลางวันนานแค่ไหน? ฝึกให้ลูกนอนกลางวันอย่างไร? อ่านได้ที่นี่

วิจัยชี้!! ลูก นอนกลางวัน ช่วยให้ความจำดี เรียนรู้เร็ว!

“ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า การนอนหลับ ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มพลังให้แก่ร่างกายและช่วยพัฒนาสมองของทารกเท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนาความทรงจำและแยกแยะรายละเอียดของประสบการณ์ที่พบเจอระหว่างวันได้อีกด้วย”

เป็นที่ทราบกันดีว่า แม้ในขณะที่เรานอนหลับสมองของเราไม่ได้หลับตามไปด้วย สมองของเรายังคงประมวลผลสิ่งต่าง ๆ ที่เราเพิ่งพบ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการนอนในเด็กปฐมวัย มีส่วนในการพัฒนาความจำ ซึ่งก่อให้เกิดการรับรู้และการเรียนรู้ในระหว่างที่ลูกกำลังนอนหลับได้อีกด้วย มีการศึกษาพิสูจน์ว่า ในความเป็นจริงเด็กทารกยังสร้างความทรงจำได้เป็นฉาก ๆ ระหว่างงีบหลับ ทำให้พวกเขาสามารถเก็บความทรงจำโดยละเอียดเกี่ยวกับประสบการณ์ของเขาได้เมื่อตื่นขึ้นมา

มีการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Nature Communications ดำเนินการโดยนักวิทยาศาสตร์จาก Max Planck Institute for Human Cognitive and Brain Sciences (MPI CBS) Leipzig and Humboldt University (HU) Berlin นักวิจัยได้ดูความสัมพันธ์ระหว่างการงีบหลับและความทรงจำที่เกิดขึ้นระหว่างที่ทากรกนอนหลับ โดยใช้เครื่องมือชนิดหนึ่งเรียกว่า Electroencephalograms (EEG) เพื่อบันทึกการทำงานของสมองของทารก

โดยการวิจัยได้แบ่งระยะการเรียนรู้ออกเป็น 2 ระยะ โดยให้กลุ่มทารกอายุ 14-17 เดือน ได้เห็นภาพของสิ่งของต่าง ๆ พร้อมทั้งสอนว่าสิ่งของเหล่านั้นเรียกว่าอะไรบ้าง (เช่น รถยนต์ ลูกบอล สุนัข เป็นต้น) หลังจากนั้นก็แบ่งทารกออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้ นอนกลางวัน 1-2 ชั่วโมง กลุ่มที่ 2 ไม่ได้นอนกลางวัน หลังจากทารกกลุ่มแรกตื่นแล้ว นักวิจัยได้ให้ทารกทั้ง 2 กลุ่ม ดูภาพของสิ่งของภาพเดิมรวมถึงภาพใหม่ ๆ ไปด้วย พร้อมทั้งสอนว่าสิ่งของเหล่านั้นเรียกว่าอะไร แต่จะมีบางภาพที่ทารกเคยดูไปแล้วในครั้งแรก ที่นักวิจัยเรียกชื่อผิด เช่น ภาพลูกบอลที่เคยสอนไปครั้งแรกว่าเรียกว่าลูกบอล นักวิจัยกลับบอกว่ามันเป็นรถในการสอนครั้งที่ 2 หลังจากนั้น ก็ได้ให้ทารกได้เรียกชื่อตามภาพที่ได้สอนไปทีละคน นักวิจัยพบว่าทารกที่ได้ นอนกลางวัน 1-2 ชั่วโมงนั้น ยังเรียกภาพ “ลูกบอล” ว่า “ลูกบอล” ในขณะที่ทารกกลุ่มที่ไม่ได้นอนกลางวันกลับเรียก “ลูกบอล” ว่า “รถ”

ข้อสรุปจากการศึกษาพบว่าหลังจากการนอนหลับ ทำให้ทารกสามารถจำเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ที่พวกเขาเคยสัมผัสได้ จึงทำให้สามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดพวกเขาจึงจำได้ว่าภาพนั้นคือลูกบอล ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าการ นอนกลางวัน ไม่เพียงแต่ช่วยให้สมองของทารกสามารถสรุปประสบการณ์ที่พบมาได้เท่านั้น แต่ยังรักษาความทรงจำที่เกิดขึ้นได้โดยละเอียดและแยกความแตกต่างพร้อมทั้งเรียนรู้ประสบการณ์นั้น ๆ ไปในตัว

ลูกนอนกลางวัน
ลูกนอนกลางวัน

ทารกควรนอนกลางวันนานแค่ไหน และนอนกี่ครั้ง?

สำหรับทารกแรกเกิด จะยังไม่มีจำนวนครั้งและเวลาในการนอนกลางวันที่แน่นอน เพราะสิ่งเหล่านี้ จะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ที่ทารกได้พบเจอ แต่ในเดือนแรกทารกวัยแรกเกิดควรนอนวันละ 16 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย และ นอนกลางวัน 4 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย

สำหรับเด็กวัย 4 เดือน – 1 ขวบ เด็กวัยนี้จะนอนกลางวันอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน ซึ่งจะนอนในช่วงเช้า 1 ครั้ง และ ช่วงบ่าย 1 ครั้ง โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการนอนกลางวันของเด็กวัยนี้คือ ช่วง 9 โมงเช้า และช่วง บ่ายโมง คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ลูกนอนนานเท่าที่ต้องการได้ แต่หากมันทำให้ลูกนอนช่วงกลางคืนยากขึ้น ก็อาจจะปลุกลูกให้ตื่นจากนอนกลางวันเร็วขึ้นนิดหน่อย และเมื่อลูกอายุ 9 เดือนแล้ว ลูกไม่ควรนอนกลางวันเกิน 2 ครั้งต่อวัน เพราะมันจะทำให้ลูกนอนดึกในช่วงกลางคืน

เด็กวัย 1 ขวบขึ้นไป จะเริ่มไม่นอนกลางวันในช่วงเช้าแล้ว และจะนอนกลางวันเพียงแค่ 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย และจะนอนกลางวันเพียง 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น ในช่วงวัยนี้ แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่เขยิบเวลาการนอนกลางวันให้เร็วขึ้น 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้ลูกได้นอนกลางคืนเร็วขึ้น 1-2 ชั่วโมงเช่นกัน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ ตารางการนอนของทารก นอน/ตื่นกี่ครั้ง นอนนานแค่ไหน?

ฝึกลูกนอนกลางวัน
ฝึกลูกนอนกลางวัน

เคล็ด(ไม่)ลับ สอนลูกให้นอนกลางวัน

เด็กแต่ละคนมีระยะเวลาการนอนที่ไม่เท่ากัน จำนวนครั้งในการนอนกลางวันก็ไม่เท่ากัน หากลูกไม่นอนกลางวันเลย แต่สามารถนอนตอนกลางคืนได้อย่างเพียงพอในแต่ละวัน การไม่นอนกลางวัน ก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่หากต้องการฝึกลูกให้นอนกลางวันง่าย ๆ นอนเป็นเวลา เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้จัดตารางเวลาของตัวเองไปทำสิ่งอื่น ๆ บ้าง ทีมแม่ ABK ก็มี เคล็ด(ไม่)ลับ ดี ๆ มาฝากกันค่ะ

  1. สภาพแวดล้อมนั้นสำคัญ ผู้ใหญ่ยังชอบนอนในที่ ๆ หลับสบายเลยค่ะ เด็กก็เช่นกัน คุณพ่อคุณแม่ควรจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการนอนกลางวัน จัดสถานที่นอนที่มีอากาศถ่ายเท มีแสงไฟสลัว มีอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการนอน แต่สิ่งสำคัญคือไม่ควรจัดบรรยากาศการนอนให้เหมือนกับตอนกลางคืนมากจนเกินไป เพื่อให้เด็กรู้ว่านี่คือการนอนกลางวัน ไม่ใช่การนอนกลางคืน
  2. อย่าปล่อยให้ลูกง่วงนอนจนเกินไป พยายามจับสัญญาณว่าลูกเริ่มมีอาการง่วงนอนแล้ว ให้พาลูกไปกล่อมนอนบนเตียง โดยอาจร้องเพลงกล่อมเบา ๆ เพื่อให้ลูกรู้ว่าถึงเวลานอนกลางวันแล้ว
  3. ให้ลูกนอนในที่ ๆ ปลอดภัยและนอนสบาย การนอนกลางวัน แม้ว่าการนอนกลางวันจะเป็นการนอนเพียงระยะเวลาสั้น ๆ แต่ที่ ๆ จะให้ลูกนอนก็ควรมีความปลอดภัยและสะดวกสบาย เพื่อให้การนอนครั้งนั้น เป็นการนอนกลางวันที่มีคุณภาพ
  4. ทำให้เป็นกิจวัตร หากคุณพ่อคุณแม่ให้ลูกนอนกลางวันเป็นเวลา เช่นลูกมักจะเริ่มง่วงนอนตอนบ่ายโมง ก็ควรจะเริ่มกล่อมลูกนอนในช่วงเวลานี้ทุกวัน เพื่อให้ร่างกายของลูกรับรู้ว่าเวลานี้คือเวลานอนกลางวัน แม้ว่าบางวันลูกจะยังต้องการเล่นอยู่เมื่อถึงเวลานอนแล้ว ก็ไม่ควรเว้น ไม่กล่อมลูกในช่วงเวลานั้น

เราทุกคนทราบกันอยู่แล้วว่าการนอนกลางวันนั้นมีประโยชน์ เพราะแม้แต่ผู้ใหญ่เอง ยังต้องการการนอนกลางวันเพื่อให้สมองและร่างกายได้พักผ่อน แต่สำหรับทารกและเด็กเล็ก การนอนกลางวันกลับมีประโยชน์มากกว่าผู้ใหญ่ ตามที่วิจัยได้กล่าวไว้ข้างต้น ดังนั้น มาฝึกลูกให้นอนกลางวันเถอะ!!

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

คัมภีร์นอนหลับ สร้างอัจฉริยะให้ลูกน้อย

พฤติกรรม การนอนของเด็ก ที่ส่งสัญญาณอันตราย!!

REM Sleep ช่วง “การนอนของทารก” ที่ทำให้ลูกโตช้า

5 เคล็ดลับสร้างนิสัย “การนอนของทารก” ให้มีประสิทธิภาพ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : thebump.com, mayoclinic.org

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up