เรื่องนี้เกิดจากความช่างสังเกตและขี้สงสัยของบรรดานักวิจัย ซึ่งน่าคิดทีเดียว
การคลอดสมัยใหม่มักจะทำให้ทารกแรกเกิดถูกแยกจากแม่ทันที เพราะแม่ต้องอยู่ในห้องคลอดต่อเพื่อให้คุณหมอจัดการเย็บแผลให้ ส่วนลูกน้อยคุณพยาบาลก็ต้องนำไปทำความสะอาด ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ประทับรอยเท้าและนำทารกไปดูแลในห้องเด็กอ่อนจนกว่าแม่จะฟื้นตัว แถมในวัฒนธรรมตะวันตก แม่กับทารกยังมักจะนอนแยกห้องกันอีกต่างหาก และถ้ามีปัญหาด้านสุขภาพหรือคลอดก่อนกำหนด ทารกก็ต้องเข้าตู้อบทันที
นอกจากนี้สมาคมกุมารแพทย์อเมริกันก็ไม่แนะนำให้แม่กับทารกนอนเตียงเดียวกันเพื่อเลี่ยงอันตรายจากภาวะหยุดหายใจกะทันหันในทารก (SIDS)
ข้อสังเกตทั้งหมดทั้งมวลนั้น ทำให้นักวิจัยอยากรู้ว่าการถูกแยกจากแม่มีผลต่อทารกแรกเกิดอย่างไรบ้างหรือไม่ จึงทำการวัดความอัตราการเต้นของหัวใจในทารกวัย 2 วันที่หลับอยู่ โดยเข้าไปวัดใน 2 ช่วงเวลา คือช่วงที่ทารกนอนแนบอกแม่ (แบบเนื้อแนบเนื้อ) และในช่วงที่ทารกแยกนอนในเตียงคอกข้างๆ เตียงแม่อย่างละ 1 ชั่วโมง
นักวิจัยได้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจว่า ในช่วงที่นอนแยกกับแม่ ระบบประสาทอัตโนมัติของทารกแรกเกิดต้องทำงานหนักกว่าในช่วงที่นอนใกล้แม่แบบเนื้อแนบเนื้อถึง 176 เปอร์เซ็นต์ และระยะเวลาที่ทารกแรกเกิดนอนหลับอย่างสงบ (การนอนหลับในระยะ NREM) ก็สั้นกว่าถึง 86 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนักวิจัยก็สรุปว่า การถูกแยกจากแม่ทำให้ทารกเครียดจนมีผลเชิงสรีรวิทยาไม่น้อยเลย และการให้สัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อระหว่างแม่กับทารกก็ช่วยลดผลดังกล่าวได้
แม้จะยังต้องทำการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อหาคำตอบว่านี่คือปฏิกิริยาตอบสนองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีผลระยะยาวต่อพัฒนาการของระบบประสาทหรือไม่ก็ตาม แต่ตอนนี้สิ่งที่เรามั่นใจและทำได้เลยคือ ทันทีที่คุณได้เจอลูกน้อยหลังคลอด รีบอุ้ม โอบกอดและสัมผัสทารกแบบเนื้อแนบเนื้อให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้กันเถอะ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง